1 เดือนผ่านไป สำหรับการเปิดระบบ “เราไม่ทิ้งกัน” ให้ผู้มีอาชีพอิสระลงทะเบียนรับเงินเยียว 5,000 บาทต่อเนื่อง 3 เดือน จากกระทบโควิด-19 และใกล้ครบ 1 เดือนสำหรับกลุ่มแรกที่ได้รับโอนเงินไปเป็นที่เรียบร้อย และกำลังจะได้รับเงินรอบ 2 ในวันที่ 8 พ.ค. 2563 ตัดภาพมาที่ “ผู้ค้าของเก่า” หรือ “ซาเล้ง” อาชีพอิสระอีกหนึ่งกลุ่มที่แทบไม่พบคนมีชื่อว่าผ่านการพิจารณาเพื่อรับเงินเยียวยา 5,000 บาทข้างต้น
หนึ่งในนั้น คือ สุปราณี หุ่นเสือ อายุ 28 ปี ประกอบอาชีพซาเล้งมาแล้ว 6 ปี เปิดเผยว่า ลงทะเบียนเพื่อรอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยแจ้งอาชีพว่ารับซื้อของเก่า เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก เดิมมีรายได้จากการหาของเก่าวันละ 300-400 บาท แต่ปัจจุบันแทบไม่มีรายได้ เพราะการเก็บของเก่าส่วนใหญ่จะต้องไปรับซื้อตามหมู่บ้าน แต่หลายหมู่บ้านไม่อนุญาตให้เข้า ในขณะที่รายจ่ายยังต้องเดินทุกวัน โดยเฉพาะค่าเช่าบ้าน หรือแม้กระทั่งรถซาเล้งก็ยังต้องเช่า แต่จนถึงขณะนี้เวลาผ่านไปร่วมเดือนระบบแจ้งว่าอยู่ "ระหว่างตรวจสอบ" ซึ่งยังหวังที่จะได้รับเงินเยียวยาเพื่อใช้จ่ายในการดำรงชีวิต
โห ถ้าได้ก็สบายเลยอ่ะพี่ อยู่ได้เดือนนึงเลยอ่ะ ได้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ได้กินเดือนนึงเลยอ่ะ
สุปราณี ระบุว่า ตอนนี้ซาเล้งเดือนร้อนอย่างมาก เพราะหลายคนไม่มีโทรศัพท์มือถือ ไม่รู้จักโซเชียล ออกไปไหนไม่ได้ หลายคนทำได้เพียงแค่นั่งรออยู่ในบ้าน ดังนั้นอยากให้ภาครัฐเข้ามาดูแลตามบ้าน ตามซอยต่างๆ เพื่อดูให้ชัดว่าแต่ละคนมีชีวิตการกินการอยู่อย่างไร หากไม่ได้เงิน 5,000 บาท มาแจกข้าวก็ยังดี
สถานการณ์ดูไม่แตกต่างจาก เฉลิม เลิศยันยงค์ อายุ 52 ปี ประกอบอาชีพซาเล้งตั้งแต่อายุ 15 ปี เล่าว่า ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่ไม่ยังไม่ผ่าน เพราะระบบแจ้งว่าเป็น "นักศึกษา" ทั้งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ จนต้องยื่นขอทบทวนสิทธิ แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการแจ้งว่าจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่ ซึ่งยังหวังว่าจะได้เงิน 5,000 บาท เพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เพราะเดิมเคยมีรายได้ 300-400 บาท แต่ตอนนี้เหลือรายได้แค่ 100 กว่าบาท หรือบางวันแทบไม่มีรายได้เลย ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่อวันประมาณ 200-300 บาทเพราะมีหลานต้องดูแล
ตอนนี้มันก็ไม่พอใช้ อย่างวันนี้ได้แล้วร้อยกว่าบาท ต้องไปใหม่อีก วันนึงต้องหาถึง 3 รอบจะได้ 300 ถึงค่อยพอใช้ ถ้ารอบเดียวไม่พอแน่นอน
เฉลิม มองว่า การช่วยเหลือของรัฐบาลค่อนข้างช้า ทั้งที่คนเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก หลายคนมีค่าใช้จ่ายจำเป็นทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เพราะเท่าที่หาได้พอแค่จ่ายสำหรับการกินการใช้ในแต่ละวันเท่านั้น
“เกษตรกร” สถานะชวดเงิน 5,000 บาท ก็ยังคงพบในกลุ่มซาเล้ง สามารถ ม่วงไม้ อายุ 46 ปี ประกอบอาชีพซาเล้งมาประมาณ 5 ปี เล่าว่า ได้ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยา 5,000 บาทตั้งแต่วันแรกๆ แต่ได้รับแจ้งว่าไม่ผ่านเนื่องจากพบว่ามีฐานข้อมูลเป็นเกษตรกร แต่ได้มีการยื่นทบทวนสิทธิไปแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังก็ไม่ได้ และไม่มีทีมพิทักษ์สิทธิลงพื้นที่มาตรวจสอบ หรือขอข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไร ซึ่งส่วนตัวยังหวังที่จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เหมือนกับกลุ่มอาชีพอิสระอื่นๆ เพราะตนมีภาระที่จะต้องรับผิดชอบเช่นกัน ทั้งดูแลลูก ภรรยา และแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลระบุว่าจะพิจารณากลุ่มซาเล้งให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 แต่มองว่า ช้าไป
ส่วนไหนที่จะช่วยได้ ก็ขอให้ช่วย นึกจะช่วยอะไรได้ก็ขอให้ช่วย แค่นั้นแหละครับ เพราะว่าเงินมันอาจจะไม่เยอะ แต่มันเยอะสำหรับคนไม่มี
ทางด้านนายธวัช ไกรรักษ์ กรรมการผู้ก่อตั้งสมาคมการค้าผู้ประกอบการค้าของเก่าไทย กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ภายหลังให้นำเข้าขยะรีไซเคิล ทั้งกระดาษ และพลาสติก ส่งผลให้ราคาสินค้าตกต่ำ และยิ่งมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งส่งผลกระทบหนักต่อซาเล้ง เพราะการไปรับซื้อสินค้าส่วนใหญ่ คือ สถานประกอบการต่างๆ ทั้ง ไซด์งาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานบันเทิง เมื่อรัฐบาลมีคำสั่งปิดสถานบริการหรือว่าสถานที่เหล่านั้น ทำให้อาชีพซาเล้งไม่สามารถไปเก็บสินค้าได้เลย ทำให้รายรับกับรายจ่ายไม่สัมพันธ์กัน
นายธวัช ระบุว่า อาชีพซาเล้งเป็นอาชีพควรได้รับการช่วยเหลือเป็นกลุ่มแรกๆ แต่กลับถูกมองข้าม ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในอาชีพที่ทางรัฐบาลระบุเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ทั้งๆที่ซาเล้งนับเป็นด่านหน้า ในการช่วยเหลือรัฐบาลในการเก็บขยะ แต่เหตุใดในสถานการณ์แบบนี้จึงทอดทิ้งซาเล้ง
หันมาสนใจเราบ้าง ให้หันมาดูแลหรือว่าเยียวยาเราบ้าง เพราะว่าเราประสบปัญหาอย่างนี้ไม่ใช่พึ่งเกิดขึ้นแค่ 2 เดือนนี้นะครับ แต่อาชีพของเราประสบปัญหามาตั้งแต่กลางปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มส่งสัญญาณแล้วว่าพิจารณาแนวทางช่วยเหลือซาเล้งทั่วประเทศกว่า 1.5 ล้านคน เพื่อให้ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท โดยจะพิจารณาร่วมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มชายขอบ และกลุ่มไร้บ้าน อีกครั้ง
แต่ประเด็นสำคัญในสถานการ์แบบนี้ รัฐบาลต้องไม่ลืมว่าผลกระทบที่เกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ทางตรง แต่ยังมีทางอ้อมที่อีกหลายชีวิตกำลังต่อสู้อยู่เพียงลำพัง ดังนั้นอย่าให้เกิดคำถามที่ว่าคนทุกคนในประเทศต้องร่วมรับผิดชอบใช้หนี้กว่า 1 ล้านล้านจาก พ.ร.ก.กู้เงิน เพื่อใช้ในการดูแลเยียวยาผลกระทบโควิด-19 แต่เหตุใดยามทุกข์กลับมีคนที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง หรือเป็นกลุ่มคนสุดท้ายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอยู่ในลำดับบ๊วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :