นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขยายการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารสู่ตลาดโลกในเชิงรุก โดยเฉพาะตลาดที่ประเทศไทยมีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เพื่อขยับอันดับการแข่งขันของไทยในตลาดโลก ช่วงที่ตลาดโลกประสบปัญหาวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19
อีกทั้งประเทศคู่ค้าเอฟทีเอได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยเกือบหมดแล้ว ดังนั้นหากช่วยพัฒนาศักยภาพ เกษตรกรและผู้ประกอบการเพื่อรักษาคุณภาพสินค้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ก็จะทำให้สินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยขยายตัวได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ จากผลการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทย ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค. – พ.ค.) พบว่า การส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยไปประเทศที่ไทยมีความตกลงเอฟทีเอ ทั้งหมด 18 ประเทศ ได้แก่ อาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เปรู ชิลี และฮ่องกง มีมูลค่าถึง 11,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลก
โดยมีคู่ค้าสำคัญ 3 อันดับแรก คือ อาเซียน จีน และญี่ปุ่น ส่งผลให้ไทยสามารถขยับอันดับประเทศที่มีการการส่งออกสินค้าเกษตรมากที่สุดจากลำดับที่ 11 ของโลกมาเป็น ลำดับ 9 ของโลกในปัจจุบัน
สำหรับสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทยที่การส่งออกขยายตัวมากที่สุด ช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ได้แก่ เนื้อสุกรสดขยายตัว ร้อยละ 693 (หรือเกือบ 7 เท่า) รองลงมาทุเรียนสดขยายตัวร้อยละ 66.5 สินค้าปลาสดขยายตัวร้อยละ 29 ไก่สดขยายตัวร้อยละ 27.85 มังคุดและอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัวเท่ากันที่ร้อยละ 16 ผลิตภัณฑ์ข้าวขยายตัวร้อยละ 10 และมะม่วงสดขยายร้อยละ 4
สอดคล้องกับสถิติการขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ โดยพบว่าสินค้ากลุ่มเกษตรและเกษตรแปรรูปที่มีการขอใช้สิทธิประโยชน์มากเป็นอันดับต้น เช่น ทุเรียน มะม่วง มังคุด เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :