ไม่พบผลการค้นหา
15 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันแรก
‘รถไฟฟ้าสีส้มกับส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน’ :  สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ พรรคก้าวไกล
  • รถไฟฟ้าสายสีส้ม เป็นรถไฟฟ้า Heavy Rail ที่วิ่งเชื่อมโยงฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของ กทม. แนวเส้นทางเริ่มต้นที่สถานีบางขุนนนท์ สิ้นสุดที่สถานีแยกร่มเกล้า บริเวณสามแยกรามคำแหง – สุวินทวงศ์ ระยะทางรวม 22.57 กม. มี 17 สถานี อนุมัติโครงการตั้งแต่  19 เม.ย. 2559 และใกล้จะเสร็จแล้ว 
  • ปัญหาของเรื่องนี้คือ โครงการรถไฟฟ้าสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรม) ความยาว 13.4 กิโลเมตร 11 สถานี ครม. อนุมัติโครงการไปตั้งแต่ 28 ม.ค.2563 ตอนนี้ยังไม่ดำเนินการ
  • เหตุผลที่ล่าช้า เพราะโครงการนี้แบ่งเค้กออกเป็น 2 ก้อน คือ 1.การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก (รัฐบาลอุดหนุนเงิน 91,983 ล้านบาท หรือเกือบ 100%) 2.การเดินรถ 30 ปีและการหาประโยชน์เชิงพาณิชย์ กล่าวได้ว่า รัฐออกเงินสร้างให้ โดยเอกชนต้องแข่งกันว่าใครจะมาเป็นผู้เดินรถและคืนเงินรัฐบาลได้มากกว่ากัน 
  • ตัวเลขประมาณการของ รฟม. พบว่า โครงการนี้จะสร้างกำไรราว 128,605 ล้านบาท เพราะรัฐอุดหนุนจำนวนมากจึงมีโอกาสสร้างกำไรได้มาก 
  • สิ่งที่น่าสนใจคือ โครงการนี้มีการล็อกเป้าผู้ร่วมลงทุนไว้แล้วหรือไม่ เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจสัมปทานเดินรถมีเพียง 2 เจ้าเท่านั้น คือ BTSC กับ BEM กรณีที่เจ้าใดเจ้าหนึ่งถูกกีดกัน หรือกรณีที่ทั้งสองเจ้าร่วมมือกัน ประชาชนถือว่า ‘ซวยทั้งขึ้นทั้งล่อง’ 
  • BTSCและ BEM ได้เข้าร่วมประมูลโครงการตามปกติ แต่แล้วมีการล็อกเป้าผู้ชนะประมูล และกระบวนท่าเตะตัดขาก็ได้เริ่มต้นขึ้น
  • ระหว่างการประมูล รฟม. ได้เปลี่ยนเกณฑ์ประมูล  จากเดิมที่วัดกันด้วย ‘ราคา’ ซึ่งยุติธรรมและเป็นวิธีที่ใช้กับรถไฟฟ้าทุกสาย เกณฑ์ใหม่คือการ ‘ให้คะแนน’ ด้วยการนำคะแนนด้านเทคนิคและราคามารวมกัน เป็นการให้คะแนนแบบ ‘แล้วแต่ท่าน’ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดมาใช้กับรถไฟฟ้าสายสีส้มโดยเฉพาะ เพื่อเตะตัดขาให้ BTSC หลุดออกจากสนามแข่งขัน 
  • BTSC ฟ้องขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองกลาง ศาลพิพากษาว่า เกณฑ์ประมูลเดิมชอบด้วยกฎหมายแล้ว และการแก้ไขเกณฑ์ประมูลนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ รฟม. ไม่เห็นด้วย จึงเดินหน้าอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ยังไม่ทันที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งลงมา รฟม. ได้ชิงล้มการประมูลไปก่อน
  • รฟม. เปิดการประมูลครั้งที่สอง แต่กลายเป็นว่า บริษัท BTSC ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล ด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้
  •  1.BTSC ถูกกีดกันโดยการตั้งเกณฑ์ประมูลใหม่ จากเดิมระบุว่า ‘ใช้ผลงานที่ตรวจรับแล้วได้’ เปลี่ยนเป็น ‘ต้องมีผลงานที่แล้วเสร็จ’ เงื่อนไขใหม่ทำให้ BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ 
  • 2.ตั้งเงื่อนไขจากเดิมระบุว่า ‘คุณสมบัติของงานโยธา สามารถใช้พาร์ทเนอร์ผู้รับเหมาต่างชาติได้’ เปลี่ยนเป็น ‘ต้องเป็นผลงานที่ทำกับรัฐบาลไทยเท่านั้น’ ทำให้ BTSC ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ 
  • สุดท้ายการประมูลครั้งที่ 2 เหลือเพียง BEM เพียงเข้าประมูลเพียงรายเดียวเท่านั้น แต่หากจะให้ BEM กลายเป็นผู้เเข่งหนึ่งเดียวก็จะเกิดปัญหา จึงเกิดการ ‘สร้างคู่เทียบหลอก’ ด้วยวิธีเปลี่ยนเกณฑ์เพิ่มเติมในการประมูลครั้งที่ 2 โดยไปยกเลิกเกณฑ์คุณสมบัติประสบการณ์จัดหาและติดตั้งระบบรถไฟฟ้า เพื่อให้มีผู้รับเหมาอีกรายมาร่วมเป็นคู่เทียบได้ 
  • ผลคือ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ได้จับมือกับ บริษัทขนส่งอินช็อน (Incheon Transit Corporation) ผู้ให้บริการรถไฟใต้ดินประเทศเกาหลีใต้ ยื่นซองประมูลด้วย เห็นได้ชัดว่า การปลดล็อกเกณฑ์คุณสมบัติผู้นำกลุ่มและปลดล็อกคุณสมบัติประสบการณ์ที่แต่เดิมต้องเป็นโครงการในประเทศไทยเท่านั้นก็เพื่อเอื้อให้ ITD ที่ขาดคุณสมบัติเพราะเป็นนิติบุคคลต่างประเทศ สามารถเข้ามาร่วมแข่งขันในฐานะ ‘ผู้นำกลุ่มได้’
  • การประมูลครั้งที่ 2 รฟม. ได้เปิดซองประมูลของ BEM และของ ITD Group พบว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BEM จำนวน 78,288 ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ BEM เสนอให้ รฟม. แล้ว) และให้แก่ ITD Group จำนวน 102,635  ล้านบาท (หลังจากหักเงินตอบแทนที่ ITD Group เสนอให้ รฟม. แล้ว) ส่งผลให้ BEM เป็นผู้ชนะการประมูล 
  • ด้าน BTSC ก็ได้เปิดซองประมูลของตนเมื่อปี 2563 ที่ถูกล่มไปแล้ว ต่อหน้าสื่อมวลชน พบว่า BTSC เสนอเงินตอบแทนให้ รฟม. จำนวน 70,144.98 ล้านบาท และขอรับเงินสนับสนุนค่าก่อสร้างจาก รฟม. 79,820.40 ล้านบาท นั่นเท่ากับว่า รฟม. จะต้องให้เงินสนับสนุนแก่ BTSC เพียง 9,675.42 ล้านบาทเท่านั้น 
  • สรุปว่า ถ้าในการประมูลครั้งแรก BTSC ชนะโดยไม่ถูกเตะตัดขาเสียก่อน รัฐจะจ่ายเงินอุดหนุนโครงการเพียง 9,675 ล้านบาท เทียบกับ BEM ที่ชนะการประมูลครั้งที่ 2 รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนถึง 78,288 ล้านบาท ส่วนต่างนี้มากถึง 68,613 ล้านบาท 
  • คำถามคือ ส่วนต่าง  68,613 ล้านบาท นี้ ตกไปอยู่ในกระเป๋าใครกันแน่
มักง่ายขยายสัมปทานทางด่วน : ทวี สอดส่อง พรรคประชาชาติ
  •  18 ก.พ.2563  ครม.เห็นชอบให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แก้ไขสัญญาโครงการทางด่วนขั้นที่ 2 ทางพิเศษศรีรัช และสัญญาทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) รวม 2 ฉบับ 
  • โดยต่อสัญญาสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือนกับบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งสัญญาจะสิ้นสุดในปี 2578 เพื่อแลกกับการที่รัฐไม่ต้องจ่ายค่าแพ้คดี 78,600 ล้านบาท และยังแลกกับการที่ BEM ถอนฟ้องอีก 17 คดี  
  • มีคำถามว่า เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างชัดเจนหรือไม่ ประชาชนกลุ่มหนึ่งจึงฟ้องศาลปกครองกลาง แต่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ฟ้องร้องไม่ใช่ผู้เสียหาย ต่อมามีการอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 2 มี.ค.2564
  • ศาลปกครองสูงสุดได้รับฟ้อง ครม., นายกรัฐมนตรี, ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และผู้เกี่ยวข้อง ตามคำฟ้องที่ว่า มติ ครม. เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่เป็นการกำหนดแนวทางภายในให้หน่วยทางการปกครอง ส่งผลต้องแก้ไขสัญญาร่วมใหม่ โดยขยายอายุสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ระหว่างการทางพิเศษกับคู่สัญญา เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน เพื่อยุติข้อพิพาทระหว่างสัญญาและไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย มีผลทำให้โครงการทางด่วนที่ครบกำหนดสัญญาจะต้องตกเป็นสาธารณะสมบัติ ต้องขยายให้เอกชนรับผลประโยชน์ต่อไปอีก 15 ปี 8 เดือน 
  • กรณีนี้เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่งคาดหวังว่าค่าทางด่วนจะถูกลง แต่รัฐบาลกลับเลือกให้เอกชนทำกำไร ซึ่งเป็นการเอื้อเอกชน กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวม
  • สิ่งที่เกิดขึ้นคือความมักง่ายทั้งของนายกฯ และวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีเรื่องลักษณะนี้ การอ้างว่ามีคดีความต้องชดใช้ค่าเสียหายแสนกว่าล้านนั้น ความจริงแล้วคู่สัญญาชนะการทางพิเศษเพียงแค่คดีเดียว มูลค่า 1,790 ล้าน บวกดอกเบี้ย 4,318 ล้าน แต่กลับมีการนำเอาทรัพย์สินแสนกว่าล้านไปประนีประนอม 
  • ผลที่เกิดขึ้น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ระบุว่า การต่อสัญญานั้นคือการยอมรับสภาพหนี้ จากที่มีกำไร 6 พันกว่าล้าน ก็ขาดทุนเกือบ 7 หมื่นล้าน นอกจากนี้คดีเดียวที่คู่สัญญาชนะนั้นต้องใช้เวลา 17 ปี ส่วนคดีที่เหลือเองก็ยังไม่มีความคืบหน้ามาก ครม.กลับเลือกที่จะยอมประนีประนอม 
  • ก่อนหน้านี้เคยเกิดกรณีบริษัท ช.การช่าง ฟ้องการทางพิเศษ 6,034 ล้าน จากโครงการทางด่วนสายบางนา-บางปะกงที่มีความล่าช้า ครั้งนั้นมีการตัดสินให้การทางพิเศษแพ้เหมือนครั้งนี้ แต่เมื่อสู้ไปถึงที่สุดกลายเป็นการทางพิเศษชนะ 
  • ส่วนกรณี BEM ในจำนวน 17 คดีที่เหลืออยู่ การทางพิเศษมีโอกาสชนะในบางคดีอยู่ ที่สำคัญ วันนี้ค่าผ่านทางด่วนมีราคาสูงมาก แล้วจะมีการปรับขึ้นอีก โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเพิ่มจากเดิมที่ 150-240 บาทขยับไปอยู่ที่ 180-280 บาท BEM ได้กำไรมาโดยตลอดอย่างน้อย 6,000 ล้านต่อปี นี่จะทำให้หุ้นของ BEM มีเสถียรภาพไปอีก 15 ปี เรียกว่าเป็น เสือนอนกิน
ภูมิใจไทยลาก ผู้ว่าการทางฯ ชี้แจงสื่อ

นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พร้อมด้วยนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) แถลงชี้แจงที่โถงห้องสื่อมวลชนรัฐสภา ใน 3 ประเด็น คือ

1.มูลค่าหนี้ ที่พ.ต.อ.ทวี ระบุว่ามูลค่าหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมด มีมูลค่าประมาณ 3 แสนล้านบาทนั้น กทพ. ขอให้ข้อมูลว่า มูลค่าหนี้ตามข้อพิพาททั้งหมด มีมูลค่า 1.37 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเป็นกรณีที่หากแพ้คดีกับ BEM และเนื่องจากได้มีการเจรจาต่อรองแล้ว ทำให้มูลหนี้ทั้งหมดจะมีมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่ 3 แสนล้านบาท ตามที่มีการกล่าวอ้าง

2.กรณีที่มีการอภิปรายว่า การรับสภาพหนี้ดังกล่าว ทำให้กทพ.มีหนี้เพิ่ม จนทำให้ฐานะทางการเงินติดลบเป็นจำนวนมาก จากกำไร 6,000 ล้านบาท เป็นขาดทุน 65,000 ล้านบาท ทางกทพ. ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ในปี 63 ที่พบว่า กทพ.ขาดทุน 65,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขขาดทุนทางบัญชีเท่านั้น ซึ่งสถานะทางการเงินในภาพรวมที่แท้จริงยังมีความแข็งแกร่ง มีผลประกอบการที่กำไรทุกปี และนำเงินส่งรัฐปีละประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท มาอย่างต่อเนื่อง

3.ส่วนที่มีการอภิปรายว่า การขยายสัญญาตามมติครม.มิชอบตามกฎหมาย และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง ทาง กทพ.ยืนยันว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม ทั้งกับประชาชนผู้ใช้บริการ และเอกชนผู้ร่วมลงทุน ทั้งนี้ กทพ.ยืนยันว่า บริหารงานโดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชน และภาครัฐ รวมถึงความถูกต้องตามกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล


ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ชี้แจง

เรื่องของรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตก เป็นการดำเนินการคัดเลือกเอกชนตามพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ ซึ่งมีขั้นตอนตามกฎหมาย มีการดำเนินการถูกต้องตามที่กำหนดและส่งอัยการสูงสุดตรวจสอบ ในขั้นตอนต่างๆ รมต.ไม่สามารถไปยุ่งได้ จนกระทั่งส่งให้ รมต.ในขึ้นสุดท้ายก่อนนำเข้า ครม. เรื่องนี้อยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ต้องรอผลการพิจารณาเสียก่อน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 1 : เศรษฐกิจมหภาคเหลว ถดถอยจนไปแข่งกับลาว-เมียนมา

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 3 : กำไรปตท.ภาระค่าไฟประชาชน โรงไฟฟ้าชุมชนก็ปลอม

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 4 : ทุนยาเสพติดเมียนมา-ทุนจีนสีเทาเต็มเมือง เพราะ 'ไทยเทา'

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 6 : ความไม่คืบหน้า ‘จ่าคลั่ง’ กราดยิงโคราช-เค้กเรือหลวงสุโขทัย

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 7 : กอ.รมน.รัฐซ้อนรัฐ รัฐประหารวางรากฐานจนปัจจุบัน