นพดล ปัทมะ ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของตัวประกันชาวไทยอีก 2 คน ทำให้คนไทยยังถูกจับเป็นตัวประกันเหลือ 6 คน ในฐานะประธาน กมธ. ต่างประเทศ ขอสนับสนุนกระทรวงการต่างประเทศให้ความช่วยเหลือครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเต็มที่ รวมทั้งตัวประกันคนไทยอีก 6 คนต่อไป ส่วนในประเด็นการสู้รบที่ฉนวนกาซาที่ยังมีอยู่นั้น ในฐานะกมธ.การต่างประเทศรู้สึกกังวลและตนขอ 1) เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยดำเนินการให้ปล่อยตัวประกันทุกคนรวมทั้งคนไทยอีก 6 คนให้ได้รับอิสรภาพโดยเร็ว 2) สนับสนุนการเจรจาหาข้อยุติปัญหาทางการทูตเพื่อยุติการสู้รบและนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างยั่งยืน และ 3) สนับสนุนการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ
นพดลกล่าวต่อว่า ในประเด็นการสู้รบในเมียนมานั้น ในฐานะกมธ. ยังยืนยันความเห็นเดิมที่สนับสนุนการสร้างสันติภาพและเสถียรภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นในเมียนมาซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เพื่อยุติการสู้รบที่ทำให้มีการอพยพข้ามแดนที่ไทยได้รับผลกระทบมาทุกปี ซึ่งในขณะนี้ทราบว่ามีการเจรจาของกลุ่มต่างๆ ในบางประเทศ แต่ตนคิดว่า แนวทางที่จะประสบความสำเร็จและแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนนั้นควรดำเนินการ 2 สเตป ตามแนวฉันทามติห้าข้อของอาเซียน สเตปแรกมีวงหารือในรูปแบบทรอยก้าพลัส คือให้ไทยเป็นหัวหอกร่วมกับอาเซียน จีน อินเดีย และบังกลาเทศ หลังจากได้โรดแมปการสร้างสันติภาพในเมียนมา จึงไปสเตป 2 คือผลักดันการพูดคุยที่ครอบคลุมและทั่วถึงทุกกลุ่มในเมียนมาเพื่อบรรลุข้อยุติทางการทูตอย่างยั่งยืน ส่วนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้น ประเทศไทยควรเป็นศูนย์รวมหรือประตูรับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากทั่วโลกเพื่อส่งต่อไปยังผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกกลุ่มในเมียนมาอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ส่วนที่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในพม่านั้น ตนเชื่อในเจตนาดีของทุกฝ่ายที่จะหาทางยุติการสู้รบและสร้างสันติภาพในเมียนมา ส่วนจะประสบความสำเร็จหรือไม่อย่างไรนั้นก็ต้องติดตามต่อไป ตนเห็นว่าความพยายามของบุคคลใดหรือประเทศใดก็ตามที่ต้องการเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในพม่านั้นเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกบิดเบือนไปเป็นประเด็นการเมือง ส่วนรัฐบาลจะดำเนินนโยบายและผลักดันการแก้ปัญหาเมียนมาเช่นไรก็ดำเนินการไป