ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ หรือ Deep South Watch และมูลนิธิผสานวัฒนรรม จัดเสวนาโต๊ะกลม สันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ จชต. : โอกาสการขยายตัวของความรุนแรงและบทบาทคนนอก ที่ห้องจุมภฏ-พันธ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี ชั้น 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นายรอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการเว็บไซต์ Deep South Watch กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะรา นราธิวาส และ 4 อำเภอของสงขลา ระหว่างเดือนมกราคม 2547 -มิถุนายน 2562 จากเหตุรุนแรงทั้งหมด คือ การยิง 81%,ระเบิด 10 %, โจมตี 2% และ การทำร้ายร่างการ 3 % อื่นๆ 4 %, ส่วนใหญ่คือพลเรือนที่ตกเป็นเหยื่อถึง 71 %
โดยมองว่า ภาครัฐเปลี่ยนวิธีการรับมือสถานการณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังนโยบายรัฐบาล ตั้งแต่ยุค คสช. คือ กลับมาสู่การป้องกันและปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบมากขึ้น มีแผนการพัฒนาและลดความรุนแรง รวมถึงทำลายโครงสร้างของขบวนการ BRN อย่างชัดเจน ซึ่งเอกสารนโยบายของ คสช.ยืนยันว่า รัฐบาลกังวลและไม่บรรลุผลได้ คือการจำกัดสายพานการผลิตนักรบรุ่นใหม่หรือผู้สนับสนุน BRN และแม้มีการพยายามสร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมในไทยและต่างประเทศ แต่มุ่งสร้างความเข้าใจเพื่อไม่ให้องค์กรเหล่านี้ ไม่เป็นอันตรายต่อหน่วยงานรัฐ
นายรอมฎอน เสนอว่า สิ่งที่คนนอกพื้นที่ทั้งต่างชาติและคนไทย ควรทำความเข้าใจปัญหาชายแดนใต้ คือ ความรุนแรงอาจลดลง แต่ความขัดแย้งไม่ได้ถูกจัดการหรือคลี่คลาย และโอกาสที่ทั้งความรุนแรงและขัดแย้งจะขยายเพิ่มยังมีอยู่ โดยมองว่า ที่ผ่านมาภาครัฐพยายามทำให้ไม่เห็น "ความขัดแย้ง" ที่ดำรงอยู่ในพื้นที่ แม้แต่ในถ้อยคำที่ใช้ในภาษาทางการและภาษาอังกฤษ อย่างคำว่า สันติสุข ไม่ใช้ สันติภาพ, ใช้คำว่า ความรุนแรง ไม่ใช้คำว่าความขัดแย้ง หรือการเปลี่ยนชื่อเรียกผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้ก่อความรุนแรง
นางลม้าย มานะการ นักเคลื่อนไหวทางสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ด้วยข้อจำกัดทางภาษารวมถึงศาสนาและวัฒนธรรม ทำให้ช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีมากกว่าคนไทยพุทธ ขณะที่ช่องว่างของชาวพุทธกับชาวมุสลิมโดยภาพรวม เพิ่มขึ้นสูงมากนับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยชาวมุสลิม เชื่อว่า ทหารเป็นผู้กระทำและสร้างความรุนแรง ขณะที่ชาวพุทธมองว่า ผู้ก่อความรุนแรงคือมุสลิม ที่สำคัญคือ นับจากปี 2559 ชาวพุทธในพื้นที่เองได้เริ่มแบ่งแยกประชาสังคมที่เป็นชาวพุทธ หากทำกิจกรรมกับมุสลิมหรือเรียกร้องให้ภาครัฐเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จะถูกกล่าวหาว่าเป็น NGOs ของฝ่ายขบวนการ และยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองเป็น"แนวร่วมด้านกลับ" ซึ่งปัจจุบันบางแห่งมีการรณรงค์หรือห้ามไม่ให้ชาวพุทธ นำอาหาร"ฮาลาล" ไปถวายพระด้วย
นางลม้าย กล่าวว่า ปี 2556 ภาครัฐเริ่มเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา จากที่ก่อนหน้านั้นรัฐกับฝ่ายขบวนการเจรจากันเองในทางอย่างลับ ดังนั้น นโยบายภาครัฐจึงสำคัญมาก เพราะเป็นตัวเปิดให้มีการทำงานและแก้ปัญหาในพื้นที่ร่วมกัน พร้อมยืนยันว่า ถ้าต้องการการกระจายอำนาจการปกครอง ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่ถึงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพื้นที่ และต้องเข้าใจบริบทของปัญหาที่มีคนไม่น้อย ทั้งจาก "กรณีตากใบ" ปี 2547 และจากปฏิบัติการของทหารต่อเนื่องมา ได้รับแรงกดดันและไม่กล้ากลับบ้าน และหันไปเข้าร่วมกับขบวนการผู้ก่อความไม่สงบด้วย
ขณะที่ พระมหานภันต์ สันติภัทโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ระบุว่า กระบวนการสร้างสันติภาพ ต้องให้ทุกคนไม่ว่าอยู่ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่และไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดเข้ามามีส่วนร่วมที่สำคัญ ต้องไม่ความเอาความขัดแย้งทางการเมืองและศาสนามาแบ่งแยกคนให้เลือกฝ่าย ผ่าน Hate Speech ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า มีผู้นำแนวคิดทางศาสนามาเป็นอคติและขยายความขัดแย้งด้วย โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์ 9-11 ที่สหรัฐอเมริกา
พระมหานภันต์ เสนอว่า ทุกคนไม่ควรกันตัวเองออกไปเป็น"คนนอก" อีกต่อไปสำหรับการสร้างสันติภาพ เพราะความจริงแล้วไม่มีใครเป็นคนนอกในการช่วยสร้างสันติภาพ โดยเห็นว่า การเปิดพื้นที่หัวใจของตัวเอง อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้มองเหตุการณ์ต่างๆในอีกมุมหนึ่ง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม เพราะบางอย่างไม่ได้เป็นอย่างที่คนเราคิด และหากเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดจริงๆ การเผื่อใจไว้จะทำให้เรามองข้อเท็จจริงอีกด้าน หรือเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองได้ ที่สำคัญ หากเป็นผู้ที่มีบทบาทไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ, สื่อมวลชนหรือผู้บริหาร ก็จะเปลี่ยนทัศนคติของคนรอบข้างได้ด้วย
พระมหานภันต์ ย้ำว่า ไม่ควรใช้ มิจฉาทิฏฐิ หรือ ความเห็นผิด ต่อสถานการณ์ แต่ควรมีสัมมาทิฎฐิ หรือความเห็นถูก โดยใช้ปัญญาและเหตุผล แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องเข้าใจอารมณ์ของคนที่เดือดร้อนหรือคนอยู่ในพื้นที่ด้วย เพราะทุกคนล้วนมีความรู้สึก และการสร้างสันติจะเกิดขึ้นได้โดยตรงจากในใจคนเรา แต่ก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องร่วมกันออกแบบโครงสร้างกลไกที่เอื้อต่อการนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงและยั่งยืนด้วย
นางอัญชนา หีมมีนะห์ นักสิทธิมนุษยชนจาก "กลุ่มด้วยใจ" ระบุว่า ความขัดแย้งเกิดจากรากเหง้าและเรื่องของดินแดน แต่จะถูกกันแยกโดยตัวเลขความขัดแย้ง ระหว่างพุทธและมุสลิม โดยความสูญเสียเป็นไปตามสัดส่วนประชากรในพื้นที่ ซึ่งชี้วัดว่าทุกคนไม่ว่าพุทธหรืออิสลามล้วนถูกกระทำเท่ากัน จึงไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกทางศาสนา ขณะที่การบาดเจ็บล้มตายลดลงตามสถิติ แต่ยังการสะท้อนถึงความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ ทั้งการถ่ายภาพ, จับกุม, การตรวจค้นต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆในพื้นที่สามารถรับรู้ถึงความรุนแรงได้ ที่ชัดเจนคือ การจับกุมควบคุมตัวเพิ่มขึ้นในลักษณะเหมารวม ทั้งเด็กสตรีและคนชรา โดยเฉพาะผู้นำทางศาสนา เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในชุมชนหรือพื้นที่ใกล้เคียง
นางอัญชนา กล่าวด้วยว่า การที่ขบวนมีนักรบหรือแนวร่วมรุ่นใหม่เกิดขึ้น เพราะคนรุ่นใหม่ยุคปัจจุบันเติบโตท่ามกลางความรุนแรงเมื่อสิบกว่าปีก่อน คือได้รับรู้การที่พ่อแม่ ญาติพี่น้องถูกควบคุมตัวหรือถูกปฏิบัติการต่อหน้า โดยมีหลายครอบครัวที่ถูกควบคุมตัวหรือถูกกระทำซ้ำหลายครั้ง ทำให้มีสมาขิกในครอบครัวต้องหลบหนีเพราะทนไม่ได้ สุดท้ายก็ถูกวิสามัญฆาตกรรม และมองว่า ปฏิบัติการทางทหารของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้มข้นขึ้น จากการใช้กฎหมายพิเศษ และนำมาซึ่งความรุนแรงหลายรูปแบบ
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหาร จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. เสนอความเห็นระบุว่า ทุกฝ่ายอาจต้องทบทวนการแก้ปัญหาชายแดนใต้ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นการแก้ปัญหาไปคนละทิศละทาง ด้วยการใช้ความมั่นคงนำและการทหารนำการเมืองหรือไม่ ซึ่งอาจสะท้อนได้ว่าคนในพื้นที่ไม่ได้มีปัญหา แต่ความคิดของผู้จะแก้ปัญหาอาจมีหรือเป็นปัญหาเสียเอง แม้มีการบอกว่าใช้จะการเมืองนำการทหาร แต่ในพื้นที่จริง แม่ทัพภาค 4 ใช้ภาวะนำการแก้ปัญหาทั้งหมด
พ.ต.อ.ทวี เสนอว่า ปัญหาชายแดนใต้ต้องให้คนในพื้นที่เป็นคนแก้ไขเพราะบางที "คนหวังดี" กับ "คนรู้ดี" ต่างกัน รู้ดี คือคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่คนหวังดีก็มีความจำเป็นแต่ต้องทบทวนบทบาทด้วย ที่สำคัญแนวทางเจรจาสันติภาพไม่ได้สิ้นเปลืองงบประมาณ และเป็นแนวทางที่นำไปสู่การหาทางออกได้ แต่ต้องไม่ให้จำกัดวงอยู่ในเฉพาะฝ่ายความมั่นคงอย่างเดียว เพราะในปัจจุบันมีภาวะรัฐซ้อนรัฐ ที่ชาวบ้านและตามหลักวิชา คือ ภาวะที่มีฝ่ายความมั่นคงหรือทหารซ้อนทับอำนาจรัฐอยู่ ขณะที่ภาครัฐ มองภาวะรัฐซ้อนรัฐคือ ฝ่ายกระบวนการฯ ที่สำคัญคือ ต้องทำให้พื้นที่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่ปกติธรรมดา ไม่ต้องเป็นพื้นที่พิเศษ โดยต้องทำให้กฎหมายพิเศษทั้ง กฎอัยการศึกกฎหมายความมั่นคง พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯและอื่นๆ เป็นเนื้อเดียวกัน
พ.ต.อ.ทวี กล่าวด้วยว่า นับแต่ปี 2549 รัฐมีนโยบายที่ผิดพลาด ที่นำทหารและข้าราชการลงพื้นที่และทำให้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้คนทั้งประเทศเกิดความเกลียดชังและเจ็บปวดกับเหตุการณ์ในชายแดนใต้ ถึงที่สุดแล้วจำเป็นต้องใช้ความเป็นธรรมนำการเมืองและการทหาร เพราะที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเข้าร่วมกับกระบวนการฯ เพราะคิดว่าเป็นการแก้เเค้นรัฐ จากการที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม