นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ในปัจจุบันทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับผลกระทบหลังติดเชื้อโควิด คือ อาการสมองเสื่อมถอย มักพบในช่วง 1-6 เดือน หลังจากติดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอย ส่วนมากในด้านสมาธิ ทักษะในการตัดสินใจ การวางแผน และความจำระยะสั้น โดยจะมีอาการรู้สึกสมองล้า (brain fog) รู้สึกตื้อ มึน ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การทำงาน หรือการเข้าสังคม ทำให้ส่งผลเสียในระยะยาวได้
นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงเกิดจากผู้ป่วยมีโรคทางระบบประสาทและสมองอยู่เดิม เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลายอย่าง เมื่อเกิดการติดเชื้อโควิด 19 แบบเฉียบพลันและมีอาการรุนแรง จะทำให้มีภาวะขาดออกซิเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวล มีอาการทางระบบประสาทและสมองเสื่อมถอย
อย่างไรก็ตาม อาการสามารถดีขึ้นเองได้เมื่อเวลาผ่านไป การดูแลตนเองอย่างดี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาสุขภาพให้แข็งแรง กินอาหารดีและมีประโยชน์ โดยเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการกระตุ้นสมอง ฝึกการคิดวิเคราะห์ ฝึกสมาธิ หรืองานอดิเรกที่สร้างความผ่อนคลาย จะช่วยให้สมองและระบบประสาทฟื้นตัวและกลับมาเป็นปกติได้เร็วและดียิ่งขึ้น
สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง หรือผู้สูงอายุที่มีโรคร่วมหลาย ๆ อย่าง ควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ปฏิบัติตัวตามมาตรการการดำรงชีวิตวิถีใหม่ สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อย ๆ เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด 19 เพื่อลดโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรค ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการเกิดอาการสมองเสื่อมถอยหลังติดเชื้อโควิด -19 ได้ และหากเกิดติดเชื้อ และมีอาการสมองเสื่อมถอยแล้วพบว่าอาการไม่ดีขึ้นในระยะเวลา 6 เดือน ควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป