วันที่ 17 ส.ค. 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติและในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว
โดยเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่ โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่อาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ เพื่อให้สาระของกฎหมายมีความสอดคล้องกับการดำเนินการด้านสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินโรคระบาดมากยิ่งขึ้น และต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
รัชดา กล่าวว่า ครม.ยังเห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาปรับปรุงในรายละเอียดต่อไป โดยหามาตรการคุ้มครองบุคลากรทางสาธารณสุขด่านหน้า และอาสาสมัครที่ทำงานไปตามปกติด้วย
ก่อนหน้านี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มีความพยายามผลักดัน ร่างพระราชกำหนดจำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. .... ถูกมองว่า เป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ให้คณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและบริหารวัคซีนโควิด 19 โดย มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้รับผิดชอบเรื่องการบริหารจัดการ การจัดบริการทางแพทย์ และผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานโควิด-19 ทั้งหมด รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายในการเจรจาหรือจัดหาวัคซีน ไม่ต้องกังวลกับความรับผิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นโดยเจตนาดีของผู้ปฏิบัติงาน หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บุคลากรดังกล่าวก็ไม่ต้องรับผิด
ด้าน วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ว่า ได้แจ้งให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปคิดให้ดี เพราะสถานการณ์ขณะนี้ ยังไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องทำขนาดนั้น และอาจไม่เข้าข่ายที่จะสามารถออกเป็น พ.ร.ก.ได้ อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข จะนำไปพิจารณาอีกครั้ง
ระหว่างการประชุม ครม. 17 ส.ค. สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ แจ้งผ่านเฟซบุ๊กว่า มีผู้หวังดีหลังไมค์มาบอกว่า สื่อมวลชนและประชาชนควรจับตาดูการประชุม ครม. วันนี้ (17 ส.ค.) อย่างใกล้ชิด เพราะอาจมีการเสนอเรื่อง แก้ไข พ.ร.บ. โรคติดต่อ เพื่อเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการคุ้มครองบุคลากร สธ. และ "ยัดไส้" เนื้อหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมฝ่ายนโยบาย สธ. เข้าไป หรือไม่ก็จะเสนอให้ออก พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งมีเนื้อหายัดไส้ประมาณเดียวกัน เพราะเรื่องนิรโทษกรรมฝ่ายนโยบายสาธารณสุขนั้นโดนประชาชนต่อต้านอย่างต่อเนื่องเลยถอยไป แต่ "เจตนา" ยังอยู่ค่ะ
กระทั่งต่อมา ช่วงบ่ายวันเดียวกัน รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติโรคติดต่อ (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง