วัฒนธรรมเค-ป็อบ (K-pop) อุตสาหกรรมความบันเทิงของเกาหลีใต้ที่ส่งออกไปทั่วโลก ไม่ว่าจะป็นรูปแบบภาพยนตร์ ละครชุด หรือวงดนตรีศิลปินกลุ่ม นอกจากจะได้รับความนิยมในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว ยังได้รับความนิยมไม่เว้นแม้แต่ชาติเพื่อนบ้านคู่รักคู่แค้นร่วมสายเลือดอย่าง 'เกาหลีเหนือ' ที่ถึงจะมีเส้นของอุดมการณ์ทางการเมืองกั้นระหว่างกัน แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นการหลั่งไหลของวัฒนธรรมสื่อเกาหลีใต้เข้าสู่เกาหลีเหนือได้ ส่งผลให้รัฐบาลเปียงยางเริ่มไม่พอใจและแสดงความกังวลว่า วัฒนธรรมเหล่านี้อาจกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือประเทศที่ปกครองโดยรัฐบาลพรรคแรงงานเซึ่งมีคิม จอง อึน เป็นผู้นำ ได้ใช้สารพัดวิธีในการพยายามควบคุมสื่อในประเทศมาโดยตลอด ทว่าเทคโนโลยีโลกยุคปัจจุบันไม่อาจปิดกั้นพรมแดนสื่อได้อีกต่อไป เมื่อไม่นานมานี้เกาหลีเหนือได้ผ่านกฎหมายฉบับใหม่ ที่ไม่อนุญาตให้ประชาชนถือครองสื่อจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมสื่อจากเพื่อนบ้านฝั่งใต้ โดยกฎหมายใหม่ดังกล่าว ระบุว่าถ้าหากพบผู้ใดพูด เขียน หรือร้องเพลงแบบเกาหลีใต้ จะถูกส่งไปยังค่ายแรงงานถึง 2 ปี หรืออาจมีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ เรียกอุตสาหกรรมเพลงป็อปและความบันเทิงจากเกาหลีใต้ ว่าเป็น "มะเร็งร้าย" และเป็นภัยต่อความมั่นคงของเกาหลีเหนือ ผู้นำคิมระบุว่า K-Pop ทำลายการแต่งกาย ทรงผม วิธีการพูด และพฤติกรรมของชาวเกาหลีเหนือ และอาจทำให้เกาหลีเหนือพังทลายเหมือนผนังที่มีราขึ้น
กฎหมายนี้ตีความครอบคลุมตั้งแต่ภาพยนตร์ เพลง หนังสือ สื่อทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมต่างชาติ รวมถึงสิ่งที่เปียงยางนิยามว่าเป็น “ความคิดเชิงขัดแย้ง” เช่น แนวคิดต่อต้านระบอบสังคมนิยมที่ผู้นำโสมแดงเชื่อว่าเป็นอิทธิพลจากเกาหลีใต้ โดยหากประชาชนลักลอบถือครองสื่อต่างชาติจะต้องโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ผู้รับชมสื่อต่างชาติมีโทษจำคุกในค่ายกักกันสูงสุดถึง 15 ปี อีกทั้งการแสดงออกที่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบต่างชาติมีมาตรการลงโทษจำคุกเช่นกัน ซึ่งสภาแห่งชาติมีมติผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถือเป็นกฎหมายที่บังคับใช้อย่างเข้มงวด
กฎหมายนี้บังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา โดยเปียงยางใช้กฎหมายผ่านวิธีการ “สอดส่องโดยประชาชน” มีรายงานว่าในเดือนเดียวกันหลังการประกาศใช้ ทางการได้จับกุมชายผู้หนึ่งในจังหวัดกังวอน (Gangwon) เนื่องจากพบว่าชายผู้นั้นขายภาพยนตร์ ละคร และเพลงของเกาหลีใต้ผ่านแผ่นซีดีและอุปกรณ์ USB ด้านสำนักข่าวบีบีซีได้อ้างรายงานของ Daily NK สื่อซึ่งจับตาความเคลื่อนไหวในเกาหลีเหนือ ซึ่งระบุว่า ชายคนดังกล่าวถูกจับโดยกลุ่ม “Inminban” ซึ่งเป็นกลุ่มสอดส่องของประชาชนในพื้นที่ หลังถูกจับกุมได้ 14 วัน เขาถูกประหารชีวิตด้วยการยิงต่อหน้าสาธารณะชนกว่า 500 คน Daily NK ยังระบุเพิ่มเติมว่า กฎหมายและบทลงโทษไม่มีข้อยกเว้นกับเยาวชน ในทางกลับกันกฎหมายดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อใช้กับเยาวชนเสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างกรณีนักเรียนมัธยมจำนวนหนึ่งจากโรงเรียนในเมืองนัมโป (Nampo) ได้รับโทษจำคุกเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าลักลอบดูละครจากเกาหลีใต้มากกว่า 120 เรื่องและยังแบ่งให้กับเพื่อนร่วมชั้นรับชม อีกทั้งเด็กคนดังกล่าวยังตัดผมและเย็บชายกางเกงให้สูงเหนือข้อเท้าเหมือนศิลปิน K-pop นักเรียนกลุ่มนั้นจึงถูกจำคุกในค่ายกักกันเวลา 5 ปี อย่างไรตาม บีบีซีไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงของรายงานดังกล่าวได้
ย้อนไปเมื่อปี 545 ฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลพบแผ่นซีดีมากกว่า 20,000 แผ่นที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเปียงยาง ชอย จุง ฮุน (Choi Jong-hoon) อดีตพลเมืองเกาหลีเหนือผู้แปรพักตร์ เผยว่า "นี่เป็นเพียงมหาวิทยาลัยแห่งเดียวเท่านั้น คุณลองจินตนาการถึงมหาวิทยาลัยทั้งประเทศดูสิ รัฐบาลตระหนกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวมาก นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบทลงโทษถึงมีความรุนแรงมากขึ้น” สอดคล้องกับคำอธิบายทางด้านจิตวิทยาว่า หากประชาชนได้รับรู้ความทันสมัยและความบันเทิงแบบใหม่ของโลกภายนอก แต่เมื่อประชาชนประเทศนั้น ย้อนกลับเผชิญกับโลกความเป็นจริงภายในแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่พอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ จึงต้อง“ตัดไฟแต่ต้นลม”
สอดคล้องกับรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์โรดอง ชินมุน สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลเปียงยาง ตีพิมพ์บทความเตือนประชาชนเรื่อง "วิถีชีวิตที่แปลกใหม่และเสื่อมโทรม" ของระบบทุนนิยม โดยมีเนื้อหาเน้นว่าสังคมเกาหลีเหนือ "ต้องระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยของวิถีชีวิตแบบทุนนิยม ประชาชนชาวเกาหลีเหนือจึงต้องต่อสู้เพื่อกำจัดสิ่งโสมมเหล่านี้"
หนังสือพิมพ์โรดอง ซินมุน หนังสือพิมพ์ของพรรคแรงงานปกครอง ตีพิมพ์บทความเตือนเรื่อง "วิถีชีวิตที่แปลกใหม่และเสื่อมโทรม" ของระบบทุนนิยม โดยเน้นว่าสังคมเกาหลีเหนือ "ต้องระมัดระวังแม้เพียงเล็กน้อยของวิถีชีวิตแบบทุนนิยมและต่อสู้เพื่อกำจัด ของพวกเขา."
จากสถิติขององค์กรสื่อไร้พรมแดน (RSF) ระบุว่า เกาหลีเหนือเป็นประเทศที่มีเสรีภาพสื่อต่ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอยู่ที่ลำดับที่ 179 จากทั้งหมด 180 ประเทศ จีนในฐานะประเทศเพื่อบ้านใกล้ชิดของเกาหลีเหนืออยู่ในลำดับ ไม่ต่างกันในลำดับที่ 177 ขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 137
มีการวิเคราะห์ว่า กฎหมายควบคุมสื่อที่เกาหลีเหนือประกาศใช้นี้ อยู่ในเดียวเวลาเดียวกันกับที่ประเทศกำลังเผชิญสภาวะขาดแคลนอาหาร ดังที่เมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา คิม จอง อึน แถลงยอมรับว่า ประเทศกำลังประสบวิกฤติด้านอาหารเนื่องจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 และพายุไต้ฝุ่น นักวิเคราะห์หลายคน
จึงสรุปคล้ายกันว่ารัฐบาลกำลังปิดกั้นการรับรู้ของประชาชนที่อาจนึกถึงความศิวิไลซ์ผ่านสื่อของเกาหลีใต้และเพื่อป้องกันความคิดที่เป็นภัยต่ออำนาจของผู้นำที่อาจสั่นคลอนอำนาจของรัฐบาล