นายสุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารกสศ. ครั้งที่3/2563 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 มีนาคม 2563 บอร์ดได้เห็นชอบการ ปรับปรุงแผนปฏิบัติการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ให้สามารถดำเนินภารกิจช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายใน สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างทันท่วงที โดยกสศ.จะเร่งเบิกจ่ายเงินอุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 711,536 คน ครอบคลุมสถานศึกษาจำนวน 27,805 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่เปิดเทอม 1/2563 นอกจากนี้บอร์ดยังอนุมัติปรับโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและกว้างขวางขึ้น โดยจะช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน ให้ได้รับการฝึกอาชีพหรือเตรียมส่งกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยเหลือเด็กปฐมวัยในครอบครัวยากจนหรือด้อยโอกาสให้เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนไม่น้อยกว่า 40,000 คน โดยมีการปรับอัตราเงินช่วยเหลือเด็กปฐมวัยให้ใกล้เคียงกับทุนเสมอภาคอีกด้วย
ผู้จัดการกสศ. กล่าวว่า เด็กเหล่านี้ เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงทั้งในด้านสุขภาพและความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ ครอบครัวของเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างรายวัน คาดการณ์ว่าหากสถานการณ์โรคโควิด-19 รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกิดการสูญเสียรายได้เป็นเวลานานจะมีแนวโน้มออกจากระบบการศึกษาเพิ่มมากขึ้นในช่วงเปิดเทอมที่จะถึงนี้ และในปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้ขยายความช่วยเหลือการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล-มัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศในสังกัด สพฐ. อปท. และ ตชด. โดยเฉพาะนักเรียนเข้าใหม่ ป.1 ม.1 และกลุ่มใหม่ในแต่ละระดับชั้น ที่ครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อไม่ให้มีเด็กและเยาวชนคนใดตกหล่น
นายสุภกร กล่าวว่า กสศ.และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประมาณการค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาเฉลี่ยต่อนักเรียนของครัวเรือนยากจนในสถานศึกษารัฐ ในเดือนแรกของการเปิดภาคเรียน จำแนกตามระดับการศึกษาและรายการใช้จ่าย พ.ศ. 2560 (บาท/คน) พบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% แรกของประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาที่นอกเหนือจากค่าธรรมเนียมการศึกษาที่รัฐออกให้ ค่อนข้างสูงโดยระดับประถมศึกษามีค่าใช้จ่าย 1,796 บาทต่อคน ระดับมัธยมต้น 3,001 บาทต่อคน ระดับมัธยมปลาย 3,738 บาทต่อคน ระดับอาชีวะ 4,829 บาทต่อคน ซึ่งหากคิดเทียบเฉลี่ยต่อรายได้ของครัวเรือนกลุ่มนี้พบว่าครัวเรือนยากจนในชั้นรายได้ที่1 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ2,020 บาทต่อเดือน เท่านั้น
“ตัวเลขนี้สะท้อนว่า ครัวเรือนยากจนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเกือบทั้งหมดของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับ ในขณะที่ครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายของเดือนแรกของการเปิดภาคเรียนมากกว่ารายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับ เมื่อสถานการณ์การระบาดที่มีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ครอบครัวของเด็กกลุ่มนี้ขาดรายได้อย่างต่อเนื่อง ย่อมไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของลูกหลานได้ จะทำให้ตัวเลขเด็กหลุดนอกระบบของประเทศก้าวกระโดดขึ้นในช่วงอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้” นายสุภกร กล่าว
ด้านศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กรุงเทพมหานครมีชุมชนอยู่ราว 2,070 ชุมชน มีเด็กนอกระบบรวมถึงเด็กที่ทำงานบนท้องถนนกระจายอยู่ชุมชนละ 50-80 คน รวมประมาณ 6,000-10,000 คน กลุ่มนี้เป็นคนหาเช้ากินค่ำที่ฝังตัวอยู่ในเมืองใหญ่อย่างถาวร และเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ต้องแออัดอยู่ในชุมชน ในบ้านเล็กแคบกับสมาชิกครอบครัวที่หนาแน่น ที่สำคัญยังขาดความรู้ในการป้องกันตนเองที่เหมาะสม ขาดแคลนสิ่งจำเป็นสำหรับสุขอนามัยในชีวิตประจำวัน เช่น อาหารสะอาด เจลล้างมือ หรือหน้ากากอนามัย รวมถึงการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์จากรัฐ ทำให้ประชากรในกลุ่ม 20% ล่างสุด ตกหล่นจากสวัสดิการ การช่วยเหลือของรัฐ
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า เบื้องต้น กสศ.จะร่วมมือกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม มูลนิธิต่างๆที่ดูแลเด็กกลุ่มนี้อยู่ เพื่อหาทางเข้าให้ถึงกลุ่ม 20% ล่างสุด และเร่งดำเนินการในสองส่วนคือ 1.มาตรการระยะสั้น สำรวจแนวโน้มของผลกระทบเพื่อช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเบื้องต้นปัญหาพื้นฐานที่เราพบคือการขาดแคลนอาหาร กสศ. จึงประสานความร่วมมือทุกภาคส่วนจัดหาสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะข้าวสารอาหารแห้ง นำไปมอบเพื่อประทังความขาดแคลนในชุมชนต่าง ๆ ให้ได้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ – 1 เดือน 2.มาตรการระยะฟื้นฟู เพื่อเตรียมการรองรับการเปิดเทอม ที่เด็กกลุ่มนี้จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่าเทอม ราว 3,000-5,000 บาทต่อคน ซึ่งจะมีเด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้นในปีการศึกษาหน้านี้ และอาจมีความเสี่ยงไม่ได้กลับมาเรียนหนังสืออีก ในส่วนนี้ถือว่าเป็นงานสำคัญของ กสศ. ที่จะต้องเป็นสื่อกลางในการประสานทุกฝ่ายเพื่อหาทางช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังท่ามกลางวิกฤติครั้งนี้
นางสาวทองพูล บัวศรี หรือครูจิ๋ว มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาหลังรัฐบาลขอความร่วมมือประชาชนให้อยู่บ้านหลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 ทำให้เด็กกลุ่มที่เคยออกไปทำงานขายของหรือหาเลี้ยงชีพบนถนนขาดรายได้ ทางมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กจึงลงพื้นที่เยี่ยมเด็ก ๆ และครอบครัวเพื่อหาทางช่วยเหลือเป็นรายกรณี
“ในระยะต้น เราเน้นการช่วยเหลือประเด็นเร่งด่วนก่อน ซึ่งพบว่า ปัญหาสำคัญคือ การขาดแคลนอาหารและความรู้ในการป้องกันตัวเองจากโรคระบาด มูลนิธิจึงร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา นำถุงยังชีพ ที่ประกอบด้วย ข้าวสารอาหารแห้งเข้าไปมอบให้กลุ่มเด็กนอกระบบ เด็กบนท้องถนน กลุ่มแม่และเด็กเร่ร่อน พร้อมให้ความรู้เรื่องการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 เริ่มจากการลงพื้นที่ชุมชนโค้งรถไฟยมราช ชุมชนเปรมฤทัย สำโรงเหนือ สมุทรปราการ ชุมชนใต้ทางด่วนสุขุมวิท 1 ชุมชนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ โดยคำนวณว่าต่อครอบครัวเด็กๆจะกินข้าวประมาณเท่าไหร่อย่างน้อยเบื้องต้นจะอยู่ได้ประมาณ 1 อาทิตย์ เวลานี้เรื่องอาหารและความรู้ในการดูแลป้องกันตนเองคือสิ่งแรก ๆ ที่พวกเขาต้องได้รับ” นางสาวทองพลู กล่าว