ไม่พบผลการค้นหา
เปิดกรุผลประโยชน์อันมหาศาลของกองทัพเมียนมา ผ่าน 2 กลุ่มบริษัทยักษ์ผูกขาดหลายธุรกิจ ทั้งละเมิดสิทธิมนุษยชน

กองทัพเมียนมา หรือ ตั๊ดมาดอว์ (Tatmadaw) ครอบครองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอันมหาศาลของเมียนมา ที่ผ่านมา กองทัพเป็นสถาบันอิสระปราศจากการควบคุมหรือตรวจสอบจากอำนาจฝ่ายพลเรือน ตั๊ดมาดอว์อยู่ภายใต้กระทรวงกลาโหม มีบรรดานายพลแถวหน้าของกองทัพซึ่งเลือกแต่งตั้งกันมาเอง มานั่งดูแลผลประโยชนทางเศรษฐกิจอันมหาศาล ภายใต้สอง กลุ่มบริษัท (Holding Company) 2 แห่ง โดยใช้อภิสิทธิ์ของกองทัพในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ เพื่อประกอบธุรกิจ

'วอยซ์' สำรวจแหล่งสมบัติของกองทัพเมียนมาผ่านรายงาน “The economic interests of the Myanmar military” เมื่อปี 2562 ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ที่เปิดเผยว่าตั๊ดมาดอว์เป็นเจ้าของอาณาจักรธุรกิจครอบครอง  "อำนาจทางเศรษฐกิจ" อันมหาศาล

'ตั๊ดมาดอว์' มีบริษัทภายใต้การควบคุมของกองทัพ 2 แห่งคือ  

บริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) และ บริษัท Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. (MEHL) ทั้งสองครอบครองบริษัทไม่น้อยกว่า 106 แห่งในหลากหลายกลุ่มธุรกิจ จำนวนนี้อย่างน้อย 45 แห่งเป็นบริษัทที่ MEHL เป็นเจ้าของโดยตรง ขณะที่ MEC ลงทุนโดยตรงอย่างน้อย 61 บริษัท

สำหรับ Union of Myanmar Economic Holdings Ltd. (MEHL) ก่อตั้งเมื่อปี 2533 มุ่งลงทุนธุรกิจขนาดกลาง อาทิ แปรรูปพลอย-หยก , เฟอร์นิเจอร์, บริการการเงินและประกันภัย, อาหาร เครื่องดี่ม, โรงแรม, นำเที่ยว, แท็กซี่, ขนส่ง, อสังหาฯ และนำเข้า-ส่งออก 

'โฮลดิ้ง' ทั้งสองเป็นเจ้าของบริษัทย่อยหลายสิบบริษัทผ่านการเข้าถือครอง 3 รูปแบบคือ 

  • บริษัทย่อยที่มีเจ้าของ หรือควบคุมโดย MEHL หรือ MEC 
  • บริษัทย่อยที่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดผ่านโครงสร้างโดยตรงกับทั้ง MEHL หรือ MEC 
  • บริษัทที่ MEHL หรือ MEC เป็นเจ้าของหรือลงทุนโดยตรง 100%

สำหรับ MEHL เป็นเจ้าของโรงงานอย่างน้อย 41 แห่ง รวมถึงกิจการผลิตน้ำมันปาล์ม, น้ำตาล, สบู่ และปูนซีเมนต์ ทั้งลงทุนบริษัทด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม 3 แห่ง บริษัทวัสดุก่อสร้าง 4 แห่ง ธุรกิจก่อสร้าง 3 แห่ง ธุรกิจด้านการเงินธนาคารและประกันภัย 5 แห่ง ธุรกิจด้านอาหารเกษตรและประมง  4 แห่ง ธุรกิจภาคท่องเที่ยว 2 แห่ง ภาคการค้าและโลจิสติก 5 แห่ง ภาคเหมืองแร่และอัญมณีทั้งที่ลงทุนโดยตรงและถือหุ้นรวมอีก 31 แห่ง รวมไปถึงบริษัทที่จัดการด้านสกัดหยกและทับทิม

ซูจี-มินอ่องหล่ายน์-เมียนมา

ส่วน MEC ก่อตั้งเมื่อปี 2540 โดย พล.ท.ติน หล่า รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกิจการทหารของพม่าในขณะนั้น เน้นลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างผลกำไรให้กับกองทัพได้ อาทิ ธุรกิจปูนซีเมนต์และยาง ปัจจุบัน MEC มีธุรกิจในเครือครอบคลุมทั้ง แก๊ส, น้ำมัน, เหมืองเหล็ก เหมืองพลอย, หยก, แกรนิต, หินอ่อน, ผลิตยางรถยนต์, เบียร์, ธนาคาร, ท่าเรือ, ผลิตชา-กาแฟ,  จนถึงโทรคมนาคม

สัดส่วนการลงทุนของ MEC หลากหลายคล้ายกันแต่ให้ความสำคัญการอุตสาหกรรมเชิงวัตถุดิบมากกว่า โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมหลากประเภทคือ บริษัทด้านการเงินและการประกันภัยอย่างน้อย 5 แห่ง, ธุรกิจผลิตอาหาร 8 แห่ง, ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง 7 แห่ง และบริษัทในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม 6 แห่ง  

ในบรรดาบริษัทย่อย ทั้งสองครอบครองกิจการธนาคารรายใหญ่ของเมียนมา คือ ธนาคารเมียวดี (Myawaddy Bank) และธนาคารอังวะ (Innwa Bank) โดยข้อมูลของธนาคารโลกพบว่า แค่เฉพาะธนาคารเมียวดี ซึ่งมี MEHLเป็นเจ้าของนั้น มีสินทรัพย์รวมมากถึง 855 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศ ธนาคารนี้ยังถูกใช้เป็นช่องทางให้บริการจ่ายเงินเกษียณให้กับบุคลากรของกองทัพ และสมาคมทหารผ่านศึก ซึ่งแม้ทั้งสองจะเป็นธนาคารรายใหญ่ของประเทศ แต่ไม่ชัดเจนว่าสร้างกำไรให้ตั๊ดมาดอว์มาเท่าไร 

ในรายงานดังกล่าว เผยว่า รายได้จากกิจการเหล่านี้ ทำให้กองทัพมีอิสระทางการเงินจากรัฐบาล อำนาจในการปกครองตนเองของกองทัพแข็งแกร่งขึ้น กำไรจากธุรกิจถูกนำไปใช้ในการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะชนกลุ่มน้อย และความรุนแรงตามแนวชายแดน สอดคล้องกับข้อมูลลับด้านการทูตของสถานทูตสหรัฐฯ รายงานว่า กลุ่มบริษัททั้งสองทําหน้าที่เป็น "องค์ประกอบสําคัญของระบบอุปถัมภ์อันซับซ้อน เพื่อให้ตั๊ดมาดอว์รักษาอำนาจไว้ได้" โดยเน้นลงทุนในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรง สังเกตจากลักษณะของธุรกิจที่มีส่วนสร้างความวุ่นวายตามพื้นที่ของชนกลุ่มชาติพันธุ์ อย่างธุรกิจเหมืองอัญมณี ซึ่งเป็นตัวทำเงินให้ทั้งสองบริษัทอย่างงาม

หนึ่งในคณะผู้ตรวจสอบให้ความเห็นว่า ภายใต้ความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจ แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงสินค้า หรือบริการที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ

ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำห้ามติดต่อการค้ากับกลุ่มบริษัททั้งสองแห่ง รวมไปถึงบริษัทย่อยบางแห่งที่พบหลักฐานเชื่อมโยงใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชน


เมียนมา-ย่างกุ้ง


โฮลดิ้งใต้เงาเหล่าทัพ

MEHL และ MEC เป็นกลุ่มบริษัทที่มีกองทัพเป็นเจ้าของ แต่กลับไม่ได้เป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐวิสาหกิจของเมียนมา หุ้นทั้งหมดใน MEHL ถูกบริหารจัดการโดยบรรดานายพลระดับสูงในกองทัพปัจจุบัน รวมถึงอดีตนายพลเกษียณ และองค์กรที่ดูแลผลประโยชน์ด้านกิจการของกองทัพ

ข้อมูลโครงสร้างบริหารของทั้ง MEHLและ MEC จากรายงานของ OHCHR สามารถระบุได้ว่า มีนายพลระดับสูงในตั๊ดมาดอว์อย่างน้อย 7 คน นั่งในบอร์ดบริหารของ MEHL รวมถึง พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่ายน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดบริหาร, พล.อ.ซอวิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบก เป็นรองประธานกรรมการ นายทหารคนสนิทของมินอ่องหล่ายน์ เป็นเลขานุการคณะกรรมการ นอกจากนั้นยังมีคณะเสนาธิการร่วม เหล่าผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายทหารฝ่ายพลาธิการเมียนมาอยู่ในคณะกรรมการบริษัทด้วย

เมียนมา-กองทัพ
  • ภาพอินโฟกราฟิกแสดงเฉพาะบริษัทที่กองทัพเป็นเจ้าของโดยตรง ไม่นับรวมบริษัทย่อยผ่านการถือครองอื่นๆ อีกนับสิบแห่งในหลายอุตสาหกรรม
กำไรในเงามืด

"ธนาคาร-เหมือง-เทรด-ทัวร์" คือกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่สร้างผลกำไรงามให้ตั๊ดมาดอว์ ข้อมูลรายได้ของทั้ง MEHL และ MEC ไม่เคยปรากฏแน่ชัด รายงานระบุว่ากลุ่มบริษัททั้งสองได้รับการยกเว้นภาษีรายได้และภาษีการค้านานนับสิบปี ระหว่าง 2541 ถึง 2554 แต่ภายหลังจากที่เมียนมาค่อยๆ กลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย เริ่มมีการผลักดันให้บริษัทเอกชนหลายแห่งจดทะเบียนและเปิดข้อมูลการเสียภาษี ส่งผลให้ต่อมาพบข้อมูลทางภาษีว่าทั้ง MEHL และ MEC รวมถึงบริษัทลูกในเครือติดอยู่ใน 11 อันดับแรกของผู้จ่ายภาษีก้อนใหญ่ที่สุดระหว่างปี 2560-2561 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขภาษีของบริษัทโฮลดิ้งทั้งสองแห่งยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบผลประโยชน์และผลกำไรที่ได้รับ

แม้ไม่มีรายงานทางการเงินที่เปิดเผยต่อสาธารณะหรือต่อรัฐสภา แต่พอประเมินได้ว่า ผลกำไรหลายพันล้านดอลลาร์มาจากธุรกิจประเภท น้ำมัน, ก๊าซ, ทองแดง, เหมืองหยก-พลอย และธุรกิจป่าไม้ โดยบริษัทลูกของ MEHL และ MEC ล้วนเป็นเจ้าตลาดธุรกิจเหมืองหยก-พลอยในประเทศ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกหยกรายใหญ่มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ไปยังจีน มีเพียงหยกปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกขายผ่านช่องทางของรัฐที่มีการตรวจสอบและจัดเก็บภาษี 

ธุรกิจเหมืองแร่ที่อยู่ภายใต้ MEC เพียงธุรกิจเดียวก็สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 192 ล้านบาท) หรือเท่ากับ 2% ของรายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมเหมืองที่รัฐจัดเก็บได้ในแต่ละปี อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมเมียนมาเคยเปิดเผยว่า MEC จ่ายภาษีให้รัฐ 55.3 พันล้านจ๊าด (ราว 1,197 ล้านบาท ) ในปี 2561 และอีก 53.8 พันล้านจ๊าด (ราว 1,163 ล้านบาท) ในปี 2562 

กำไรจากธุรกิจเหล่านี้ถูกใช้เพื่อคนในกองทัพ โดยนอกจากบรรดานายพลจะได้ผลกำไรจากการถือหุ้นแล้ว รายได้ยังถูกใช้เพื่อสวัสดิการทหาร โรงเรียนบุตรหลานของทหาร โรงพยาบาลทหาร สนับสนุนพรรคการเมือฝั่งทหารอย่าง พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) สนับสนุนงานมวลชนกองทัพ จนถึงซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ๆ แม้ว่ากองทัพจะได้รับจัดสรรงบจากรัฐบาลในจำนวนสูงอยู่แล้วก็ตาม


กองทัพรับทรัพย์ ประชาชนแบกหนี้

ใช่ว่าทุกธุรกิจที่กองทัพลงทุนแล้วจะไปได้สวย ย้อนไปเมื่อเกือบ 15 ปีที่แล้ว MEC ลงทุนโรงงานถลุงเหล็กในเมืองมยินจาน (Myingyan No.1 Steel Mill) ด้วยเงินกู้ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศจีน แต่ด้วยมาตรการคว่ำบาตรการค้าจากนานาชาติในช่วงนั้นที่เมียนมาอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการทหาร โรงงานแม้จะสร้างผลกำไรบ้าง แต่ก็ได้ทิ้งหนี้ก้อนโตพร้อมดอกเบี้ยเงินกู้ราว 11 ล้านบาทต่อปี ต่อมาโรงงานถลุงเหล็กนี้ถูกโอนไปอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเมียนมาภายใต้รัฐบาลพล.อ.เต็ง เส่ง กระทั่งถูกปิดในปี 2560 เนื่องจากขาดสภาพคล่อง คาดว่ารัฐบาลต้องใช้เวลาถึงปี 2576 เพื่อชำระหนี้จนครบ


เมียนมารัฐประหาร.jpg


ผลประโยชน์มหาศาล สวนทางรายได้รัฐ

ข้อความหน้าเว็บไซต์ MEHL ระบุว่า พันธกิจของบริษัทคือ "เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและเพื่อส่งเสริมมาตรฐานการครองชีพของประชาชนและขจัดความยากจน" อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากองทัพกลับเป็นผู้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของประเทศที่ยังมีอยู่มหาศาล สวนทางกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมเมียนมาที่เป็นประเทศยากจน รัฐบาลพลเรือนต้องอาศัยความช่วยเหลือจากต่างชาติในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน

ข้อมูลปี 2561 จากธนาคารโลกชี้ว่า เมียนมาเป็นประเทศที่รับเงินช่วยเหลือจากต่างชาติสูงสุดในบรรดาชาติอาเซียน รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของอองซาน ซูจี พยายามหลายครั้งที่จะแปรรูปให้กลุ่มบริษัทเหล่านี้ กลายเป็นเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดเพื่อความโปร่งใส แต่ท่าทีของปลัดกลาโหมเมียนมาเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ยืนยันสถานะของ MEC ว่า "เป็นกิจการของทหารเท่านั้น" ขณะที่ พล.จ.ซอมินตุน หนึ่งในกรรมการของ MEC ปฏิเสธว่า กองทัพไม่ได้เป็นเจ้าของหุ้นใดๆ  และทหารหลายนายทำงานให้บริษัททั้งสองเพราะด้วยหน้าที่ อย่างไรก็ดี รายงานจากแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ชี้ว่า MEHL จ่ายผลประโยชน์ให้กับบุคลากรกองทัพไม่น้อยกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 540,000 ล้านบาทในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ผลประโยชน์อันมหาศาลเหล่านี้สร้างความสามัคคีในเหล่าทหารด้วยกันอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่รัฐบาลพลเรือนไม่มีเงินและต้องขอความช่วยเหลือต่างชาติ

เมียนมา-รัฐประหาร

เรียกร้องแข่งกติกาเดียวกับเอกชน 

ที่ผ่านมารัฐบาลเมียนมาภายใต้การนำของพรรคเอ็นแอลดี พยายามดำเนินการในหลายรูปแบบเพื่อปฏิรูปธุรกิจและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจให้โปร่งใส เพื่อเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดให้มีการจดทะเบียนองค์กรธุรกิจ จัดให้เอกชนเข้าประกวดราคา แต่บางส่วนของเศรษฐกิจที่สร้างผลกำไรขนาดใหญ่ยังคงอยูใต้ร่มเงาของกองทัพที่บรรดานายพลและอดีตนายพลเกษียณรับผลประโยชน์อยู่

ครั้งหนึ่งคณะกรรมการการลงทุนและการบริหารบริษัทของเมียนมา เปิดเผยข้อมูลบริษัทที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเหมือง 162 บริษัท จำนวนนี้รวมถึงบริษัทกิจการเหมืองและแปรรูปพลอยที่อยู่ภายใต้บริษัทโฮลดิ้งของกองทัพ หลายบริษัทไม่สามารถปิดเผยข้อมูลได้ว่าใครเป็นผู้บริหาร ใครเป็นผู้ถือหุ้น ในข้อมูลที่ MEHL เปิดเผยต่อคณะกรรมการลงทุนเมียนมา ระบุเพียงว่า ผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นนายพลในตั๊ดมาดอว์สองนาย และนายพลเกษียณหนึ่งนาย นายทหารเหล่านี้ถือครองหุ้นในบริษัท 1 ใน 3 นอกจากนี้ยังเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นอีก 50 ชื่อ ทั้งหมดไม่มีใครดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่จำนวนการถือหุ้นของทั้ง 50 คน คิดเป็นเพียง 1% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท ส่วนหุ้นที่เหลือไม่มีการระบุชื่อ ไม่ต่างกับรายงานผู้ถือหุ้นในบริษัท MEC ที่คลุมเครือ 

แม้กองทัพอ้างว่าบริษัทเหล่านี้มีส่วนช่วยในการแบ่งเบาและลดการพึ่งพางบประมาณของรัฐ แต่ตั๊ดมาดอว์ไม่เคยเผยผลกำไรที่ชัดเจนว่ามีมากเท่าไร และถูกใช้ไปกับเรื่องใด เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เขียนโดยกองทัพ "ให้สิทธิในการบริหารและตัดสินกิจการทั้งหมดของกองทัพโดยอิสระ" ภาคธุรกิจเอกชนหลายแห่งในเมียนมามองว่า เมื่อทหารเข้าสู่วงธุรกิจควรเล่นตามกติกาเดียวกับที่แข่งขันกับเอกชนเจ้าอื่นๆ จึงไม่แปลกที่รัฐบาลซูจีจะพยายามลดบทบาทของกองทัพทั้ง "อิทธิพลเชิงเศรษฐกิจ" และ "อิทธิพลเชิงอำนาจ" ผ่านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรรมนูญเพื่อให้อยู่ภายใต้กติกาเดียว แต่สุดท้ายกองทัพก็ยังเป็นผู้เล่นที่อยู่เหนือกติกาเช่นเดิมหลังจากมีการรัฐประหารยึดอำนาจอย่างง่ายดาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ที่มา : ohchr , ohchr , myanmar-now , frontiermyanmar , wikileaks