ไม่พบผลการค้นหา
สื่ออาวุโสชี้ 'สถานการณ์เกาหลีเหนือ-ปัญหารัฐยะไข่-แนวคิดอินโดแปซิฟิก' จะเป็นประเด็นร้อนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพ ขณะที่รองอธิบดีกรมอาเซียนเชื่อมั่น การประชุมครั้งนี้จะนำไปสู่ความมั่นคงยั่งยืนในทุกด้าน

นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน พร้อมด้วยนางสาวอุศนา พีรานนท์ รองอธิบดีกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมแสดงทัศนะในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา เรื่อง "ส่องสาระประเด็นร้อน ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34" ที่ห้องอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (16 มิ.ย.2562) โดยมีกรชนก รักษาเสรี รองบรรณาธิการข่าว หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมอาเซียน กล่าวว่า ในโอกาสที่ไทยเป็นประธานอาเซียน มีประเด็นสำคัญในการประชุม คือ การเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง มุ่งสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ โดยจะมีการพูดคุยในประเด็นการบริหารจัดการชายแดน การมุ่งสู่การเป็นดิจิตอลอาเซียน การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมอย่างไร้รอยต่อ ความเป็นแกนกลางของอาเซียนเพื่อดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

โดยผลลัพธ์สำคัญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้คือวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน เครือข่ายสมาคมอาเซียนเพื่อสร้างความตระหนักรู้เรื่องอาเซียน ปฏิญญาและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล แผนงานสำหรับปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน 2019 และแนวคิดอาเซียนเกี่ยวกับเรื่องอินโด-แปซิฟิก

นายกวี จงกิจถาวร สื่อมวลชนอิสระอาวุโส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องอาเซียน ถามว่าในการที่ไทยเป็นประธานอาเซียนครั้งนี้ทำให้ไทยต้องเตรียมตัวมานานเกือบ 2 ปีล่วงหน้า ไม่ใช้กระดาษในการประชุม green meeting paperless โดย 5 เดือนกว่าที่ผ่านมาประชุมระดับสูง 10 ครั้ง ประชุมในระดับอื่น 120 ครั้งเพื่อถกสารัตถะและวาระการประชุมเตรียมเอกสารประชุม มีเอกสาร 17 ฉบับเป็นผลลัพธ์ และที่สนามบินสุวรรณภูมิจะมี Asian Lane พิเศษรองรับ

ในวันแรก วันที่ 22 มิ.ย.เป็นการประชุมเต็มคณะร่วมกัน ใช้เวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง มีวาระเดียวคือการสร้างประชาคมอาเซียน เน้นการสนองแนวคิด "ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน" โดยไทยจะเป็นผู้นำพูดก่อน ตามด้วยเวียดนามในฐานะประธานอาเซียนปีหน้า และตามด้วยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน

วันที่สอง วันที่ 23 มิ.ย.จะมีพิธีเปิด ตามด้วยการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะมีการคุยกันได้ในทุกเรื่องแล้วแต่ผู้นำจะหยิบยกขึ้นมา โดยมี 4 ประเด็นสำคัญที่อาจจะพูดถึง คือผลกระทบสงครามการค้าสหรัฐกับจีน RCEP การปฏิรูปองค์การการค้าโลก แนวคิดอินโด-แปซิฟิก สถานการณ์ในเกาหลีเหนือ สถานการณ์ในทะเลจีนใต้ ปัญหารัฐยะไข่ IUU นอกจากนี้ยังหาจุดยืนร่วมกันเพื่อนำไปถกร่วมกับผู้นำพูดจาในกรอบเจรจาวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 2019

นายกวี ย้ำว่า ประเด็นแนวคิดอาเซียนเรื่องของอินโดแปซิฟิกนี้ ถือว่าเป็นกรอบความร่วมมือในที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง คืออินเดีย+แปซิฟิก เท่ากับอินโดแปซิฟิก โดยมีหลักการ 5 ข้อใหญ่ คือ โปร่งใส เคารพกฎหมาย กติกาสากล แกนกลางอาเซียน และไม่ทิ้งใคร โดยจะเน้นโครงการเกี่ยวกับการเชื่อมโยงและการพัฒนาที่ยั่งยืน แนวคิดนี้ถือเป็นผลงานที่สำคัญของไทย 

ขณะที่ถือเป็นความสำเร็จที่ไทยสามารถดึงอาเซียนเข้ามาร่วมถกแก้ประเด็นปัญหารัฐยะไข่ได้ ส่วนประเด็นปัญหาสถานการณ์ในเกาหลีเหนือนั้นถือว่ามีผลกระทบต่ออาเซียน จากการที่เกาหลีเหนือได้ทดลองยิงอาวุธนิวเคลียร์ระยะกลางซึ่งสามารถยิงถึงเมืองหลวงของกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมดได้ โดยไทยเป็นตัวจักรสำคัญในการแก้วิกฤตเกาหลีเหนือ และเป็นประเทศที่มีผู้พักพิงจากเกาหลีเหนือมากที่สุดด้วย

ก่อนจะมีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เกิดเหตุการณ์เรือประมงขนชาวโรฮิงญาเกยตื้นที่เกาะราวี จ.สตูล เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ไต้ก๋งชาวไทย พร้อมด้วยลูกเรือชาวเมียนมา รวม 6 ราย เป็นผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับขบวนการค้ามนุษย์ เป็นหนึ่งในปัญหาสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา เพราะชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายแสนคนถูกขับไล่หรือต้องอพยพลี้ภัยทางการเมือง รวมถึงผู้ที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: