ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการอิสระเผยผลสอบสวนกรณีสถิติผู้บริจาคอวัยวะในจีน 'ไม่ตรง' กับสถิติการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะทั้งหมดในแต่ละปี นำไปสู่ข้อสรุปว่ารัฐบาลจีนรู้เห็นให้นำอวัยวะของนักโทษในประเทศไปผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายให้แก่ผู้ที่ต้องการ ขัดต่อหลักมนุษยธรรม

คณะกรรมการอิสระที่อาสาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปลูกถ่ายอวัยวะเถื่อนในจีน (China Tribunal) จัดการแถลงข่าวที่กรุงลอนดอนของอังกฤษ เมื่อ 17 มิ.ย.2562 โดยระบุว่า พบหลักฐานบ่งชี้ บุคลากรในรัฐบาลจีนมีส่วนรู้เห็นกับ 'อุตสาหกรรมปลูกถ่ายอวัยวะเถื่อน' ซึ่งเป็นการลักลอบนำอวัยวะของนักโทษทางความคิด (prisoner of conscience) ไปผ่าตัดให้แก่ผู้อื่น โดยนักโทษทางความคิดส่วนใหญ่คือผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาล เช่น สมาชิกลัทธิฟาหลุนกง ชาวมุสลิมอุยกูร์ และชาวคริสต์ในจีน ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น 'นักโทษการเมือง'

การเก็บรวบรวมข้อมูลและประเมินผลสอบสวนเกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และกฎหมาย ซึ่งอาศัยข้อมูลจากหลายแหล่งรวมกัน ทั้งสถิติการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะที่เกิดขึ้นทั่วประเทศจีน สถิติผู้บริจาคอวัยวะ รวมถึงการสอบปากคำอดีตนักโทษทางความคิดในจีนที่เคยถูกควบคุมตัวและต้องเข้ารับการตรวจร่างกาย พบว่าการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะในจีนแต่ละปีนั้นอยู่ที่ประมาณ 60,000-100,000 ครั้ง ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงนามบริจาคอวัยวะที่มีอยู่ปีละประมาณ 10,000 รายเท่านั้น

นอกจากนี้ คณะกรรมการอิสระยังระบุด้วยว่า บุคลากรการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศของจีน สามารถดำเนินการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะให้แก่ผู้ที่ต้องการผ่าตัดได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทั้งยังตรวจพบว่าหน่วยงานการแพทย์ทั้งในสังกัดและนอกสังกัดของรัฐบาลจีนมักจะพัฒนาและจัดหาอุปกรณ์ดำเนินการผ่าตัดล่วงหน้า แม้ว่าจะยังไม่มีการยืนยันเรื่องผู้บริจาคอวัยวะอย่างเป็นทางการ  

เซอร์ เจฟฟรีย์ ไนซ์ อดีตอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้ดำเนินการเอาผิดสโบดาน มิลอซเซวิช อดีตผู้นำยูโกสลาเวีย ผู้ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในอดีต เป็นหัวหน้าคณะกรรมการอิสระ China Tribunal กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์สมาชิกลัทธิฟาหลุนกงและชาวมุสลิมอุยกูร์ที่เคยถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัว พบว่ามีการเก็บตัวอย่างเลือดและตัวอย่างเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ โดยระบุว่าเป็นการตรวจสุขภาพ 

ไนซ์ยืนยันว่า ขั้นตอนดังกล่าวไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และอาจจะเข้าข่ายการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เพราะกระบวนการเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการฆาตกรรม การทรมาน และการบังคับจิตใจผู้เป็นเจ้าของอวัยวะ 


Reuters-นักวิจัยในเมืองมิวนอกของเยอรมนีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหวังปลูกถ่ายอวัยวะโปร่งใสเพื่อการสแกนและพรินต์3มิติในอนาคต-3.JPG

สื่อต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งเดอะการ์เดียน, ฟอร์บส และมูลนิธิทอมป์สันรอยเตอร์ส รายงานผลการสอบสวนของ China Tribunal โดยระบุว่าเป็นการเปิดโปงกระบวนการ 'เก็บเกี่ยวอวัยวะมนุษย์' ที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นและดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน

เนื้อหาในรายงานระบุว่า กระบวนการเก็บเกี่ยวอวัยวะมนุษย์ยังดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยสมาชิกฟาหลุนกงซึ่งถูกรัฐบาลจีนปราบปรามและจับกุมนับตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ถือเป็น 'แหล่งอวัยวะ' ที่สำคัญที่หน่วยงานรัฐบาลจีน 'เก็บเกี่ยว' ไปใช้ในการผ่าตัดผลูกถ่ายอวัยวะทั่วประเทศ

เจนนิเฟอร์ เจิ้ง สมาชิกฟาหลุนกงที่เคยถูกกักตัวในค่ายแรงงานจีน เปิดเผยกับเดอะการ์เดียนว่า เธอหลบหนีออกจากประเทศจีนเมื่อปี 2001 แต่ช่วงที่ถูกกักตัวในจีนเคยถูกส่งไปเก็บตัวอย่างเลือดและตรวจร่างกาย โดยเจ้าหน้าที่ของจีนกล่าวว่าเป็นการตรวจสุขภาพตามปกติ อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกกักตัวจะถูกห้ามไม่ให้พูดคุยกัน ทำให้เธอไม่อาจทราบได้ว่า สมาชิกฟาหลุนกงที่เคยถูกกักตัวรายอื่นๆ ได้รับการปล่อยตัวหรือมีชะตากรรมอย่างไร

ขณะที่รอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำคำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงลอนดอน ซึ่งยืนยันว่า กระบวนการบริจาคอวัยวะและผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะในจีนดำเนินไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมการแพทย์ของ WHO และหวังว่าประชาชนชาวอังกฤษจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2015 รัฐบาลจีนเคยยอมรับว่ามีกระบวนการบังคับให้นักโทษที่ถูกตัดสินลงโทษประหารชีวิตลงนามบริจาคอวัยวะ เพื่อส่งเข้าระบบธนาคารอวัยวะของรัฐบาลจีน และนำไปเปลี่ยนถ่ายให้แก่ผู้ป่วยทั่วประเทศตามลำดับและความจำเป็น โดยอวัยวะจากนักโทษประหารคิดเป็นจำนวนถึง 2 ใน 3 ของบรรดาอวัยวะที่ถูกบริจาคให้แก่ผู้ป่วยชาวจีน ซึ่งวิธีการนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ใช่การสมัครใจบริจาค ทำให้รัฐบาลจีนแถลงว่าจะยกเลิกมาตรการนี้ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีกฎหมายใดๆ ออกมาเพื่อควบคุมการบังคับบริจาคอวัยวะในจีน

Photo by oldskool photography on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: