ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการ สมช. ไม่หวั่นสถานการณ์การเคลื่อนไหววันชี้ชะตา 'ประยุทธ์' 8 ปี เผย ศปก.ศบค.ชง ศบค. 23 ก.ย. เคาะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ยุบทิ้ง ศบค. ยังตอบไม่ชัดเลิกสวมหน้ากากอนามัย ต้องค่อยเป็นค่อยไป ชี้ยังมีคลัสเตอร์กลุ่มย่อย

วันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวถึงการจับตาสถานการณ์ทางการเมืองวันที่ 30 ก.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยประเด็นดำรงค์ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะมีมาตรการรองรับอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ว่า ไม่มี เป็นเรื่องปกติหน่วยงานความมั่นคงรับทราบดีว่าแต่ละห้วงเวลามีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษก็เตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งการข่าวก็ไม่มีรายงานการเคลื่อนไหวอะไรเข้ามา มีเพียงที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่าจะมีใครออกมาเคลื่อนไหวบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องปกติแต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เราต้องอยู่ในความเรียบร้อย อย่างไรก็ตามทุกวันนี้เราก็เห็นมีการเคลื่อนไหวอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรถ้าทำตามกฎหมายสามารถทำได้ 

เมื่อถามว่า กรณีจะมีการยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะมีผลอะไรต่อการดูแลสถานการณ์การเมืองหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่มี เพราะเรามีกฎหมายรองรับเรื่องต่างๆ ไว้ชัดเจนอยู่แล้ว กฎหมายพิเศษหมดไปกฎหมายปกติก็กลับมาบังคับใช้ 

ขณะที่การประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด– 19 (ศปก.ศบค.) ในวันนี้ ที่ประชุมวันนี้การหารือเรื่องสำคัญ ได้แก่การรับทราบสถานการณ์ปัจจุบัน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศให้ประชาชนทราบว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ โดยมีผู้ป่วยลดลง ทั้งที่เข้ารักษาพยายาล ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจ และผู้เสียชีวิตที่ลดลง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการต่อเพื่อให้ตัวเลขน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย 

พล.อ.สุพจน์ กล่าวอีกว่า ส่วนแผนการเปลี่ยนผ่านสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นชอบจาก ศบค.ไปแล้ว และมีความก้าวหน้าจนเมื่อวานนี้ได้ประกาศเป็นโรคติดต่อไม่ร้ายแรง ซึ่ง ศปก.ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแผนรองรับ เพื่อกลับไปสู่กลไกปกติ โดยมีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ เป็นกลไกลสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ในการเตรียมแผนการเปลี่ยนผ่านเพื่อใช้กลไกเหล่านี้ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบแนวทางปฏิบัติหลังการเปลี่ยนแปลงว่าต้องทำอย่างไร รวมทั้งองค์กรต่างๆ จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติว่าจะต้องมีแผนเผชิญเหตุรองรับอย่างไร โดยย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขมีแผนรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านเพื่อไม่ให้กลับไปสู่ความเสียหายขนาดใหญ่

พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันที่ประชุม ศปก.ศบค. เห็นชอบเตรียมเสนอ ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของที่ประชุมที่มีรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณา ซึ่งหากที่ประชุม ศบค. เห็นชอบยกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบศบค.อย่างแน่นอน รวมทั้งยุบหน่วยงานภายใต้ศบค. รวมทั้งคำสั่งต่างๆ ที่ออกโดยศบค. ก็ต้องยกเลิกทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้ที่ผ่านมาได้มีการเตรียมการไว้หมดแล้วว่าหากยกเลิกอะไรแล้วต้องเตรียมการอะไรมาบ้าง ที่ผ่านมาเตรียมแล้วยกเลิกอะไรแล้วเตรียมอะไรมาบ้าง อย่างไรก็ตามหากที่ประชุมศบค. เห็นชอบในวันพรุ่งนี้ก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันทีวันที่ 1 ต.ค. นอกจากนี้วันนี้ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของศปก.ศบค. ยกเว้นศบค.ชุดใหญ่ จะมีข้อสั่งการอะไรพิเศษที่ต้องดำเนินการต่อ

เมื่อถามว่า การเสนอให้มีการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงนี้ สืบเนื่องจากประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคใช่หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ไม่เกี่ยว แต่เราดูภาพรวมของประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญคืออยากให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ และอยากให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ ซึ่งที่ผ่านมาตัวเลขด้านการท่องเที่ยวดีมากชดเชยกับภาวะวิกฤตเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศหรือสถานการณ์ของโลก

เมื่อถามว่า มีข้อกังวลในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้หรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า สิ่งที่กังวลเป็นพิเศษคือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ายกเลิกแล้วไม่ใช่ถอดหน้ากากหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการเลย ยังต้องมีมาตรากรป้องกันส่วนบุคคล เพราะจะเห็นว่าทุกวันนี้ยังมีคลัสเตอร์ย่อยๆ ในกลุ่มสังคมที่มีการรวมตัวกัน แต่ภาพรวมภูมิคุ้มกัน ประชาชนในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมากมียาเพียงพอโรงพยาบาลและหมอเพียงพอ 

เมื่อถามว่า การก้าวข้ามเปิดให้ทุกคนใช้ชีวิตปกติ สามารถถอดหน้ากากอนามัยได้ในชีวิตประจำวัน เหมือนที่สหรัฐฯหรือประเทศอื่นๆที่มีการประกาศไปแล้ว ในประเทศไทยจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใด พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ช่วงนี้เราก็ปกติ ทุกอย่างต้องค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลทำมา จะเห็นว่าทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อไม่ให้เสียหายทีเดียว โดยเราต้องคำนึงความเสียหาย ของประชาชนเป็นหลักจึงต้องค่อยๆปรับตัว