กลางเดือนมกราคมหลังฝนหยุดตก เราตัดสินใจเดินเท้าจาก ซี.เอส. ปัตตานี โรงแรมคู่เมือง ไปบนถนนสายหลักรวมระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่ตึกแถวที่ครึ่งหนึ่งหน้าคือ กำแพงคอนกรีตฉลุลายทาสีฟ้าสบายตา และเป็นสถานที่ตั้งของร้านหนังสืออิสระ ‘บูคู บุ๊กส์ แอนด์ มอร์’ (Buku Books & more)
‘บูคู’ หรือ ‘บูกู’ เป็นภาษามลายูแปลว่า ‘หนังสือ’ ในภาษาไทย ซึ่งความน่าสนใจที่เห็นเป็นรูปธรรมของร้านหนังสือแห่งนี้ก็คือ หนังสือภาษาไทยสไตล์หนักหน่วง สะท้อนความเป็นไปของสังคมบ้านเมือง ที่ทาง ‘อันธิฌา แสงชัย’ ผู้เป็นเจ้าของร้านหนังสือคัดสรรมาด้วยใจแล้ว เสริมทัพด้วยหนังสือที่เขียนด้วยอักษรยาวี ผลงานของกลุ่มนักเขียนในพื้นที่ที่วางจำหน่ายอยู่คู่กัน
นอกจากอันธิฌาจะเป็นเจ้าของร้านหนังสือ อีกด้านหนึ่งเธอยังเป็นอาจารย์สอนวิชาปรัชญาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์วิทยาเขตปัตตานีด้วย ในวันที่นัดพบกับเธอ เป็นเวลาประจวบเหมาะพอดีกับที่กลุ่มคนทำหนังสือในพื้นที่มาจัดกิจกรรมเสวนาเปิดตัวหนังสือภาษามลายูเล่มใหม่ การเสวนาดำเนินด้วยภาษามลายู มีการพูดคุยสลับกับการแสดงดนตรีอะคูสติก อันธิฌายืนอยู่หลังเคาน์เตอร์บาร์กาแฟ คอยบริการเครื่องดื่มให้แก่ผู้ต้องการ
บรรยากาศความหลากหลายที่เกิดขึ้น เป็นภาพที่อันธิฌาบอกว่า เธอฝันอยากเห็นมันเกิดขึ้นในร้านหนังสือที่เธอสร้างมากับมือเมื่อ 7 ปีก่อน ความแตกต่างที่เกิดการแลกเปลี่ยน อันเป็นหัวใจของจังหวัดพหุวัฒนธรรมอย่าง ‘ปัตตานี’
หลังจากงานเสวนาจบลง และผู้มาเยือนกลุ่มใหญ่ร่ำลาเจ้าของร้าน ก่อนอันธิฌาจะมานั่งคุยกับเรา หลายคนอาจจะคุ้นชินกับชื่อเธอในฐานะนักเคลื่อนไหวสิทธิทางเพศ แต่วันนี้ เธอจะเล่าเรื่องราวของร้านหนังสืออิสระแห่งปัตตานีให้ฟัง ตั้งแต่ ณ วันแรกที่ถือกำเนิด จนกระทั่งวันนี้
อันธิฌา : (ยิ้ม) นี่เป็นร้านใหม่ ก่อนหน้าหยุดรีโนเวตปิดร้านไปประมาณปีกว่าๆ เหมือนกัน เพราะเป็นช่วงย้ายจากที่เดิม
ตอนย้ายมามันเป็นช่วงจังหวะต้องตัดสินใจแล้วแหละ เพราะเช่าที่เดิมมาประมาน 3-4 ปี แล้วเจ้าของอยากจะขายที่ตรงนั้น ถ้าจะย้ายมันแปลว่า เราอยากทำร้านต่อ แต่ถ้าไม่ย้ายคือ ต้องเลิกทำ เพราะขี้เกียจทำแล้ว (หัวเราะ) เพราะงั้นเมื่อหลายๆ อย่างมันยังสนุกอยู่ แล้วยังมีแรงบันดาลใจ มีเรื่องอยากทำในร้านหนังสืออยู่ เลยตัดสินใจว่า มองหาที่ใหม่เป็นของเรา จะได้ออกแบบวางแผนว่า จะจัดการพื้นที่อย่างไรได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น เลยกลายเป็นที่นี่ ห่างจากที่เดิมแค่ข้ามถนนมา
