เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การรับสมัครเลือกตั้งผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในตำแหน่งนายก อบจ.และสมาชิกสภาจังหวัด(สจ.)ว่า เมื่อคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.)ได้มีประกาศรับสมัครเลือกตั้งนายก อบจ.และ สจ.ในวันพรุ่งนี้(2พ.ย.)แล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนในแนวปฏิบัติของการหาเสียงใดๆ มีการตอบข้อหารือจากสำนักกฎหมายและคดี ของคณะกรรมการเลือกตั้ง ถึงแนวปฎิบัติตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 34 และระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ข้อ15และข้อ18 ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น รัฐมนตรี, ส.ส., ผู้ช่วย ส.ส.ห้ามกระทำการช่วยหาเสียง ขึ้นเวทีปราศรัย หรือขึ้นรูปภาพในป้ายโฆษณาหาเสียงให้กับผู้สมัครนั้น สร้างความสับสนให้กับทั้งผู้สมัครนายก อบจ.,สจ.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยทั่วไปเป็นจำนวนมาก ที่จะต้องช่วยเครือญาติ เพื่อนฝูง หรือผู้สมัครในนามพรรคการเมืองที่ตัวเองสังกัดอยู่หาเสียง
เทพไท กล่าวว่า เมื่อพรรคพลังประชารัฐได้มีมติไม่ส่งสมัคร อบจ.ในนามพรรคทั่วประเทศ ด้วยเหตุผลเกรงจะผิด พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติส่ง ไพรเจน มากสุวรรณ์ ลงสมัครนายก อบจ.สงขลา และกำนันเกตุชาติ เกษา ลงสมัครนายก อบจ.สตูล จะมีปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ และในการช่วยหาเสียงของหัวหน้าพรรค ผู้บริหารพรรคและ ส.ส.ของพรรคกระทำได้หรือไม่ และในขณะเดียวกันถ้ามีการห้ามไม่ให้ ส.ส.ช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครนายก อบจ.นั้น กรณีคนในครอบครัวหรือเครือญาติลงสมัครรับเลือกตั้ง จะช่วยหาเสียงได้หรือไม่ เช่น ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ชัยชนะ เดชเดโช ลูกชายกับ กนกพร เดชเดโช มารดา ที่จังหวัดกาญจนบุรี ศรีสมร รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ ภรรยา กับ รังสรรค์ รัศมีฤกษ์เศรษฐ์ สามี ที่จังหวัดเชียงราย วิสาร เตชะธีราวัฒน์ บิดา กับ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ ลูกสาว ที่จังหวัดนครพนม ศุภชัย โพธิ์สุ บิดา กับ ศุภพานี โพธิ์สุ ลูกสาว ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี วชิราภรณ์ กาญจนะ ลูกสาว กับ ชุมพล กาญจนะ บิดา และยังมีกรณีเช่นนี้ในอีกหลายจังหวัด
ดังนั้น กกต.จะมีแนวปฎิบัติหรือขอบเขตในการหาเสียงอย่างไร ที่ไม่ขัดต่อสภาพความเป็นจริง ถ้าการอ้างแนวปฎิบัติของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา34 และระเบียบของ กกต.มาปฎิบัติอย่างเคร่งครัด จะเป็นการทำลายระบบพรรคการเมือง และเป็นการไม่ส่งเสริมให้พรรคการเมืองทำงานใกล้ชิดกับประชาชนในระดับท้องถิ่น
จึงขอให้คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เร่งออกมาตรการและข้อปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นให้มีความชัดเจน เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.และ สจ. ถ้าหากระเบียบของ กกต.ขัดต่อหลักการหาเสียงที่เคยปฎิบัติกันมา ก็ต้องปรับปรุงแก้ไขระเบียบของ กกต.ใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของการหาเสียงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นเหมือนอดีตที่ผ่านมา