วันที่ 22 ก.ย. 2565 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวกรณีการประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งมีแนวโน้มสูงว่าผู้ชนะคือบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เนื่องจากคู่แข่งคือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ BTS ถูกกีดกันไม่ให้เข้าประมูล ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายของรัฐบาลกว่า 68,000 ล้านบาท
สุรเชษฐ์ ระบุว่า ย้อนกลับไปในการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มเมื่อปี 2563 รฟม. ภายใต้การกำกับดูแลของ ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หลังออกประกาศเชิญชวนได้มีเอกชนยื่นซองตาม ซึ่งมีบริษัทเอกชนที่ดำเนินกิจการเดินรถไฟฟ้า 2 เจ้าใหญ่ในประเทศไทย คือ BTS และ BEM เข้าร่วมประมูล
แต่ที่ไม่ปกติก็คือ รฟม. มีการเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนระหว่างการพิจารณากลางอากาศ อย่างมีนัยสำคัญต่อการพลิกผลแพ้ชนะ และนำไปสู่การฟ้องร้องโดย BTS ต่อ รฟม. หลายคดี คดียังคงคาราคาซังอยู่ในศาล แต่ รฟม. กลับเร่งรีบวิธีเปิดประมูลใหม่รอบ 2 โดยที่คดีเดิมข้อสรุปยังไม่มีความชัดเจน
“การประมูลรอบที่ 2 นี้มีข้อน่ากังขาหลายประการ มีการล็อกเสป็คด้วยการนำเอาผู้รับเหมาก่อสร้าง มาเป็นคู่เทียบการเดินรถโดยเสนอราคาที่สูงเกินราคากลาง จนกล่าวได้ว่ามีการกีดกันการแข่งขันไม่ให้ BTS เข้าร่วม จนไม่เกิดการแข่งขันกันจริง ๆ นอกจากนี้ ยังมีความเร่งรีบผิดปกติในขั้นตอนการพิจารณาซองที่ 2 :ข้อเสนอด้านเทคนิค 11 กล่อง ซึ่งปกติต้องใช้เวลาหลายเดือน แต่ รฟม. กลับพิจารณาเสร็จภายใน 10 วันเท่านั้น” สุรเชษฐ์กล่าว
สุรเชษฐ์กล่าวต่อว่าจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา หากไม่มีการเปลี่ยนเกณฑ์ระหว่างการประมูลในปี 2563 ในรอบแรก BTS จะเป็นผู้ชนะโดยรัฐอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาทเท่านั้น แต่ด้วยเงื่อนไขการประมูลในปัจจุบัน กลายเป็นว่ารัฐจะต้องอุดหนุนเงินให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มแก่ BEM คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสูงถึง 78,288 ล้านบาท นำไปสู่คำถามสำคัญ ว่าส่วนต่าง 68,613 ล้านบาทหายไปไหน และเหตุใดประชาชนต้องมาแบกความรับผิดชอบนี้
สุรเชษฐ์ยังระบุด้วย ว่าตัวเองในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จึงจะเชิญทั้ง BTS และ รฟม. มาชี้แจงในที่ประชุมอนุกรรมาธิการ ในวันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม เวลา 14:00 โดยจะขออนุญาตที่ประชุมทำการ Live สดการชี้แจงในครั้งนี้ด้วย และขอเชิญประชาชนทุกคนร่วมติดตามประเด็นนี้ไปด้วยกัน
“เราอยากให้การประมูลเป็นไปโดยไม่ล้าช้า แต่เราก็อยากตรวจสอบให้มั่นใจด้วยว่าราคาชนะประมูลที่ BEM จะได้ไปเหมาะสมหรือไม่ ขอให้ประชาชนทุกคนร่วมกันติดตาม อย่าปล่อยให้ รฟม. เร่งดำเนินการอย่างน่าเกลียด ดันผ่าน ครม. ก่อนที่ความจริงจะกระจ่าง อย่าให้เงินกว่า 6 หมื่นล้านบาทจากภาษีประชาชนลอยไปเข้ากระเป๋านายทุน ซึ่งผมไม่อาจทราบได้ว่าจะมีเงินทอนกลับเข้ามาให้ข้าราชการ รัฐมนตรีบางคน หรือพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่” สุรเชษฐ์กล่าว
‘วรภพ’ โต้ กพพ. ชี้ค่าไฟฟ้ายังถูกในราคา 4 บาทต่อหน่วยได้
วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อค่าไฟที่แพงขึ้น พร้อมตอบโต้คำแถลงของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ออกมาระบุว่าคนไทยจะไม่ได้เห็นค่าไฟฟ้า 4 บาทต่อหน่วยอีกแล้ว
โดยวรภพระบุว่าในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาการขึ้นค่า Ft 92 สตางค์ ทำให้คนไทยต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มโดยเฉลี่ยถึง 5 บาทต่อหน่วย กลายเป็นค่าไฟที่แพงที่สุดในประวัติศาสตร์ และแม้ที่ผ่านมาจะมีการอนุมัติงบกลาง 9 พันล้านบาทออกมาช่วยเหลือประชาชน แต่ก็เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว 4 เดือนเท่านั้น ซึ่งในอนาคตประชาชนจะต้องมาเป็นผู้แบกรับภาระดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน
แม้จะมีการมองปัจจัยหลักของปัญหาไปอยู่ที่วิกฤติพลังงานจากสงครามยูเคนน-รัสเซีย แต่ตัวเองขอยืนยันอีกครั้งว่าต้นตอจริงๆ เกิดจากนโยบายของรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานอยู่เหนือประโยชน์ของประชาชน
ประการแรก มาจากการที่ทุกหน่วยไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย เป็นการจ่ายเข้าโดยตรงให้กลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชนที่ไม่ได้เดินเครื่อง ถึง 24 สตางค์ต่อหน่วย เหตุจากการที่รัฐไปทำสัญญาประกันกำไรค่าความพร้อมจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนมากเกินความต้องการใช้ไปถึง 54% และกลายมาเป็นต้นทุนที่รัฐนำมาคิดกับประชาชนอีกทีหนึ่ง และนอกจากนี้ ประชาชนยังต้องจ่ายค่าผ่านท่อก๊าซ ที่ไม่มีก๊าซผ่านเพราะโรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่อง ให้กับกลุ่มทุน ปตท. อีกต่อหนึ่ง โดยรัฐบาลไม่มีความพยายามใดเลยในการเจรจาขอปรับลดแต่อย่างใด
นอกจากนี้ แม้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะมีมากเกินความต้องการไปแล้วถึง 17,000 MW แต่ที่ผ่านมากลับมีการรีบอนุมัติทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า PPA กับ 5 เขื่อนในประเทศลาวเพิ่มอีก 3,900 MW โดยที่ไม่รอแผน PDP ฉบับใหม่ ทึ่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ซึ่งการดำเนินการอย่างเร่งรีบนี้จะย้อนกลับมาเป็นภาระให้กับประชาชนในอยาคตต่อเนื่องอย่างแน่นอน
ประการต่อมา จริงอยู่ที่ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าแพง ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนก๊าซนำเข้า 10 บาทต่อหน่วย แต่หากพิจารณาถึงปริมาณความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า จะเห็นว่าอยู่ที่ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่กำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยนั้นมีมากถึง 2,756 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าให้กับทั้งประเทศ เพียงแต่นโยบายของรัฐบาล ได้อนุญาตให้กลุ่มทุนพลังงานนำก๊าซจากอ่าวไทยที่ไปขายเป็นเชื้อเพลิงให้กับอุตสาหกรรมได้ก่อนถึง 811 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และนำไปขายเป็นวัตถุดิบปิโตรเคมีในเครือ ปตท. อีก 804 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมกัน 1,615 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือ 59% ของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถูกนำไปมอบให้เข้ากลุ่มทุนพลังงานโดยตรง ก่อนนำมาผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนใช้
ประการสุดท้าย มาจากนโยบายที่ให้ครัวเรือนจ่ายค่าไฟฟ้าแพงกว่ากิจการขนาดใหญ่ โดยเก็บค่าไฟฟ้าจากครัวเรือนเป็นอัตราก้าวหน้า หรือยิ่งใช้มากยิ่งจ่ายแพง ขณะที่เก็บจากกิจการขนาดใหญ่เป็นอัตราคงที่ ซึ่งครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าแพงสุดต้องจ่ายที่ 4.10 บาทต่อหน่วย ขณะที่กิจการขนาดใหญ่กลับจ่ายค่าไฟฟ้าแพงสุดเพียง 3.74 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
“ค่าไฟหน่วยละ 4 บาทไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้วอย่างที่ กกพ. ออกมาแถลง นี่เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สงครามยูเครน-รัสเซียเป็นแค่ปัจจัยรอง แต่ปัจจัยหลักคือนโยบายของรัฐที่เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนพลังงานต่างหาก ผมยืนยันอีกครั้งว่าค่าไฟที่ถูกลงที่หน่วยละ 4 บาทเป็นไปได้ หากเพียงรัฐมีการเปลี่ยนนโยบาย นำเอาผลประโยชน์ของประชาชนมาเป็นหลักก่อนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานเท่านั้น” วรภพกล่าว