อันธิฌา : ย้ายมามันจะคล้ายๆ เดิม คือมีส่วนหลักเป็นส่วนร้านหนังสือ และเป็นส่วนทำกิจกรรม เดิมทีห้องประชุมมันจะเล็กนิดหนึ่ง แล้วเป็นพื้นที่เดียวกันกับร้านหนังสือเลย แต่พอมี 2 ชั้น ข้างล่างจะเป็นร้านหนังสือ คนมาซื้อหนังสือ อ่านหนังสือหรือทำงานได้ ขณะเดียวกันหากจัดเสวนาเป็นแบบเปิดจะใช้พื้นที่ด้านล่าง ให้ชั้นบนเป็นพื้นที่ทำกิจกรรม เป็นห้องกิจกรรม ใช้ประชุม เราเคยจัดเวิร์กช็อปเกี่ยวกับเซลฟ์แคร์ การดูแลตัวเอง เวิร์กช็อปเกี่ยวกับละคร ศิลปะบำบัด หรือนิทรรศการภาพถ่าย
เราตั้งใจจะทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากงานเสวนาอย่างที่เห็น ก็กำลังจะมีอิงลิชคลับ (English Club) พื้นที่เรียนรู้ภาษาอังกฤษ จะเป็นพื้นที่สนับสนุนของคนในชุมชน คนที่อยากได้พื้นที่รียนรู้ภาษาอังกฤษแบบสบายใจ เพราะมันไม่ใช่ลักษณะของห้องที่มีคนสอนแล้วคนมาเรียน แต่เราสร้างพื้นที่ไว้เรียนรู้เหมือนกับว่า มาที่นี่แล้วได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ บางทีเพื่อนชวนมาแล้วคุยกันเอง ชวนกันคุยภาษาอังกฤษกันเอง ซึ่งเป็นกิจกรรมใหม่ที่ค่อนข้างท้าทายสำหรับร้านบูคูเหมือนกัน
อันธิฌา : ร้านหนังสืออิสระขึ้นอยู่กับคาแรกเตอร์แต่ละร้านมากๆ มันไม่มีสูตรสำเร็จ มันไม่อาจหาคำอธิบายที่เป็นอันเดียวกันว่า มันจะต้องทำยังไง หรือมีลักษณะอย่างไร ที่บูคูจะเป็นคาแรกเตอร์แบบหนึ่ง เราคิดว่าเราเติบโตขึ้นในแบบหนึ่ง
ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มันได้รับผลกระทบอยู่แล้ว พฤติกรรมการซื้อของคนเปลี่ยนไป การซื้อออนไลน์ การซื้อจากสำนักพิมพ์ หรือตรงกับนักเขียนมันง่ายขึ้น ไม่จำเป็นจะต้องผ่านร้านหนังสือ ไม่ต้องผ่านสายส่ง หรือคนกลางร้านหนังสืออีกแล้ว ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ดีนะ ทำให้คนเข้าถึงหนังสือได้ง่ายขึ้น ระบบเดิมต่างหากที่สร้างความยุ่งยาก หนังสือบางเล่มมาไม่ถึงปัตตานี มันไม่สามารถส่งมาได้ด้วยหลายเหตุผล แม้กระทั่งเหตุผลว่า ที่นี่ดูไม่ค่อยปลอดภัย ถึงขนาดนั้นเลย (หัวเราะ) ดังนั้น การที่คนซื้อคนขายเขาเชื่อมกันได้โดยตรงมันเป็นเรื่องที่ดีสำหรับหนังสือ แต่มันมีผลต่อร้านหนังสือแน่นอน
สิ่งที่ขาดหายไปในการซื้อหนังสือออนไลน์คือ พื้นที่ที่คนจะได้เจอกัน มีการแลกเปลี่ยน การได้คุยกัน ซึ่งในออนไลน์เราคุยกันแบบหนึ่ง แต่การได้คุยกันในบรรยากาศแบบนี้มันแตกต่างมาก อีกอย่างหนึ่งคือ ยังมีลูกค้าจำนวนหนึ่ง และมีหนังสือบางประเภทเหมาะสมกับการได้หยิบ จับ สัมผัส นั่งดูตัวฮาร์ดก๊อปปี้จริงๆ มากกว่าซื้อออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นนักอ่านหน้าใหม่ นักอ่านหน้าใหม่คือ ยังไม่รู้จักนักเขียน อันนี้ร้านหนังสือจำเป็นสำหรับเขา หรือเยาวชน คนที่เขาอาจจะเพิ่งเข้าสู่โลกการอ่าน การได้หยิบจับหนังสือเป็นเล่มมันจำเป็น เลยเป็นจุดแข็ง หรือจุดที่ร้านหนังสือยังมีความจำเป็นกับชุมชน
แต่ก็ขึ้นอยู่กับร้านด้วยว่า จะคิดหาวิธีการยังไงทำให้ร้านหนังสือมีชีวิตชีวา และยังเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้ ซึ่งเป็นโจทย์หนักแน่นอนของร้านหนังสือ บูคูอาจจะมีจุดแข็งคือ ทำกิจกรรมในร้านหนังสือมาตลอดอยู่แล้ว จุดแข็งตรงนี้อาจจะมีความคึกคักมากกว่าจำนวนคนที่มาซื้อหนังสือจริงๆ เสียอีก แต่มันก็หนุนเสริมกัน ในที่สุดเรามองว่า ร้านหนังสือคือ พื้นที่
อันธิฌา : มีหลายร้าน 4-5 ร้านเฉพาะในตัวเมือง และมีกระจัดกระจายอีก แต่ร้านส่วนใหญ่ไม่ได้จัดกิจกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นร้านขายหนังสือมากกว่า
อันธิฌา : ใช่ 300-400 บาทมากกว่าค่าแรงวันหนึ่งของบางคน ก็เป็นปัญหาคลาสสิก เรื่องราคาหนังสือ คนที่เชี่ยวชาญอาจจะอธิบายได้ดีกว่า แต่ในฐานะเราเป็นปลายน้ำแล้ว เราเป็นคนขาย เรื่องราคาหนังสือเป็นผลกระทบจังๆ เป็นผลกระทบเชิงโครงสร้างด้วย ทำให้คนเข้าไม่ถึงโอกาสในการอ่าน ถ้าหนังสือลดราคาลงมากกว่าประมาณครึ่งหนึ่ง คนเข้าถึงง่ายขึ้นแน่นอน มันอาจจะไม่ได้ยากมากในการหยิบหนังสือเล่มหนึ่งไปจ่ายเงินแล้วลองอ่าน นี่เป็นกำแพงที่มองเห็นได้เลย
อันธิฌา : บูคูตอนนี้พยายามอีกเรื่องหนึ่งคือ ระบบหนังสือมือสอง เรามองว่าหนังสือมือ 2 มันเป็นวิธีการหมุนเวียนหนังสือได้ดี แล้วเราไม่ได้คิดจะทำมันเป็นแบบต้องมานั่งรับซื้อจำนวนมากอะไรแบบนี้ แต่เหมือนเพื่อนกัน หรือชุมชนนักอ่านอยากจะเวียนหนังสือกัน หากเรามีหนังสือที่อ่านแล้ว หรืออ่านแค่ครึ่งเดียว แต่ไม่ได้อยากอ่านแล้ว และมันเหมาะกับคนอื่นที่จะมาอ่าน มันยังทันสมัย เนื้อหา หรือสภาพมันยังดูดี เจ้าของหนังสือก็คิดราคาเองเราก็จะคิดค่าฝากส่วนหนึ่งคือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ เป็นค่าบริหารจัดการร้าน หนังสือมือสองมีจำนวนมาก หนังสือใหม่คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันมันราคาแพง หนังสือมือสองจะมาช่วยแก้ปัญหานี้ นักอ่านหน้าใหม่ถ้าในราคามือสองเขาจะเข้าถึงง่ายกว่า
เคยไปร้านหนังสือที่สหรัฐอเมริกา ร้านเขาน่าสนใจ เพราะเขาขายหนังสือมือสองกับหนังสือใหม่ปนกันเลย ไม่ได้แยกมือสอง หรือหนังสือใหม่ เขาแยกเป็นหมวดเหมือนเดิม ชื่อเรื่องปกเดียวกันด้วยซ้ำ แต่ถ้ามือสองราคาแบบหนึ่ง เล่มใหม่ราคาแบบหนึ่ง ให้คนอ่านได้เห็นๆ แล้วเลือกเลย เราคิดว่ามันทำให้หนังสือปรากฏตัว กระจายตัวได้เท่าๆ กันระหว่างมือหนึ่ง มือสอง แตกต่างกันที่ราคาของมัน
