ไม่พบผลการค้นหา
‘วาโย’ เสนอมาตรการรับนักท่องเที่ยวจีน แนะรัฐระดมฉีดเข็มกระตุ้น อัปเดตเป็นวัคซีน bivalent สต๊อกยาให้พร้อม เปลี่ยนจาก molnupiravir เป็น Paxlovid และสุ่มตรวจเชื้อนักท่องเที่ยว-น้ำเสียเครื่องบิน ชี้ ยังไร้แหล่งข้อมูลน่าเชื่อถือยืนยันโควิดระบาดแรงในจีนหรือไม่ แต่เข้าใจความกังวลของประชาชน ไทยควรเตรียมการรองรับ

วันที่ 6 มกราคม 2566 วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอมาตรการป้องกันเพื่อรองรับการเดินทางเข้าประเทศของนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมีความกังวลว่าอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิดที่มีเชื้อรุนแรงกว่าปัจจุบัน โดยระบุว่าจากการสืบค้นและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหลายคน พบว่าข้อมูลที่มีการพูดถึงกันว่ามีการติดเชื้อโควิดอยู่ในประเทศจีนสูงมากและยังเป็นสายพันธุ์ที่มีความรุนแรง เป็นข้อมูลที่ยังไม่มีการยืนยันออกมาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือใดๆ แต่ความกังวลที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากประเทศจีนไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ดังนั้น ประเทศไทยก็ควรจะมีมาตรการป้องกันเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งมาตรการด้านวัคซีน การลดอัตราการเสียชีวิต และมาตรการเกี่ยวกับการเข้าเมือง

วาโย กล่าวว่า สำหรับมาตรการวัคซีน รัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็มกระตุ้นที่ 3 - 4 ให้แก่ประชากรเพิ่มโดยเร็วที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยได้รับวัคซีนเข้มกระตุ้นไม่ถึง 50% หากรู้ว่าจะมีการรับนักท่องเที่ยวจีนเข้ามา ก็ควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นตั้งแต่ก่อนปีใหม่แล้ว อย่างไรก็ตาม การเร่งฉีดตอนนี้อาจยังทันอยู่ เนื่องจากวัคซีนบูสเตอร์ใช้เวลาเพียง 5 วันเท่านั้นในการกระตุ้นภูมิต้านทาน ต่างจากวัคซีนเข็มหลักสองเข็มแรกที่ใช้เวลา 2 - 4 เดือน โดยควรฉีดให้ได้อย่างน้อย 80% ของประชากรทั่วไป และไม่น้อยกว่า 90% ของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าคนทั่วไป

วาโย กล่าวต่อว่า ส่วนประเภทของวัคซีนนั้น อย่างแย่ที่สุดต้องเป็นวัคซีน mRNA แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรต้องเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่ผสมสายพันธุ์โอไมครอนลงไปด้วย หรือที่เรียกว่าวัคซีนแบบ Bivalent ซึ่งยังไม่มีการนำเข้ามาในประเทศไทยแม้แต่เข็มเดียว แต่หากไม่สามารถจัดหาได้ อย่างน้อยที่สุดก็ยังสามารถเอาวัคซีน Monovalent มาฉีดกระตุ้นก่อนได้ แต่หลังจากนี้ไม่ควรสั่งซื้อวัคซีนแบบ Monovalent มาใช้อีกแล้ว ควรปรับมาใช้วัคซีน Bivalent แทน

วาโย กล่าวด้วยว่า สิ่งที่น่ากังวลสำหรับโควิดในปัจจุบัน ไม่ใช่การติดเชื้อ แต่คือการเสียชีวิต ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตในประเทศไทยอยู่ที่ 0.1 - 0.2% หรือประมาณ 15 คนต่อสัปดาห์ ซึ่งยังเป็นอัตราที่น้อยมาก และผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งนี้ เราสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ด้วยการใช้ยา ซึ่งปัจจุบันยาที่มีหลักฐานทางการแพทย์ออกมาแล้วว่าลดอัตราการเสียชีวิตได้อย่างดีที่สุด คือยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ที่ประเทศไทยใช้เป็นยาหลักอยู่ตอนนี้ หลักฐานทางการแพทย์ยืนยันว่าลดอัตราการตายได้น้อยกว่า ดังนั้น รัฐบาลควรต้องสั่งซื้อ Paxlovid มาใช้เป็นยาหลักหลังจากนี้ และควรจะทำให้บุคลากรสาธารณสุขที่อยู่หน้างานสามารถจ่ายยาให้กับผู้ป่วยได้ง่ายขึ้นกว่าระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย

“แม้ข้อมูลทางวิชาการจะยังเชื่อถือไม่ได้ว่าสถานการณ์ในประเทศจีนร้ายแรงแค่ไหน แต่ความกังวลของประชาชนก็เป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรทำคือหาทางป้องกัน อันดับแรกคือลดอัตราการตาย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงสูง มีสต๊อกยาให้พร้อม ระดมทุกคนมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้อย่างน้อย 80% ในกลุ่มประชากรทั่วไป และ 90% ในกลุ่มเสี่ยง และต้องเป็นวัคซีนที่ดี จะนำเข้าวัคซีนใหม่ต้องเป็น bivalent จะสต๊อกยาใหม่ต้องเป็น paxlovid เท่านั้น” วาโยระบุ

วาโย กล่าวว่า สุดท้าย คือมาตรการเข้าเมืองของนักท่องเที่ยว แม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างเป็นทางการว่านักท่องเที่ยวจีนมีความชุกของเชื้อมากกว่าชาติอื่น แต่ในเมื่อประชาชนมีความกังวล สิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้คือการสุ่มตรวจบุคคลที่เดินทางเข้าเมืองจากทุกสายการบิน ไม่ใช่แต่เพียงสายการบินจากประเทศจีนเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดข้อกังวลในการเลือกปฏิบัติ และอีกประการหนึ่งคือการตรวจน้ำเสียจากเครื่องบิน เพื่อดูความเข้มข้นและสายพันธุ์ของเชื้อ ซึ่งด้านนี้สามารถเจาะจงเฉพาะไปที่สายการบินจากจีนได้

“ข้อมูลจากทั้งการสุ่มตรวจบุคคล และการตรวจน้ำเสียจากเครื่องบิน จะทำให้ประเทศไทยได้ข้อมูลในทางสถิติที่เป็นวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันได้ ว่าสิ่งที่เป็นความกังวลนั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ แล้วค่อยนำไปสู่การตรวจหาเชื้อ กักกัน ให้ส่งผล RT-PCR หรือส่งผล ATK ก่อนเข้าประเทศ หรือสกัดกั้นนักท่องเที่ยวจีนอย่างเดียวในภายหลังก็ยังได้” วาโย กล่าว