ไม่พบผลการค้นหา
การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 ส่งผลให้พรรคการเมืองน้องใหม่อย่าง 'พรรคอนาคตใหม่' สามารถเดบิวต์ ส.ส. สมัยแรกเข้าสู่สภาฯ กวาด ส.ส. ไปได้ถึง 81 ที่นั่ง กับภาพจำของผู้แทนคนรุ่นใหม่ พ่วงลีลาอภิปรายในสภาฯ ที่ชวนจับตา แน่นอนว่าต้องมีชื่อของ 'ศิริกัญญา ตันสกุล' แม่ทัพเศรษฐกิจของ ‘พรรคก้าวไกล’ ลุกขึ้นชำแหละงบประมาณที่ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ

‘วอยซ์‘ มุ่งหน้าสู่รัฐสภา แยกเกียกกาย เพื่อสนทนากับ ศิริกัญญา ตันสกุล หรือ ไหม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันพรรคก้าวไกล ผ่าน #VoicePolitics ถึงความเป็นนักวิชาการด้านข้อมูล และบทบาทขาประจำในการชำแหละงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรและตั้งวงเงินไม่ตอบโจทย์ต่อการพัฒนาประเทศ


ศิริกัญญา VoicePolitics AC-C96C68F39FF6.jpeg

จากนักวิชาการสู่ขุนพลเศรษฐกิจ ‘พรรคก้าวไกล’

หลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์​ และระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยตูลูส ประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้าที่จะมาเป็นนักการเมือง ‘ศิริกัญญา’ เล่าให้ฟังว่า ช่วงชีวิตที่ยาวที่สุดของเธอ คือ การทำงานด้านวิชาการ ซึ่งเธอมีประสบการณ์กว่า 10 ปี ในฐานะนักวิจัยด้านนโยบาย อาทิ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยและนักวิจัยอาวุโส มูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) และนักวิจัยที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นต้น

และเมื่อลาออกมาได้สักพัก ก็ผันตัวไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินและกลยุทธ์แห่งหนึ่งได้ประมาณ 1 ปี ก่อนที่จะได้รับสายโทรศัพท์จาก ชัยธวัช ตุลาธน รองเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ในขณะนั้น ให้เข้ามาสัมภาษณ์เพื่อที่จะทาบทามให้มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของพรรค เมื่อปี 2561 

เธอบอกว่า ในช่วงการก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ มักจะมีการจัดวงเสวนา ระดมความคิดเห็นเรื่องนโยบายต่างๆอยู่เป็นระยะ โดยตัวเธอเองก็ได้เข้าร่วมไปประมาณ 2 ครั้งช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. พ.ศ. 2561 เพราะรู้สึกว่าน่าสนใจดี มองว่าเป็น "พรรคพลังวัยรุ่น" มีแต่คนรุ่นใหม่ที่อยากจะเข้าไปแลกเปลี่ยนพูดคุย แล้วก็นำเสนอในสิ่งที่คิดว่ามันจะทำให้ประเทศดีขึ้น จนกระทั่งประมาณเดือนมิ.ย. - ก.ค. ที่เธอได้รับสายโทรศัพท์ที่ว่า เพราะพรรคกำลังเฟ้นหาคนที่จะมาช่วย ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคในตอนนั้น ทำนโยบาย

Voice Politics ศิริกัญญา

ในตอนแรก แม้ยังไม่ค่อยมั่นใจว่าจะทำงานกับพรรคการเมืองได้หรือไม่ เคมีจะตรงกับหัวหน้าพรรคและทีมงานหรือไม่ เธอจึงขอเข้ามาทดลองงานก่อนโดยที่ยังไม่ต้องรับเงินเดือน และยังไม่ต้องมีสัญญาจ้าง ทว่าหลังจากผ่านพ้นไป 2 สัปดาห์ ก็ได้ตกปากรับคำว่าจะเข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายในที่สุด

สาเหตุที่ทำให้เธอไม่ต้องคิดเยอะ ก็เพราะว่าได้กลับมาทำงานวิชาการแบบที่ชอบ ผ่านการนำเสนอนโยบายสาธารณะอย่างที่เคยทำมาก่อน แต่เธอยังคงมีสิ่งหนึ่งที่ติดค้างอยู่ในใจ ทำให้เธอใช้เวลาตัดสินใจนานพอสมควร

การที่เราเลือกสายการเมือง เท่ากับว่าเราอาจกลับไปเป็นสายวิชาการไม่ได้อีกแล้ว ความน่าเชื่อถือของเรามันอาจจะน้อยลงหรือหมดไป เมื่อเราเคยไปพูดในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ความน่าเชื่อถือในการนำเสนอนโยบายของเราในฐานะนักวิชาการ มันจะถูกบั่นทอนลิดรอนลงไป

หลังได้รับโอกาสในการทำงานจากพรรค เธอคิดว่าตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายน่าจะเป็นการทำงานจากหลังบ้าน เพราะที่ผ่านมา เธอก็ไม่เคยจะเห็นใบหน้าของเหล่าผู้คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนคิดนโยบายให้กับหลายพรรคการเมือง

ต่อข้อกังวลเมื่อได้ทำการเมืองแล้วจะกลับไปวงการวิชาการไม่ได้ เธอมักจะได้รับคำตอบว่า เดี๋ยวก็กลับได้ เพราะไม่มีใครเห็นหน้า แต่ในความเป็นจริงนั้น หลังจากเธอเริ่มต้นทำงานกับพรรคอนาคตใหม่อย่างเต็มตัวในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน เธอก็ต้องขึ้นกล่าวถ้อยแถลง "กว่าจะมาเป็นนโยบายพรรคอนาคตใหม่" บนเวทีเปิดวิสัยทัศน์ของพรรคอนาคตใหม่ เป็นครั้งแรก เมื่อเดือน ต.ค. พ.ศ. 2561

เมื่อเธอได้รับเลือกให้เป็น ส.ส. เข้าสภาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2562 และได้เป็นผู้ช่วยให้กับ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น ในการคุมสภาฯ คอยดูเรื่องการอภิปรายอะไรต่างๆ จึงมีความจำเป็นจะต้องออกหน้าบ่อยขึ้น กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปีไป เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2563 รวมถึงมีการเปิดตัวพรรคก้าวไกล ซึ่งยืนยันในปณิธานและอุดมการณ์เดียวกัน ในเดือนต่อมา

Voice Politics ศิริกัญญา

จากเดิมที่เธอเคยทำงานจากเบื้องหลัง กลับกลายเป็นว่าเธอต้องรับหน้าที่ในแถวหน้ามากขึ้นมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ที่เธอดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประเด็นต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจ


เป็น กมธ.วิสามัญงบฯ 4 ปี รวด

เธอบอกว่า การได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎร 4 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 - 2566 นอกจากข้อดีที่ว่า ทำให้มีความรู้ลึกซึ้งจากการติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกัน เพราะเห็นว่างบประมาณมีปัญหาใดบ้างตั้งแต่ปีแรก แต่กลับต้องพูดถึงปัญหาเดิมๆ ตลอด 4 ปี ทำให้เธอรู้สึกท้อถอย

เฮ้ย…เรื่องเดิม โครงการเดิม ปัญหาเดิม ต้องพูดถึง 4 ครั้ง โดยที่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง บางทีมันก็หดหู่เหมือนกัน

เธอบอกว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาของงบประมาณไทย เป็นปัญหาที่ลึกมากกว่ารายละเอียดที่ไปไม่ถูกที่หรือว่าอะไรก็ตาม แต่เป็นงบประมาณที่มีข้อจำกัดอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว โดยหากจะยืมคำพูดของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็คือว่า “เป็นงบประมาณที่ตอบสนองอดีต” 

เธอไล่เรียงให้ฟังว่า งบฯ ก้อนใหญ่ที่สุด ถูกจ่ายไปกับข้าราชการและข้าราชการบำนาญ ซึ่งเป็นลูกจ้างของรัฐในอดีตหรือว่าเคยเป็นข้าราชการมาก่อน อีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้มองว่าเป็นงบฯ ของอดีต คือ การที่งบประมาณรายจ่ายประจำแต่ละปีจะถูกจัดทำขึ้นมาประมาณ 2 ปีก่อนหน้าที่มันจะถูกใช้ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยาวนานมาก เช่น งบฯ ปี พ.ศ. 2567 ที่จะใช้ในเดือนต.ค. พ.ศ. 2566 จะต้องเริ่มทำกันตั้งแต่เดือนต.ค.พ.ศ. 2565 

สิ่งนี้ทำให้ งบฯ ไม่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า โดยเธอได้ยกตัวอย่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประมาณ พ.ศ. 2564-2565 ให้เห็นภาพชัดขึ้นว่า งบฯ ที่กำลังถูกใช้ในขณะนั้น ไม่ได้มีหน้าตาว่าเป็นงบฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 เพราะไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องค่าเยียวยา หรือค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ใดๆเลย จึงทำให้กลายเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก โครงการต่างๆ ที่ขอให้มีการจัดสรรงบฯ ให้ ก็เป็นโครงการซ้ำๆเดิมๆจาก 2-3 ปีก่อนหน้า ทำให้รู้สึกว่าเป็นงบฯ ที่ค่อนข้างแข็งตัว เปลี่ยนแปลงได้ยาก

Voice Politics ศิริกัญญาVoice Politics ศิริกัญญา

เธออธิบายต่อไปว่า งบประมาณตายตัวที่ตัดไม่ได้ อาทิ งบฯ ข้าราชการ เงินเดือน สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล ก็เยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะกดงบประมาณทั้งหมดไปแล้วถึง 40% อีกทั้งยังมีงบฯผูกพันกันมาก่อนหน้านี้ คือ งบฯ ที่ไปดาวน์ไว้แล้วต้องมาผ่อนในปีหลังๆ กันอีกประมาณ 5% รวมถึงงบฯ สวัสดิการที่ตัดออกไม่ได้แน่ๆ ประมาณ 10% จากทั้งหมด 3 ล้านล้านบาท งบฯเหล่านี้กันไปแล้วประมาณ 2 ล้านล้านบาท เหลือที่จะเอาไปใช้จ่ายอะไรเปลี่ยนแปลงอะไรได้จริงๆ ก็คือแค่ 1 ล้านล้านบาท หรือหนึ่งในสามของงบฯ ทั้งหมดเท่านั้นเอง

พอไปดูต่อว่า งบฯ ที่เหลือถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง ก็สร้างถนนไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท แหล่งน้ำไปอีก 2 หมื่นล้านบาท สุดท้ายเหลืออีกแค่นิดเดียวที่ 700 กว่าหน่วยงานที่จะต้องมาแบ่งเศษที่เหลือนี้กัน เท่ากับว่า สุดท้ายมันกลายเป็นเบี้ยหัวแตกเต็มไปหมดเลย โครงการอื่นๆที่มันไม่ใช่ตัดถนนหรือว่าสร้างอ่างเก็บน้ำ มันได้แค่โครงการละ 10 ล้านบาทบ้าง ยี่20 ล้านบาทบ้าง สุดท้ายแล้วมันทำอะไรไม่ได้ นอกจากจัดอบรมสัมนา ทำงานจ้างประชาสัมพันธ์ ซึ่งหวังผลที่จะเกิดจากโครงการเหล่านั้นได้ยากมาก

มันจึงกลายเป็นปัญหาที่เหมือนงูกินหาง ถ้าเราไม่แก้ ทำให้งบประมาณมันก้อนใหญ่ขึ้นด้วยวิธีการอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่เหลืองบมากพอที่จะพัฒนาประเทศให้มันเกิดผลอย่างจริงจังขึ้นมาได้เลย
Voice Politics ศิริกัญญา

ทั้งนี้ เธอได้กล่าวถึงแนวทางของพรรคก้าวไกลในการแก้ปัญหาซ้ำซากเกี่ยวกับงบประมาณไทยว่า จะต้องทำเป็น Zero-based budgeting คือ ต้องล้างงบประมาณกันใหม่ทุกปีว่า ปีที่แล้วทำอะไร ก็คือปีนี้จะทำอะไร ไม่เกี่ยวข้องกัน ต้องมาดูกันใหม่ว่า ตกลงปีนี้มีอะไรที่จำเป็น เร่งด่วน สำคัญสำหรับปีนี้โดยเฉพาะ แล้วก็ค่อยตั้งงบประมาณตามนั้นขึ้นมา มันน่าจะทำให้มีงบประมาณที่มันตอบสนองกับสถานการณ์ได้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องร่นระยะเวลาในการที่จะพิจารณางบประมาณให้มันสั้นลงด้วย มิเช่นนั้น ก็จะไม่ได้งบฯ ที่มันตอบสนองกับสถานการณ์ที่มันเป็นจริงอยู่ดี

สิ่งที่จะสามารถกระชับได้มากขึ้นกว่านั้น ก็คือตัวการพิจารณากฎหมายในสภาฯ ด้วยซ้ำไปว่า มันก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน การพิจารณางบประมาณในกรรมาธิการตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้เธอเห็นแล้วว่า การเอาคน 70 กว่าคนมานั่งล้อมวงกันอยู่ในห้องแล้วผลัดกันถามคำถามไปมา เป็นวิธีพิจารณางบฯ ที่ไม่มีประสิทธิภาพเอาซะเลย

สิ่งที่มันควรจะเป็น คือ มานั่งคุยกันเป็นรายโครงการว่าเป้าหมายของโครงการนี้คืออะไร มีคนที่ได้รับประโยชน์กี่คน แล้ววิธีการทำยังไง แล้วก็ถกกันถึงวิธีการว่านโยบายนี้ โครงการนี้ คุณจะทำมันยังไงให้มันเกิดผลสำเร็จจริงๆ ก่อนหน้านี้คุณเคยทำไหม แล้วคุณได้ผลยังไง แล้วก็มาดูว่างบประมาณที่ใช้ มันควรจะต้องเพิ่มขึ้น หรือว่ามันควรจะต้องลดลง 

ต้องเปลี่ยนวิธีการให้มันเป็นการพิจารณางบประมาณแบบพุ่งเป้าจริงๆ มาคุยกันที่เป้าหมายกันดีกว่า มาคุยกันที่ KPI กันเลยดีกว่าว่า งบประมาณได้ไปเท่านี้ ผลสัมฤทธิ์มันคืออะไร แล้วจะได้เท่าไหร่ เมื่อไหร่ อันนี้น่าจะทำให้ร่นระยะเวลาในการที่จะพิจารณา ไม่ต้องใช้ถึง 105 วัน แบบที่สภาฯใช้ แล้วก็น่าจะได้มรรคได้ผลมากกว่า

Voice Politics ศิริกัญญา


ประเทศจะเป็นอย่างไร ถ้ามี รมว.คลัง ชื่อ ‘ศิริกัญญา’

‘ศิริกัญญา’คิดว่า สิ่งที่เธออยากเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ (รมว.) คลัง คือ การสื่อสารอย่างตรงไปตรงมากับประชาชน เพราะที่ผ่านมารู้สึกว่า เรื่องที่รัฐมนตรีฯ คลังพูดดูห่างไกลจากประชาชน มีอะไรเขาก็จะปกปิด พูดไม่หมด พูดไม่เต็มที่ อย่างเช่นเรื่องการเก็บภาษีจากตลาดหุ้น ที่รัฐมนตรีแสดงท่าทีกระอักกระอ่วน กระมิดกระเมี้ยน ไม่กล้าที่จะตัดสินใจ ทำให้เรื่องนี้ค้างคาเรื่อยมา และยังไม่ได้ประกาศลงพระราชกิจจานุเบกษาจนถึงตอนนี้

หรือเวลานำเสนอนโยบายอะไร ก็ดูจะห่างไกลจากประชาชน เช่น นโยบายการเยียวยาอะไรต่างๆ ในช่วงโควิดที่ไม่ยอมออกเป็นเงินสด จะบังคับให้คนใช้เป๋าตังอยู่นั่นแหละ โดยที่ไม่ได้ดูว่าประชาชนต้องการใช้เงินในรูปแบบไหน ต้องการใช้เงินสดมากกว่าหรือเปล่าอะไรอย่างนี้

เธออธิบายต่อไปว่า หากได้เป็น รมว.คลัง เธอก็คงจะสื่อสารอย่างตรงไปตรงมามากขึ้น ให้ประชาชนเข้าใจแล้วก็เห็นอกเห็นใจไปกับเธอถึงเหตุผลของการออกนโยบายต่างๆ หากจะทำนโยบายแบบพรรคก้าวไกล ยังไงก็คงจะต้องเก็บภาษีเพิ่ม โดยเฉพาะภาษีทรัพย์สินที่จะต้องเก็บจากคนที่มีในฐานะมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเก็บภาษีที่ดินแบบทั้งรายแปลงหรือรวมแปลง เพื่อให้คนที่เก็บกักตุนที่ดินไว้เป็นจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องจ่ายคืนให้กับสังคมมากขึ้นกว่าเดิม หรือว่าเป็นภาษีความมั่งคั่งต่างๆ 

Voice Politics ศิริกัญญา

เธอคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องสื่อสารต่อสาธารณะเพื่อสร้างความเห็นอกเห็นใจกับเพื่อนร่วมประเทศด้วยกัน แล้วก็พยายามโน้มน้าวให้พวกเขาเข้าใจว่า ทำไมถึงจำเป็นต้องเสียภาษีมากขึ้น มากกว่าที่จะมากระอ้อมกระแอ้ม ไม่กล้าพูดหรือว่าไม่กล้าบอกกันตรงๆว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่ได้เปิดเผยวัตถุประสงค์จริงๆว่าจะต้องการเก็บภาษีนี้ไปทำอะไร

รวมไปถึงออกนโยบายที่เห็นอกเห็นใจคนที่จะต้องได้รับผลประโยชน์จากนโยบายนี้ เช่น การออกเงินช่วยเหลือในช่วงโควิดเองก็ดี หรือว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเองก็ดี ที่ไม่ได้เห็นอกเห็นใจคนที่จะต้องไปขอรับบริการ หรือต้องเสียเวลาไปลงทะเบียนเลยแม้แต่น้อย หมายความว่าจะต้องใส่องค์ประกอบของความเข้าอกเข้าใจไปในการทำนโยบาย หรือว่าการออกแบบขั้นตอนกระบวนการที่จะทำให้นโยบายเกิดขึ้นจริงด้วย

Voice Politics ศิริกัญญาVoice Politics ศิริกัญญา


สร้างสมดุลให้อุดมการณ์และความเป็นไปได้ที่ ‘ก้าวหน้า’

เมื่อถามว่าวิธีการนำเสนออุดมการณ์แบบ "ไปให้สุด" ของพรรคก้าวไกลเป็นอุปสรรคต่อการทำงานในสภาฯ หรือไม่ เธอตอบว่า กลวิธีแบบที่นำเสนอให้สุดไปก่อนหรือว่าในเชิงอุดมคติเลย มันก็มีได้หลายระดับ มีตั้งแต่ระดับที่พรรคนำเสนอในเชิงอุดมการณ์บางเรื่อง แสดงว่าสิ่งนี้เป็นอุดมการณ์ที่เรายึดถือ มันอาจจะอุดมคติ ซึ่งมันเป็นไปได้ เพราะอุดมการณ์เป็นเรื่องของอุดมคติ แต่ถ้าเกิดเจาะลงมาถึงระดับนโยบายหรือว่าข้อเรียกร้อง เราพยายามที่จะชั่งน้ำหนักเรื่องนี้กันโดยตลอด

เรื่องที่เราจะสามารถผลักดันไปให้ได้สุด ก็คือเสนอไปให้สุดก่อน ไม่ว่าจะด้านการเมือง ด้านสิทธิต่างๆ ที่เราขอดันไปสุดเสมอ แน่นอนว่าสุดท้ายแล้วสภาฯ มันเป็นเวทีแห่งการประนีประนอม เราค่อยมาหาจุดสมดุลว่า ข้อเสนอที่เราอยากได้ถึงที่สุดนั้น สรุปแล้วเมื่อเจรจาต่อรอง มันจะอยู่ที่ตรงไหน

เธอกล่าวต่อไปว่า แต่บางเรื่อง เราก็จะเน้นความเป็นไปได้มากกว่า เมื่อมันต้องใช้เงินงบประมาณ หลายเรื่องที่เสนอไปไม่สุด เพราะรู้ว่าในเวลา 4 ปีเราไม่สามารถที่จะมีงบประมาณมาสนับสนุนหรือทำนโยบายเรื่องนี้ได้ จึงพิจารณาเรื่องของความเป็นไปได้มากขึ้นด้วย อย่างเช่น เรียนฟรีปริญญาตรี เราก็พยายามเสนอเฉพาะเท่าที่เรารู้สึกว่า มันจะไม่เป็นภาระต่องบประมาณมากเกินไปในอนาคต หากถามว่าเท่าที่เราเสนอ เป็นภาระกับงบประมาณเยอะแล้วหรือยัง มันก็เยอะมากแล้ว แต่เรารู้สึกว่ามันยังพอเป็นไปได้ ถ้าเกินไปกว่านี้ มันก็จะเริ่มเป็นความเสี่ยงทางการคลัง

เราไม่ปฏิเสธว่าสภาฯ เป็นพื้นที่ของการประนีประนอม แต่เราก็เลือกที่จะต้องเสนอความเป็นไปได้ที่มันก้าวหน้า มากกว่าที่จะยอมถอยเพียงที่ว่ารู้สึกว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะสุดท้ายแล้วมันต้องมาเจรจากันในสภาฯมากกว่า
Voice Politics ศิริกัญญา


อะไรคือบทเรียนสำคัญจากการทำงานการเมือง 

หลังได้ยินคำถามนี้ เธอนิ่งเงียบไปสักพักหนึ่ง พร้อมกับเสียงถอนหายใจเฮือกใหญ่ เมื่อถูกถามต่อว่าคำถามยากไปหรือไม่ เธอตอบว่า ไม่ยาก เพราะเธอเองก็เคยคิดเรื่องนี้อยู่เหมือนกัน

เธอพูดต่อไปด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือว่า หากจะให้ "ตอบแบบโลกสวย" ก็คือวันที่ ธนาธร มาชวนเป็นส.ส. เขาได้บอกเธอไว้ประมาณว่า "ถ้าเกิดคุณอยากให้มันเปลี่ยนแปลง คุณต้องเข้ามาทำเอง คุณต้องเข้ามาเป็นคนที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง"

วันนี้ เราก็เข้าใจแล้วว่าทำไมเราถึงต้องเข้ามา เพราะว่ามันต้องการคนใหม่ๆ หน้าใหม่ๆ ความคิดใหม่ๆ เข้ามาเป็นตัวจุดประกายว่า เฮ้ย พวกคุณต้องเปลี่ยน พวกคุณต้องขยับ คุณจะทำแบบเดิมๆไม่ได้แล้ว

เธอพูดด้วยแววตาเป็นประกายว่า เธอไม่เสียดายที่ได้เข้ามาทำการเมือง แม้ว่ามันจะเป็น 4 ปีที่นรกแตกขนาดไหนก็ตาม แต่ก็รู้สึกว่าคุ้มค่า และเป็นบทพิสูจน์ได้อย่างดีว่า ถ้าวันนั้นเธอไมได้ตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลง มันก็คงไม่มีวันนี้ สิ่งนี้เป็นบทเรียนที่ดีว่า ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง คุณต้องเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมัน

เธอบอกว่า เธอเห็นความหวัง ซึ่งอาจจะเป็นความหวังที่ ส.ส.เมื่อสิบปีที่แล้วหลายๆคนเห็นว่าเป็นความหวังก็ได้ แต่ว่า ณ วันนี้ มันยังมีคนไฟไม่หมด แล้วยังมีคนอยากทำต่อ เธอได้มีโอกาสคุยกับ ส.ส. อาวุโสหลายท่าน ก็ได้รับทราบว่า บางเรื่องที่เธอกำลังพูด ก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันตั้งแต่ 40 ปีที่แล้วด้วยซ้ำ

การที่ยังมีคนใหม่ๆเข้ามาเจอเรื่องเดิมๆ แต่เขาเห็นว่าเป็นเรื่องใหม่ มันก็จะยังมีคนคอยเติมเชื้อไฟให้มันเกิดความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่อยๆ ไฟมันก็จะไม่มอด ถ้ายังปล่อยให้คนกลุ่มเดิมทำแบบเดิมๆ สุดท้ายมันก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน

รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล พูดชวนคิดทิ้งท้ายเอาไว้ว่า เราไม่ได้มี ส.ส. หน้าใหม่ในสภาฯ มานานแค่ไหน พร้อมยกตัวอย่าง สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาล ชวน หลีกภัย ตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่อายุ 30 กว่าๆ และหลังจากนั้น เราก็แทบไม่มีคนรุ่นใหม่เข้ามาในแวดวงการเมืองอีกเลย จนกระทั่งเกิดพรรคอนาคตใหม่ เพราะว่ามันกลายเป็นวงปิดไปแล้ว แล้วก็ไม่ค่อยมีใครที่อยากจะเข้ามาทำงานการเมือง.

Voice Politics ศิริกัญญาVoice Politics ศิริกัญญา

ภาพ: เสกสรร โรจนเมธากุล

ฉายฉาน คำคม
นักข่าวการเมืองภาคสนามสองภาษา เขียนข่าวต่างประเทศบ้างบางเวลา เป็นทาสแมว ชอบกินช็อกมิ้นท์
23Article
0Video
0Blog