บางคนมีหนังสือเยอะมาก บ้านไม่มีที่จะเก็บ เขาก็ยินดีจะยกหนังสือจำนวนหนึ่งมาแล้วตั้งราคาถูกมากๆ กึ่งๆ จะให้เปล่าอยู่แล้ว เพื่อจะให้มีนักอ่านหน้าใหม่เกิดขึ้น หรือนักเรียน นักศึกษา ที่อาจจะมีทุนทรัพย์น้อย เขาอาจจะซื้อหนังสือได้ง่ายขึ้น เรามองว่าจะเป็นการสร้างชุมชนการอ่าน ตอนนี้เริ่มทำแล้วค่ะ แต่ต้องพยายามเริ่มทำอย่างรอบคอบนิดหนึ่ง เพื่อสร้างระบบที่ดีหน่อย เพราะมีรายละเอียดเยอะ การทำระบบแบบนี้หมายถึงว่า แต่ละคนเอามาฝาก 2 เล่ม 3 เล่ม 5 เล่ม มันจุกจิกนิดหนึ่ง ดังนั้น วิธีคิดระบบต้องรัดกุม ไม่งั้นจะเป็นภาระค่อนข้างหนักหนาทีเดียว
อันธิฌา : มีเพื่อนบางคนเวลาซื้อหนังสือ เขาเลือกซื้อเล่มขี้เหร่สุด เพราะเขาจะคิดว่า ไอ้เล่มขี้เหร่จะไม่มีใครซื้อแน่ๆ (หัวเราะ) การที่เขาซื้อมาแปลว่า หนังสือมันจะได้ไปอยู่ในมือของใครสักคน เล่มสวยๆ เดี๋ยวก็จะมีคนซื้อไป มันจะมีคนที่เป็นแบบนี้ในชุมชนนักอ่าน เขาไม่ได้สนใจว่าหนังสือจะต้องเนี๊ยบยังไง เพราะยังไงเขาก็ต้องอ่าน
อันธิฌา : อื้ม (นิ่งคิด) ตอบได้หลายแบบ กลุ่มที่เป็นนักอ่านจริงๆ นักอ่านเข้มข้น เขาจะอ่านประจำ ในระยะแรกลูกค้าของบูคูคือ นักอ่านกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ซื้อหนังสือต่อเนื่อง เป็นนักอ่านขาประจำอยู่แล้ว เขาจะรู้จักหนังสือเร็วกว่าเราอีก แต่ภาพรวมกว้างๆ แน่นอนว่า มันไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่อื่นของเมืองไทย คืออาจจะไม่ได้อ่านหนังสือจนเรียกได้ว่าเป็นนักอ่าน คนทั่วๆ ไปอาจจะอ่านนิดๆ หน่อยๆ แต่ตรงนี้ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะในที่สุดการมีร้านหนังสือเราก็เจอนักอ่านหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าลูกค้าของทางร้านเป็นไปตามหนังสือที่ทางร้านขาย จะเป็นหนังสือหนักๆ สังคม การเมือง วรรณกรรมจะเข้มๆ นิดหนึ่ง ส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษา นักกิจกรรมบ้าง นักวิชาการ
อันธิฌา : ไม่มีการรวมตัวแบบชัดเจนเป็นชุมชนคนอ่านที่เข้มข้น อย่างที่อื่นอาจจะมีบุ๊กคลับ เราก็มีความพยายามจะทำบุ๊กคลับ แต่มันไม่ได้ง่าย การจะทำเราพบว่ามันก็จะมีคนที่อ่านแล้วก็อ่านประจำ แต่คนที่ไม่ได้อ่าน เขาสนใจแต่ยังไม่ได้เริ่มอ่าน และอยากมานั่งฟัง ในที่สุดบุ๊กคลับเลยเป็นลักษณะของการที่คนอ่านก็อ่านแล้วก็มาเล่าให้คนอื่นฟัง มันยังไม่ได้เป็นการที่ต่างคนต่างอ่านแล้วถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน มันเลยต้องใช้เวลาพัฒนาการอ่านในชุมชน
นัยยะสำคัญคือ เรื่องของภาษา ที่นี่จะมีหนังสือภาษามลายูบ้างก็จริง แต่หนังสือส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาไทย ต้องยอมรับว่า ภาษาเป็นกำแพงอันหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าหนังสือมีความเข้มข้นของเนื้อหา ภาษาจะมีความซับซ้อน ดังนั้น คนท้องถิ่นเองบางทีจะมีกำแพงอยู่บ้าง คือในชีวิตประจำวันอาจจะไม่คุ้นกับการอ่านภาษาไทย หรือการใช้ภาษาไทย การจะมาอ่านหนังสือยากๆ เป็นภาษาไทยก็เป็นเรื่องต้องใช้เวลาเหมือนกัน หลายคนมองว่ามันเป็นเรื่องยาก เด็กน้องๆ รุ่นใหม่ๆ ยังถือว่าเขาพยายามจะอ่าน แต่ต้องใช้เวลาอ่าน อย่างคำบางคำที่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจ มันไม่ใช่ภาษาที่เขาคุ้นเคยนัก
อันธิฌา : หนังสือมีความสำคัญกับคนมานานมาก พูดถึงก็เป็นพันปี แล้วมันสร้างวัฒนธรรมอะไรหลายๆ อย่างขึ้นมา ชีวิตในโลกยุคใหม่แน่นอนว่า หนังสือยังมีบทบาทอยู่ เรายังมีห้องสมุดขนาดใหญ่ แม้ห้องสมุดจะเปลี่ยนตามยุคสมัยก็ตาม
หนังสือ หรือร้านหนังสือ มันเป็นหน้าต่างที่สามารถทำความเข้าใจตัวเอง เข้าใจชีวิต เข้าใจคนอื่น แล้วยังทำหน้าที่นี้มาอย่างยาวนาน และยังทำหน้าที่นี้ แม้มันจะยังมีสื่ออื่นๆ ทำหน้าที่คล้ายๆ กัน แต่หนังสือมันมีความลึกซึ้งเชิงประสบการณ์บางเรื่องมากกว่า อย่างเช่นเวลาอ่านหนังสือ เราได้ใช้สมาธิ ใช้เวลายาวนานกับหนังสือหนึ่งเล่ม หนังสือเรียกร้องว่าเราต้องใช้เวลากับมันมากกว่าสื่อประเภทอื่น น้อยมากที่หนังสือจะใช้เวลาอ่าน 1 หรือ 2 ชั่วโมงจบ ส่วนใหญ่ใช้เวลายาวกว่านั้นมาก บางคนใช้เวลาเป็นวันๆ หลายๆ วันด้วยซ้ำ หนังสือมันเปิดโอกาสให้ได้ใคร่ครวญ ครุ่นคิดกับเรื่องนั้นๆ ในเวลายาวนานมากกว่า
หนังสือยังคงจำเป็นเสมอเมื่อมนุษย์ต้องการมีประสบการณ์แบบนั้น ต้องการที่จะเติบโต ในชีวิต ผ่านประสบการณ์แบบนั้น
อันธิฌา : การทำร้านหนังสือทำให้ได้เจอคน และได้เจอคนหลากหลายจริงๆ เจอน่าจะทุกกลุ่มในปัตตานี นักศึกษาหลายกลุ่ม กลุ่มนักศึกษาที่สนใจประเด็นไม่เหมือนกันด้วย กลุ่มที่เขาไม่อ่านหนังสือเลยก็มา เพราะเขาสนใจอย่างอื่น และมีคนที่อาจจะไม่ได้ชอบอ่านหนังสือมากมาย แต่พอมาทำกิจกรรม หรือมานั่งกินกาแฟ ขนม พูดคุยกันในร้านหนังสือ สุดท้ายเขาก็หยิบหนังสือสักเล่มเปิดดู ทำความรู้จักกัน มีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อการไฟฟ้าเป็นช่าง ชอบอ่านแนวจีนๆ นิยายกำลังภายใน มีแม้กระทั่ง เจ้าหน้าที่ทหารก็เข้ามาเยี่ยมบ้างนะคะ (หัวเราะ) มีมาหลายแบบ มาซื้อหนังสือ กาแฟ คนอ่านหนังสือมีทุกกลุ่ม