วันที่ 2 พ.ค. ที่อาคารรัฐสภา ยุทธพร อิสรชัย รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการ (อนุ กมธ.) ศึกษา และจำแนกการกระทำเพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการหารือในคณะอนุกมธ.ฯ เพื่อจำแนกคดีที่มีฐานความผิดมาจากแรงจูงใจทางการเมือง
โดย ยุทธพร กล่าวว่า ในแง่ของระยะเวลา ได้พิจารณาโดยยึดแนวทางของคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูล และสถิติ ที่มี นิกร จำนง เป็นประธาน คือวันที่ 1 ม.ค.2548 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี แบ่งออกเป็นอีก 4 ช่วงเวลา ดังนี้ 1.ตั้งแต่ปี 2548-2551 2.ตั้งแต่ปี 2552-2555 3.ตั้งแต่ปี 2556-2562 และ4.ตั้งแต่ ปี2563-ปัจจุบัน ซึ่งใน 4 ช่วงเวลานี้มีเหตุการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ เช่น การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร (เสื้อเหลือง) การชุมนุมของกลุ่ม นปช.(เสื้อแดง) การชุมนุมของกลุ่ม กปปส. และการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน นอกจากนี้ยังมีกระบวนการในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองย่อยๆ ภายในระยะเวลา20ปีที่ผ่านมา รวมถึงชุมนุมในโลกออนไลน์ ที่มีเหตุในการเข้าข้อกฎหมายด้วย
ยุทธพร กล่าวต่อว่า กระบวนการตรงนี้เราได้จำแนกเกณฑ์ต่างๆ ในการพิจารณา โดยยึดเกณฑ์ใหญ่ที่สุด คือฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมือง ทั้งที่ชัดเจน และไม่ชัดเจน โดย 1.ฐานความผิดที่มาจากแรงจูงใจทางการเมืองชัดเจน เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมโดยตรง เชื่อมโยงคดีอาญา คดีในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือคดีในการชุมนุมสาธารณะ รวมถึงบางช่วงเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายการทำประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี2560 ขณะที่ 2.ฐานความผิดฯที่ไม่ชัดเจน เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำ เช่น พ.ร.บ.จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด ซึ่งไม่ได้เป็นกฎหมายโดยตรงเกี่ยวกับการชุมนุม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม
“เมื่อจำแนกออกมาเป็น 2 ส่วนแล้ว เราจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม ในวันนี้ หลังจากนี้จะมีการประชุมคณะอนุกมธ.ฯในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับแก้ตามความคิดเห็นของ กมธ.ชุดใหญ่ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปว่า ทางเลือกที่ 1. คือใช้กฎหมายนิรโทษกรรม ที่ยังมีความจำเป็น เพราะในกระบวนการนิรโทษกรรม ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะนำไปปฏิบัติ ก็ต้องมีฐานทางกฎหมายในการให้อำนาจหน่วยงานฯไปดำเนินการต่อไป ส่วนทางเลือกที่ 2.ฐานความผิดบางฐานอาจยังไม่มีข้อสรุป หรือข้อยุติที่ตกผลึก อาจจะใช้มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมายในการดำเนินการ ขณะที่ทางเลือกที่ 3.บางฐานความผิดซึ่งดำเนินคดีไปไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสาธารณะ ท้ายที่สุดแล้วก็อาจต้องใช้กฎหมายอื่น เช่น พ.ร.บ.องค์กรอัยการ ตามมาตรา 21 เพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง เช่น คดีเกี่ยวกับพ.ร.บ.จราจร และความสะอาด” ยุทธพร กล่าว
เมื่อถามว่า ทั้ง 3 ทางเลือกที่จะนิรโทษกรรมจะดำเนินการได้เมื่อไหร่ ยุทธพร กล่าวว่า การนิรโทษกรรม เป็นเรื่องของ สส. หลังจากที่ กมธ.ชุดใหญ่มีข้อสรุป คาดว่าไม่เกินเดือน ก.ค.จะได้ข้อสรุป เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาในสภาฯ ทางสภาฯก็มีเอกสิทธิ์รับฟังข้อเสนอเหล่านี้ทั้งหมด หรือจะไม่ฟังก็ได้ หรือจะนำไปใช้บางส่วนก็ได้
เมื่อถามว่าการกระทำความผิดตามมาตรา 112 จะได้รับการนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่ ยุทธพร กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือ ยังไม่มีข้อสรุป