ไม่พบผลการค้นหา
‘สว.เฉลิมชัย’ ร้อง ป.ป.ช. ด้วยวาจากลางเวทีอภิปราย สอบ ‘ครม.-กกต.’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เหตุรัฐบาลแจงเงินที่มาดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ ขณะที่ กกต. ชี้ชัดทำได้แต่ต้องใช้งบประมาณฯ ย้ำ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนตาม ม.235 ชงส่งเรื่องให้ ‘ศาล-อัยการสูงสุด’ ฟัน ม.157

วันที่ 25 มี.ค. ที่อาคารรัฐสภา เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงการดำเนินการนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาล ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ญัตติอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แถลงข้อเท็จจริง หรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตาม ม.153 ว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ม. 258 ก. ด้านการเมือง (3) การปฏิรูปประเทศได้บัญญัติว่า ให้มีความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณาหาเสียงที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน 

ประกอบกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ม. 57 บัญญัติไว้ว่า การกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานั้นอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดที่มาวงเงิน ความคุ้มค่า และประโยชน์ รวมถึงผลกระทบ 

เฉลิมชัย กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้จากเอกสารแจกแจงรายละเอียดของพรรคการเมืองที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้แจ้งรายละเอียดลำดับที่ 68 ว่า แจกเงินให้แก่คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จำนวน 56 ล้านคน เป็นเงิน 560,000 ล้านบาท 

เฉลิมชัย ยังชี้แจงอีกว่า ในการหาเสียงนั้นการแจกซอง 1,000-2,000 ก็ยังผิด แต่การหาเสียงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทยนั้นทำอย่างโจ๋งครึ่ม ซึ่งอาจผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ม.73 (1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ห้ามไม่ให้ผู้สมัคร หรือผู้ใดจัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์ที่อาจคำนวณได้แก่ผู้ใด โดยศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง 20 ปี 

อย่างไรก็ตาม เฉลิมชัย ได้ขอร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วยวาจากลางเวทีอภิปราย ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ม.60 เพื่อกล่าวหาต่อครม. และ กกต. ว่า จงใจปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามกฎหมาย และฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ตามรัฐธรรมนูญ ม.234 และ ม.235 หรือไม่ 

เนื่องจาก กกต. ระบุว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตสามารถทำได้ เพราะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี ขณะที่ ครม. แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566 กลับแจกแจงที่มาไม่ได้ เพราะฉะนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของ ครม. และกกต. มีความโปร่งใส่ มีบรรทัดฐานถูกต้องตามรัฐธรรมนูญจึงขอให้ ป.ป.ช. เข้ามาไต่สวน 2 เรื่องนี้ 

โดย ม.234 นั้นบัญญัติไว้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ และอำนาจในการไต่สวน และมีความเห็นกรณีที่มีการกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระจงใจปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจขัดต่อกฎหมาย หรือฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง 

เฉลิมชัย ชี้ว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยก็จะสอดคล้องกับ ม.235 คือ หาก ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริง และมีมติด้วยคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดที่อยู่ ให้ดำเนินการดังนี้ หากฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรงให้เสนอต่อศาลฎีกา หากเป็นกรณีอื่นให้ส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากศาลฎีกาลงตรารับฟ้องก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าพบความผิดก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ และมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.157 ของประมวลกฎหมายอาญา