น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการสวัสดิการสังคมคนที่ 3 พร้อมด้วยนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน ได้แถลงข่าวถึงปัญหาและสถานการณ์ภาพรวมของระบบแรงงานไทย โดยระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ชะลอตัวอย่างรุนแรงในปี 2562 ทั้งภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และภาคบริการ ส่งผลให้ไม่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำแม้ว่าเวลาจะล่วงมาถึงเดือนที่ 10 ของปีแล้ว ซ้ำร้ายขณะนี้ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศกำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงในการทำงาน จากข้อมูลที่ผู้ประกันตนตามสิทธิประกันสังคมขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสาเหตุการเลิกจ้าง ในเดือนม.ค. – ก.ค. ของปี 2552 ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอเกอร์ที่สหรัฐฯ เทียบกับปี 2562 ในช่วงเดือนเดียวกันนั้น พบว่า ปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้างสูงกว่าปี 2552 ถึงประมาณร้อยละ 24 ในปี 2552 มีผู้ถูกเลิกจ้างจำนวน 152,751 คน ในขณะที่ ปี 2562 มีผู้ถูกเลิกจ้างเฉพาะเดือนม.ค. – ก.ค. ไปแล้วจำนวน 190,002 คน
น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในเดือนก.ค. 2562 มีจำนวนผู้ว่างงานทั้งสิ้น 436,000 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้นถึง 5,400 คน ขณะที่จากข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม เดือน ส.ค. 2562 มีผู้ว่างงานเฉพาะแรงงานในระบบที่ขึ้นทะเบียนว่างงานจํานวน 184,291 คน ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 9.26 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และในสถานการณ์เช่นนี้ พบว่า มีการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง โดยในหลายกรณีเป็นการเลิกจ้างโดยละเมิดกฎหมายแรงงาน เช่น เลิกจ้างโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ไม่จ่ายค่าชดเชยหรือสิทธิประโยชน์อื่นที่ลูกจ้างควรได้รับ นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนสภาพการจ้างที่ขัดกับเงื่อนไขการจ้างหรือลดทอนสวัสดิการของคนงาน เป็นต้น
น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า นายจ้างบางรายยังฉวยโอกาสเลิกจ้างพนักงานโดยอ้างเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำ เพื่อย้ายฐานการผลิตไปยังพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษซึ่งได้รับการอุดหนุนการลงทุนและสิทธิพิเศษจากรัฐบาล ปล่อยให้ลูกจ้างถูกลอยแพโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย และไม่ใช่เพียงแค่ภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น ธุรกิจสื่อก็มีการเลิกจ้างอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้ถูกเลิกจ้างเฉพาะธุรกิจสื่อมากกว่า 14,930 คน อีกทั้งภาครัฐเองยังเป็นตัวอย่างของการไม่คุ้มครองสิทธิแรงงานและการไม่ปฏิบัติตามแนวทางการจ้างงานที่มีคุณภาพ เช่น มีการส่งเสริมการจ้างงานแบบเหมาช่วงค่าแรงซึ่งจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำและไม่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐาน มีการเลิกจ้างแรงงานภาครัฐอย่างไม่เป็นธรรมโดยอ้างว่าไม่มีงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นครูอัตราจ้าง หรือเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดตามโรงเรียน เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนในวงกว้างอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ด้านนายสุเทพ กล่าวว่า สถานการณ์การเลิกจ้างยังส่งผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบ กลุ่มอาชีพอิสระ ซึ่งมีอำนาจต่อรองน้อย พรรคอนาคตใหม่มีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังนี้ 1. กระทรวงแรงงานต้องมีมาตรการที่จริงจังในการปกป้องสิทธิของลูกจ้าง และตรวจสอบนายจ้างที่จงใจละเมิดกฎหมายแรงงานอย่างเข้มงวด รวมทั้งขึ้นบัญชีดำนายจ้างที่จงใจละเมิดกฎหมายแรงงาน 2. ในสถานการณ์เช่นนี้ ให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อติดตามปัญหาการเลิกจ้างและประเมินผลกระทบอย่างจริงจัง เพื่อทำงานเชิงรุก โดยให้มีตัวแทนจากทั้งภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคมเข้าร่วม 3.รัฐไทยได้เข้าร่วมกับปฏิญญาที่เกี่ยวข้องกับ Decent Work งานที่มีคุณค่าหลายฉบับ ดังนั้น แนวทางการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐที่มีลูกจ้างที่ไม่ใช่ข้าราชการมากกว่า 9 แสนคน ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ไม่ต่ำกว่ากฎหมายแรงงาน 4. รัฐบาลไทยต้องเร่งรับอนุสัญญา ILO 87-98 เพื่อรับรองสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานทุกประเภท
"ค่าจ้างขั้นต่ำประมาณ 300 หรือ 325 บาท ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ กินข้าวมื้อละ 50 บาท หนึ่งวัน 3 มื้อ ก็เป็นเงิน 150 บาทแล้ว ยังไม่รวมค่าเช่าบ้าน และของอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันอีก สิ่งเหล่านี้จะเห็นว่าพี่น้องต้องตรากตำทำงานอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง จึงทำให้เห็นว่า ในขบวนการแรงงานเป็นชีวิตแบบ ‘โอน้อยออก คือถ้าไม่มีโอออกแน่นอน’ หมายความว่า ถ้าไม่มีการทำงานล่วงเวลาชีวิตก็จบ จึงอยากวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ออกมาแก้ไขปัญหานี้" นายสุเทพ กล่าว
เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลเห็นควรอย่างไร หากมีการขึ้นค่าแรงจะกระทบกับผู้ประกอบการหรือไม่ น.ส.วรรณวิภา กล่าวว่า ไม่ได้ท้วงติงกับนโยบายขึ้นค่าแรงของรัฐบาล แต่เห็นว่าควรจะมีการปรับโครงสร้างค่าแรงทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะภาคแรงงานอย่างเดียว ทั้งนี้พรรคอนาคตใหม่เตรียมร่างพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ เข้าสู่สภาฯ ซึ่งขณะนี้ร่างเสร็จแล้ว