วันที่ 16 มี.ค. 2565 ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมพิจารณาศึกษาข้อกฏหมาย กรณีขบวนการค้ามนุษย์ แนวนโยบายและการจัดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้เชิญผู้แทนจากหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ ได้แก่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 (ผบช.ภ.9) อธิบดีกรมราชทัณฑ์ รวมทั้ง พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง โดยทุกรายมอบหมายอำนาจให้ผู้แทนมาร่วมประชุม ยกเว้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ซึ่งไม่ได้มา เนื่องจากติดภารกิจสำคัญที่นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว
รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบ้ญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการ ระบุว่า หลังการอภิปรายทั่วไปของตนในสมัยประชุมสภาฯ ที่ผ่านมา ทำให้ปัญหาเรื่องขบวนการค้ามนุษย์กลายเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญ ที่มาที่ไปในเรื่องนี้ แบ่งได้เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในอดีต ที่ฝั่งไทยเกี่ยวข้องในการชักนำชาวโรฮิงญาไปสู่ประเทศที่ 3 เมื่อปี 2558 เป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกาจัดอันดับไทยอยู่ที่ Tier 3
จนกระทั่งตำรวจท่านหนึ่งที่มีบทบาท คือ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ได้ทำการสืบสวนและออกหมายจับได้ถึง 153 คน สถานการณ์เหมือนจะดีขึ้น จนกระทั่ง พล.ต.ต.ปวีณ กลับถูกคำสั่งย้ายไปประจำที่จังหวัดชายแดนใต้ จนตัดสินลาออก สถานการณ์ค้ามนุษย์กลับมาเลวร้ายลงอีก เมื่อตำรวจผู้สืบสวนเรื่องนี้ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
รังสิมันต์ ตั้งคำถามถึงตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ปัจจุบัน มีชาวโรฮิงญาได้รับผลกระทบอีกเท่าไรในสถานการณ์ค้ามนุษย์ที่ย่ำแย่ลง และจากสำนวนคดีกว่า 2 แสนหน้าที่ พล.ต.ต.ปวีณ ทำไว้ ได้มีการขยายผลเพิ่มเติมหรือไม่ นอกจากจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ได้เพียงคนเดียว มีการสาวไปถึงทหารเรือ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองคนอื่นๆ อีกหรือไม่
ตัวแทน ผบ.ตร.สาวต่อคดีโรฮิงญา-เร่งเคลียร์หมายจับ
ด้าน พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ชี้แจงว่า กรณีการค้ามนุษย์โรฮิงญา ปีที่ผ่านมามีการดำเนินคดีไป 21 ราย อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังขาดการทำงานอย่างบูรณาการ และความเชื่อมโยงในการบังคับใช้กฎหมาย มาตรการต่อจากนี้ การจับกุมอย่างเดียว จะไม่ทำให้ขบวนการหมดไป แต่ต้องยึดทรัพย์ วางความผิดคดีอาญาฐานฟอกเงิน เพื่อให้ขบวนการดังกล่าวหมดเรี่ยวแรงกลับมาก่อเหตุซ้ำ ทั้ง สตช. กองทัพเรือ และดีเอสไอ ได้ประสานงานกันบริเวณแนวชายฝั่งต่างๆ โดยในเวลา 3 เดือนนับตั้งแต่ต้นปี 2565 สามารถยึดทรัพย์ไปแล้วกว่า 1,600 กว่าล้านบาท
สำหรับการขยายผลสืบสวนนั้น พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ระบุว่า จากสำนวนคดีที่ พล.ต.ต.ปวีณ ทำไว้อย่างสมบูรณ์นั้น ได้ขยายผลเพิ่มเติม พร้อมสั่งการเร่งรัดหมายจับที่ค้างอยู่ของ สภ.ปะดังเบซาร์ แต่ตัวผู้ต้องหาหลบหนีไปในหลายที่ ล่าสุดจับได้แล้ว 2 คน ส่วนที่เหลือได้ทำการแยกหมายจับว่าหลบหนีไปอยู่ท้องที่ใดบ้าง บางส่วนหลบอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ตำรวจภูธร ภาค 8 ได้แบ่งหมายจับเร่งรัดติดตาม
'สุรเชษฐ์' ยัน ‘ประวิตร’ ไม่เคยแทรกแซงการโยกย้าย 'ปวีณ'
พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ยืนยันในฐานะเคยเป็นนายตำรวจติดตาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประวิตร ไม่ได้แทรกแซงคดีนี้ เท่าที่เห็น พล.อ.ประวิตร โดยใกล้ชิด ตัว พล.อ.ประวิตร ไม่ได้สั่งการอะไรที่ผิดกฏหมาย แต่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ สำหรับการสั่งโยกย้าย พล.ต.ต.ปวีณ นั้น แม้ พล.อ.ประวิตร ในเวลานั้นจะดำรงตำแหน่งประธาน ก.ตร. แต่การโยกย้ายจำเป็นต้องผ่านบอร์ด ก.ตร. ซึ่ง ผบ.ตร.ในขณะนั้นเป็นผู้พิจารณา ส่วนประธานก็ลงนามโดยไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด และย้ายด้วยเหตุผลใดนั้น ตนก็ไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
ไร้เงา ‘สมยศ-จักรทิพย์’ แจง ปมช่วย ‘มนัส’ พ้นคุกหรือไม่
พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ นิตยวิมล ผู้กำกับการสำนักงานกฏหมายและคดี ภาค 9 ในฐานะตัวแทน ผบ.ตร. ระบุว่าเคยมีส่วนร่วมทำคดีค้ามนุษย์กับ พล.ต.ต.ปวีณ มาตั้งแต่ปี 2558 พร้อมให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2558 ศาลอำเภอนาทวีได้ออกหมายจับ ต่อมาวันที่ 1 มิ.ย. 2558 พล.ท.มนัส ได้เข้ามอบตัว ในวันนั้น มี ผบก.ภ.8 และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ในขณะนั้น เป็นผู้รับตัวตามกฏหมาย ที่ผ่านมาทุกคดี เราไม่ให้ประกันแม้แต่คนเดียว ในที่สุด พล.ท.มนัส ก็ไม่ได้ประกันตัว และส่งฟ้องตามปกติ ส่วน ผบ.ตร.จะพูดไปในทำนองไหนนั้น ตนไม่ขอตอบ เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์
ด้าน พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้ทรงคุณวุฒิมีความเชี่ยวชาญด้านการสอบสวนคดี ได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.สมยศ มาเป็นตัวแทน ชี้แจงว่า ในส่วนของหลักกฏหมาย การให้ประกันหรือไม่ต้องอยู่ในวิอาญา มาตรา 107 หลักในการปล่อยตัวชั่วคราว 7 ข้อ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องพิจารณาทั้งหมด ส่วนที่รังสิมันต์อ้างข้อความสัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ของ พล.ต.อ.สมยศ ที่กล่าวถึง พล.ท.มนัส ว่า เราเป็นพี่น้องกัน และจะให้ประกันให้นั้น ต้องไปถามเจ้าตัว ตนขอพูดในข้อเท็จจริงเท่านั้น
ทัพเรือรับตรวจสอบตกหล่น เหตุทะเลกว้าง
จากนั้น รังสิมันต์ โรม สอบถาม ผบ.ทร. ว่า เหตุใดจึงมีเรือประมงลักลอบขนชาวโรฮิงญาผ่านน่านน้ำไทยได้มากขนาดนี้ อีกทั้งยังจับได้เมื่อขึ้นบก แต่กลับไม่พบทางทะเลเลย ซึ่ง พล.ร.ต.วิฉณุ ถูปาอ่าง ผู้อำนวยการสำนักกิจการความมั่นคง กรมยุทธการทหารเรือ ในฐานะตัวแทน ผบ.ทร. ชี้แจงว่า แม่น้ำกระบุรี ชายแดนไทย-เมียนมาร์ มีความแคบมาก สามารถผ่านเข้าออกได้ตลอดเวลา หากไม่ตั้งด่านสกัดอย่างถี่ยิบ ส่วนทางทะเลนั้น กองทัพเรือใช้อากาศยาน และเรือลาดตระเวน เป็นพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางไมล์ อาจมีช่องโหว่ให้เล็ดรอดเข้ามาได้
รังสิมันต์ ถามต่อไปว่า กรณีมีผู้ต้องหาเป็นนายทหารเรือเพียงคนเดียว ทางกองทัพเรือมีการขยายผลสืบสวนต่ออย่างไรหรือไม่ โดย พล.ร.ต.วิฉณุ ระบุว่า กองทัพเรือได้ตั้งคณะกรรมการมาขยายผลกรณีนายทหารเรือคนนี้แล้ว ปัจจุบันศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกฟ้อง และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาในศาลฎีกา ขณะที่คณะกรรมการสืบสวนแล้วไม่พบคนอื่นอีก นอกจากนายทหารเรือคนนี้
กมธ.คาใจ ‘มนัส’ ตายปริศนา ขอเอกสารไต่สวนการตายยืนยัน
สำหรับกรณีที่ พล.ท.มนัส ได้เสียชีวิตในเรือนจำ ซึ่งเป็นประเด็นที่กรรมาธิการยังเคลือบแคลง และตั้งข้อสงสัยนั้น ณรงค์ จุ้ยเส่ย รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ ในฐานะผู้แทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า พล.ท.มนัส เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวที่ รพ.ราชทัณฑ์ โดยก่อนหน้านั้นอยู่ที่เรือนจำคลองเปรม ได้ตรวจพบโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นช้า จึงส่งไปที่ รพ.ราชทัณฑ์ และได้เกิดอาการวูบหมดสติขณะออกกำลังกาย ทีมแพทย์ได้ช่วยทำ CPR แล้วจนถึงเวลาทุ่มเศษ ยังไม่มีชีพจร จากนั้นได้ส่งสถาบันนิติเวชวิทยา รพ.ตำรวจ ผลพบว่าเนื่องจากขาดเลือดในหัวใจฉับพลัน ทำให้เสียชีวิตเพราะมีโรคประจำตัวขณะออกกำลังกาย ผลการชันสูตรไม่พบร่องรอยการทำร้ายร่างกาย
เมื่อกรรมาธิการซักถามต่อว่าได้มีการไต่สวนการตายของ พล.ท.มนัส หรือไม่ รวมทั้งขอหลักฐานเป็นภาพกล้องวงจรปิด และประวัติการรักษาตัวด้วย โดยกำหนดกรอบเวลา 30 วัน สำหรับส่งหลักฐานให้กรรมาธิการ เรื่องนี้พล.ต.ต.ชัยวัฒน์ ชี้แจงว่า กรณีนี้เป็นการตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน คดีสำคัญเช่นนี้ย่อมมีการสอบสวน ชันสูตรพลิกศพ และยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวนแน่นอน อีกทั้งยังเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในท้องที่ต้องไต่สวนอยู่แล้ว กรรมาธิการจึงให้กรมราชทัณฑ์ส่งคำสั่งศาลให้กรรมาธิการเป็นหลักฐานว่ามีการไต่สวนจริง