ไม่พบผลการค้นหา
สธ. ยกระดับเตือนภัยโควิดระดับ 4 หลัง 'โอไมครอน' ระบาดหนัก จ่อปิดสถานที่เสี่ยง-ชะลอการเดินทาง ด้าน โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก มั่นใจระบบสาธารณสุขไทยพร้อมรับมือ ขอความร่วมมือฉีดวัคซีนบูสเตอร์เข็ม 3

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประเทศไทย ว่า วันนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ 5,775 ราย รักษาหาย 2,673 ราย และเสียชีวิต 11 ราย ภาพรวมผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตลดลง แต่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการเข้าไปใช้บริการในสถานที่เสี่ยง ร้านอาหารกึ่งผับ การจัดกิจกรรมรวมกลุ่มคน เช่น งานเลี้ยง งานบุญทางศาสนา ที่อาจไม่ได้ระวังเพียงพอทำให้เกิดการระบาด โดยวันนี้มีจังหวัดที่ติดเชื้อเกินร้อยรายเพิ่มเป็น 11 จังหวัด จ.ชลบุรี มีการติดเชื้อสูงสุด 769 ราย ตามด้วย สมุทรปราการ 484 ราย และ กทม. 454 ราย ภาพรวมถือว่าเข้าสู่การระบาดอีกระลอก ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ฉากทัศน์ที่มีการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งแม้ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย แต่ต้องเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มรวดเร็วเกินไปจนเป็นปัญหาต่อระบบสาธารณสุข

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ยกระดับการเตือนภัยประชาชนจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 โดยมีข้อแนะนำ คือ 1.อาจปิดสถานที่เสี่ยงที่ทำให้มีการแพร่เชื้อ หรือเพิ่มมาตรการมากขึ้นให้สถานที่เสี่ยงมีความปลอดภัย 2.ชะลอการเดินทาง เช่น ขอให้ทำงานที่บ้าน งดเดินทางข้ามจังหวัดถ้าไม่จำเป็น เนื่องจากการเคลื่อนย้ายทำให้เกิดการแพร่เชื้ออย่างรวดเร็วได้ 3.จำกัดการรวมกลุ่ม มีมาตรการเคร่งครัดมากขึ้น ไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อ

และ 4.ปฏิบัติตามมาตรการ VUCA คือ V เร่งฉีดวัคซีน U ป้องกันตนเองครอบจักรวาล รักษาระยะห่าง ล้างมือ ใส่หน้ากาก พยายามอยู่ในที่โล่ง C สถานประกอบการปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting และ A ตรวจ ATK เป็นประจำ หากพบการติดเชื้อให้โทร 1330 เพื่อขอคำแนะนำ โดยจะเน้นให้ผู้ที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยดูแลที่บ้าน มีการจัดยาและเวชภัณฑ์ให้ และติดต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขได้ตลอดเวลา หากมีอาการมากขึ้นจะมีระบบส่งต่อโรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายและประชาชนร่วมมือกัน เชื่อว่าจะสามารถชะลอการระบาดครั้งนี้และสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไปได้


นายกฯ ขออย่าตื่นตระหนก

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์โรคโควิด-19 ทั่วโลกที่ได้รับรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เกิน 1 ล้านคน สายพันธุ์ที่ระบาดใหญ่ คือ เดลต้า และโอไมครอน ส่วนในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ขอความร่วมมือประชาชนให้ตระหนัก แต่อย่าตื่นตระหนก

ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมรับมือเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดการติดเชื้อโควิด-19 และโอไมครอนอย่างเข้มข้นแล้ว ในส่วนของประชาชนขอความร่วมมือผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 เข็มแล้ว ก่อนวันที่ 1 พ.ย. 64 ให้ไปรับการฉีดวัคซีนบูสเตอร์หรือเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน ส่วนบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันรองรับการระบาดของสายพันธุ์โอไมครอน

นอกจากนี้ ในส่วนของการเตรียมความพร้อม นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเตรียมความพร้อมระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับ ซึ่งขณะนี้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เร่งเตรียมความพร้อมบุคลากร เตียงพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือทางการแพทย์ รวมถึงสถานที่รองรับผู้ป่วย โดยเฉพาะศูนย์พักคอยเพื่อส่งต่อ (Community Isolation) จำนวน 40 แห่ง ที่สามารถรับผู้ป่วยได้ถึง 5,066 เตียง ทั้งนี้ ศักยภาพเตียงใน กทม. โรงพยาบาล ล่าสุด มีจำนวนทั้งสิ้น 25,345 เตียง แบ่งเป็น รพ. หลัก 2,922 เตียง/ รพ. สนาม 2,898 เตียง/ Hospitel 19,525 เตียง ที่พร้อมให้บริการ แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนปฏิบัติตนตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด พร้อมเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตามกำหนด เพื่อป้องกันและลดอัตราการแพร่เชื้อหรือเสียชีวิต 

ธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับมือกับโควิด-19 ต้องดำเนินด้วยหลักการ โดยต้องทำให้เชื้อโควิด-19 อ่อนแรงและการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็ม 3 และ 4 ซึ่งมีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว ประกอบกับการจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น อีกทั้งขอความร่วมมือประชาชนเฝ้าระวัง และป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัดตามมาตรการ DMHTTA สวมหน้ากากอนามัย และหมั่นสังเกตอาการด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมทุกสิทธิฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยผู้ป่วยโควิด-19 ทุกสิทธิ สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน

สำหรับ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) วันนี้ (6 มกราคม 2565 ) พบมีผู้ติดเชื้อรวม 5,775 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังฯ 5,323 ราย ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 160 ราย ผู้ป่วยภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 77 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 215 ราย ผู้ป่วยสะสม 2,216,387 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564) ผู้ป่วยกำลังรักษา 37,968 รายและมีผู้ป่วยหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,673 ราย ส่งผลให้ตัวเลขรวมหายป่วยสะสม 2,158,076 ราย และผู้เสียชีวิตเพิ่ม 11 ราย