ไม่พบผลการค้นหา
‘บรู๊ค เพื่อไทย’ ชู 3 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ กุญแจสำคัญทำคนกรุงไร้จน ทุกครอบครัวรายได้ 20,000 ต่อเดือน , กระเป๋าเงินดิจิทัล , ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 ภายใน 4 ปีที่ได้เป็นรัฐบาล

24 มี.ค. 2566 ดนุพร ปุณณกันต์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง กรุงเทพมหานครพรรคเพื่อไทย ปราศรัยแสดงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘New Income รายได้ใหม่ เพื่อไทยทุกคน’ ในงานปราศรัย ‘คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อคนกรุงเทพฯ’ ที่สเตเดี้ยมวัน ย่านบรรทัดทอง กรุงเทพฯ ว่า 

การคิดใหญ่ของพรรคเพื่อไทยในเรื่องรายได้ใหม่นั้น เป็นการคิดใหญ่บนฐานแนวคิดเดิม คือ ทำอย่างไรให้ฐานรากเรากลับมาแข็งแรง เพื่อพยุงเศรษฐกิจประเทศ จึงเสนอนโยบายด่วน 3 ด้านทำทันทีเลยคือ 1.ครอบครัวไหนมีรายได้รวมไม่ถึง 20,000 บาท เราจะอุดหนุนให้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน 2.เติมเงินให้ทุกคนด้วยนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้จับจ่ายใช้สอยในร้านค้าภายในพื้นที่กำหนด และ 3.เราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็น 600 บาท และเงินตอบแทนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 

ดนุพร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้เหมือนย้อนกลับไปเมื่อปี 2544 ที่เศรษฐกิจไทยดิ่งเหวตกต่ำยากหาทางแก้ไข จนกระทั่งรัฐบาลไทยรักไทย นำโดยนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นต้องชูนโยบายสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจภายใต้แนวคิด “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส”

หลังจากนั้น นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท นโยบาย SMEs นโยบายโอท็อป ล้วนถูกผลักดันออกมาสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจ ประชาชนกลับมามีรายได้ มีเงินใช้จ่าย สร้างความเชื่อมั่นให้ต่างประเทศกล้ากลับมาลงทุนในไทย 

แต่วันนี้ หลังเกิดสถานการณ์ โควิด-19 และเศรษฐกิจถดถอย คนกรุงเทพเกิดปัญหารายได้ขยับขึ้นไม่ทันค่าใช้จ่ายที่พุ่งสูง ส่งผลให้เกิดหนี้สินไปทั่วบ้านทั่วเมือง พรรคเพื่อไทยจึงเสนอนโยบายด่วน 3 ด้านทำทันทีเลยคือ 1.ครอบครัวไหนมีรายได้รวมไม่ถึง 20,000 บาท เราจะอุดหนุนให้มีรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน 2.เติมเงินให้ทุกคนด้วยนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล ให้จับจ่ายใช้สอยในร้านค้าภายในพื้นที่กำหนด และ 3.เราจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็น 600 บาท และเงินตอบแทนปริญญาตรี 25,000 บาทต่อเดือนภายในปี 2570 

พรรคเพื่อไทยจึงจำเป็นที่จะต้อง “คิดใหญ่” บนฐานแนวคิดเดิม คือทำอย่างไรให้ฐานรากกลับมาเข้มแข็ง เพื่อพยุงเศรษฐกิจทั้งประเทศ ที่เรากล้า “คิดใหญ่” ขนาดนี้เพราะเราคิดไว้แล้วครับว่าจะต้องทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ ซึ่งต้องอาศัย 3 องค์ประกอบดังนี้

1.ลูกจ้าง: เมื่อค่าแรงขยับขึ้น ลูกจ้างจะมีกำลังซื้อมากขึ้น เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบทันที

2.ผู้ประกอบการ: เมื่อประชาชนมีกำลังซื้อผู้ประกอบการก็จะได้กำไรมากขึ้น ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าขนส่งต่าง ๆ

3.ภาครัฐ: ลูกจ้างมีรายได้มากขึ้น ผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น รัฐบาลก็จะสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ภาษีที่มากขึ้นจะต้องถูกทำไปใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม เช่น จัดตั้งโครงการขนาดใหญ่เพื่อเพิ่มการจ้างงาน หมุนเงินกลับไปที่ประชาชน

“นโยบายทั้ง 3 ด้าน คือทุกครอบครัวรายได้ 20,000 บาทต่อเดือน นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล และการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน จึงเป็นกุญแจสำคัญพาคนกรุงเทพฯ และประเทศไทยออกจากเศรษฐกิจที่ถดถอยได้แน่นอน” ดนุพร กล่าว