รัฐสภาร่วมกับแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ภาคีงานด้านความปลอดภัยทางถนนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุม เรื่อง "รัฐสภาไทย มุ่งมั่น ลดเจ็บ ลดตาย บนท้องถนน" เนื่องในโอกาสที่เป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียบนท้องถนน หรือ Road Safety : World Day of Remembrance 2020 ทุกวันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี
ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้ทราบข้อมูลจากเมื่อ 3 วันที่ผ่านมา พบว่า มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 12,847 ราย ซึ่งตัวเลขนี้ เป็นตัวเลขที่หมายถึงการเสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมาจากผลของการเกิดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไประยะหนึ่ง แต่ตัวเลขที่สะสมจนถึงวันที่ 10 พ.ย.2563 มีผู้บาดเจ็บกว่า 840,000 ราย เป็นตัวเลขที่ฟ้องเราอยู่ทุกวัน แต่ทั้งหมดมาจากเรื่องของวินัย อย่างไรก็ตามขอเล่าประสบการณ์ว่า ช่วงที่ผ่านมามีหน่วยงานมาเก็บข้อมูลเพื่อจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 มาเก็บข้อมูลที่ จ.ตรัง ในฐานะเจ้าบ้านได้รับฟังการบอกเล่าว่า ประเทศไทยดีหลายอย่างเสียอย่างเดียวมีคนไทยอยู่ เมื่อพูดมาแบบนี้จึงขอสวนกลับว่าประเทศไทยเรามีดีที่มีคนไทยอยู่ แต่เอาเรื่องที่ไม่ดีมาวัดเพียงเรื่องเดียว คือ “เรื่องวินัย” มาวัดแล้วตัดสินไม่ได้ เรื่องการเสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุ แม้เราจะติดอันดับต้นๆ ของโลก ถือเป็นจุดอ่อนที่ทำให้หลายคนเอาเรื่องนี้มาวัดคุณภาพของคนไทย ซึ่งเคยบอกว่าไม่จริง มีอะไรที่โดดเด่นและมีอะไรที่เป็นวาระแห่งชาติอีกหลายเรื่อง
ส่วนเรื่องการเกิดอุบัติเหตุยอมรับว่าส่วนตัวมีความรู้สึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างมาก เมื่อครั้งเกิดอุบัติเหตุทางเรือที่ จ.ภูเก็ต มีชาวจีนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ได้เขียนหนังสือถึงเอกอัครราชทูตจีน เพื่อแสดงความเสียใจ รวมถึงโทรศัพท์ไปหา ส.ส.ภูเก็ต เพื่อขอให้ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ อีกเหตุการณ์หนึ่งที่รู้สึกเสียใจคือ นักปั่นจักรยานเยาวชนของประเทศเกาหลี ได้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศไทย จึงได้เขียนจดหมายแสดงความเสียใจผ่านไปยังเอกอัครราชทูตเกาหลี เช่นกัน และเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2563 ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุอย่างจริงจัง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่เจ็บปวดกับการเกิดอุบัติเหตุ หากเราไม่ฝึกกันอย่างจริงจังให้เป็นวินัย
“ผมเคยเดินทางไปดูเรื่องการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุที่ประเทศเวียดนาม เป็นเวลา 6 วัน ตั้งใจนั่งรถเพื่อจับผิดการสวมหมวกกันน็อกของคนขี่รถจักรยานยนต์ เพราะได้รับฟังข้อมูลมาว่าการขี่รถจักรยานยนต์ที่นี่เสี่ยงมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าไม่สามารถจับผิดได้เลย เพราะว่าทุกคนสวมหมวกกันน็อกทุกคน เป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าทำไมเขาถึงทำได้ จึงได้สอบถามทราบว่าค่าปรับไม่สวมหมวกกันน็อกแพงกว่าราคาหมวกกันน็อกถึงสองเท่า ทำให้คนเวียดนามยอมใส่หมวกกันน็อก แต่เรื่องหนึ่งที่คนเวียดนามทำไม่ได้คือการสูบบุหรี่ในห้องแอร์ โดยอ้างว่าเลิกไม่ได้เพราะเป็นวิถีชีวิต แต่เมื่อหันกลับมามองที่บ้านเรา ทำไมเรื่องการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ห้องแอร์ ห้องอาหาร หรือลดการสูบบุหรี่ เราทำได้ และประสบความสำเร็จ แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้วคนไทยทำได้ ดังนั้นเรื่องของวินัย ไม่ใช่เราแย่กว่าที่อื่น แต่อยู่ที่เราเอาจริงหรือไม่ ถ้าเอาจริงเราทำได้ วินัย คือ หัวใจการแก้ปัญหา ดังนั้นการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ เราสามารถทำได้ หากมีการฝึกวินัยสะสมมาตั้งแต่ต้น” ชวน หลีกภัย กล่าว
ความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนคิดเป็น 6% ของจีดีพี
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภาและประธานคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า จากวิกฤตการการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประชาชนในประเทศไทยที่ยังคงดำรงอยู่เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละกว่า 20,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1,000,000 คน เกิดผู้พิการรายใหม่ในแต่ละปีกว่า 10,000 คน ความสูญเสียดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนามนุษย์ เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป้าหมายการพัฒนาในระดับโลกที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนน โดยมีการประมาณมูลค่าความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนมากกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี คิดเป็น 6% ของจีดีพี
สสส.ผลักดันลดเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ต่อเนื่อง
ด้าน สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถือเป็นเรื่องอันดับต้นๆ ที่ สสส. ให้ความสำคัญและเข้าดำเนินการเพื่อกระตุ้นการลดอุบัติเหตุมาตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนทั้งงานด้านวิชาการและสื่อสารประชาสัมพันธ์ไปยังสังคม และจะเห็นว่าโครงสร้างการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนพบว่าไม่มีใครเป็นหลัก จึงได้ผลักดันให้มีศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล รวมถึงผลักดันให้แก้กฎหมายต่างๆ สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ขณะเดียวกันเพิ่มการทำงานในแนวราบ
โดยสองปีที่ผ่านมาเราได้เน้นปัญหาการเกิดอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน และการแก้ปัญหาจุดเสี่ยงให้กลไกระดับอำเภอและตำบลทำงานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามเป้าหมายเรื่องลดการเกิดอุบัติเหตุยังเป็นเรื่องสำคัญ ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุในปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น เพราะจากการเก็บข้อมูลสามฐาน แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละปีมีรถจดทะเบียนใหม่ปีละประมาณ 3 ล้าน ดังนั้นหากไม่ทำอะไรเลยตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุจะมากขึ้นกว่านี้ ทั้งนี้การทำงานที่ผ่านมาของ สสส.จะเห็นว่ามีพัฒนาการทางสังคม โดยมีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหา ร่วมถึงมีความตระหนักรู้ และหวังว่าจะมีการลดตัวเลขการเจ็บการตายมากขึ้น