ไม่พบผลการค้นหา
ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ.... เสนอโดย จอน อึ๊งภากรณ์ และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,609 คน ได้เข้าชื่อ ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ พ.รบ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2556 แล้ว

ทั้งนี้ ภายใต้การนำของโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ (iLaw) ซึ่งนำโดย จอน อึ๊งภากรณ์ พร้อมคณะผู้ริเริ่ม 20 คนในการจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2562 

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีหลักการให้ยกเลิกประกาศ และคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมืองและสิทธิชุมชนของประชาชน และกำหนดสถานะทางกฎหมายของคดีความของบุคคลพลเรือนที่เคยพิจารณาโดยศาลทหารตามประกาศ คสช.

"รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีผลบังคับใช้แล้ว และประเทศกำลังกลับสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่บรรดาประกาศและคำสั่ง คสช.ที่ใช้ตั้งแต่ช่วงเวลาของการยึดอำนาจก็ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ทั้งในเวลาต่อมาหัวหน้า คสช.ยังอาศัยอำนาจมาตรา 44ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกจำนวนมาก ซึ่งบางฉบับมีเนื้อหาในทางจำกัดสิทธิของประชาชนที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรองรับไว้ ประกาศและคำสั่งเหล่านี้จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน" นี่คือเหตุผลที่ จอน และผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายรื้อมรดก คสช. ปลดอาวุธ คสช.

คสช.jpg

สำหรับร่าง พ.ร.บ.พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ... มีจำนวน 7 มาตรา 

โดยมีสาระสำคัญ ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ตามที่ระบุไว้ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.นี้

มาตรา 4 ในวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ให้จำหน่ายคดีความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.ในบัญชีท้าย พ.ร.บ.นี้ทั้งหมด ให้ถือว่าจำเลยที่เคยต้องคำพิพากษาตามประกาศและคำสั่งที่ถูกยกเลิกไม่มีความผิด ให้ปล่อยจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุก ยกเว้นจำเลยที่ถูกคุมขังตามกฎหมายอื่นที่ไม่ถูกยกเลิกตาม พ.ร.บ.นี้ด้วย

มาตรา 5 บุคคลพลเรือนที่ถูกพิจารณษคดีโดยศาลทหาร ซึ่งศาลทหารมีคำพิพากษาเป็นที่สุดแล้ว หากต้องการให้ศาลยุติธรรมพิจารณาคดีของตนใหม่ ใหยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจ ภายใน 30 วันนับจากวันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ หากไม่ยื่นให้ถือว่าคำพิพากษาของศาลทหารเป็นที่สุด

มาตรา 6 บุคคลพลเรือนที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลทหาร ให้โอนย้ายคดีมาอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศษลยุติธรรมที่เขตอำนาจเหนือดคีดังกล่าว โดยให้กระบวนการพิจารณาคดีภายใต้ศาลทหารที่ได้ทำไปแล้วไม่เสียไป เว้นแต่จำเลยจะร้องขอให้ศาลยุติธรรมเริ่มกระบวนพิจารณาใหม่ทั้งหมด

มาตรา 7 ให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรักษาการตาม พ.ร.บ.นี้

โดย พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

จอน ยิ่งชีพ ไอลอว์ รัฐสภา dddา_201117_1.jpgiLaw ไอลอว์ ยิ่งชีพ  รัฐธรรมนูญ รัฐประหาร คสช คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

สำหรับบัญชีรายชื่อ ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เสนอให้มีการยกเลิกตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมีจำนวน 29 ฉบับ อาทิ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง ประกาศ คสช. ฉบับที่ 12/2557 เรื่องขอความร่วมมือจากสื่อสังคมออนไลน์ 

คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2558 เรื่อง การจัดหาที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น

ทั้งนี้ ไอลอว์ ได้ให้เหตุผลว่าทำไมต้องยกเลิก ประกาศ/คำสั่ง คสช. โดยระบุว่า นับถึงเดือน ธ.ค. 2560 คสช.ออกประกาศแล้ว 208 ฉบับ ออกคำสั่งแล้ว 127 ฉบับ และออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีก 179 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 514 ฉบับ ซึ่งจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ อำนาจพิเศษในการออกประกาศ/คำสั่ง เหล่านี้ถูกใช้เพื่อตอบสนองนโยบาย คสช.แทบทุกประเด็น เช่น การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การห้ามชุมนุมทางการเมือง การควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 รับรองให้บรรดาประกาศ คำสั่ง ของ คสช.ทั้งหมดรวมทั้งการใช้อำนาจใดๆ ภายใต้ประกาศ คำสั่งเหล่านี้ มีสถานะชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมี พ.ร.บ.มายกเลิก 

"รัฐสภาชุุดต่อไปที่จะมาจากการเลือกตั้งอาจมีบทบาทที่จะหยิบยกประกาศ คำสั่งแต่ละฉบับขึ้นมาทบทวนได้ใหม่ แต่ก่อนจะได้มาซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองชุดใหม่ ประชาชนมีสิทธิและหน้าที่ที่จะเสนอให้ยกเลิกประกาศ คำสั่ง ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพและไม่เหมาะสมกับกาลสมัยแล้ว"

ทั้งนี้ ไอลอว์ ได้เสนอตัวอย่างของการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 7/2557 สั่งห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากใครฝ่าฝืนให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยประกาศดังกล่าวเป็นเครื่องมือแทรกแซงหรือปิดกั้นการจัดกิจกรรมของประชาชน 

หรือแม้แต่ประกาศ คสช.ที่ 49/2557 ห้ามสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง โดยเห็นว่า ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นสร้างมาตรการกดดันไม่ให้สนับสนุนการมีส่วนร่วมหรือการเคลื่อนไหวทางสังคมของประชาชน

คสช รื้อระบอบ ไอลอว์ สภา 11.jpg

ล่าสุด ร่าง พ.ร.บ.ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. .... ได้ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 1 ธ.ค. 2564 โดยอยู่ลำดับที่ 5.6 ของวาระการประชุม

ทั้งนี้ยังมีร่างร่างพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมคิวที่ 5.22

ซึ่งทั้ง 2 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระของเนื้อหาที่ทำนองเดียวกัน จึงจะต้องนำมาพิจารณาพร้อมกัน แต่ด้วยที่คิวของร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นลำดับแรก และมีแนวโน้มว่าในสัปดาห์นี้อาจจะยังไม่ทันทีที่จะพิจารณา 

และเป็นที่ทราบกันดีว่า ส.ส.ในซีกรัฐบาลมีเสียงที่มากกว่าฝ่ายค้าน

ฉะนั้นโอกาสที่จะพิจารณาให้ผลักดันปลดล็อกล้างมรดกบาป คสช. ให้เป็นเรื่องด่วนจึงเป็นเรื่องยาก โอกาสที่จะถูกดอง หรือแช่อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาฯ ต่อไปจึงมีสูง!