สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 ในระหว่าง 24 พ.ย.63 – 28 ต.ค.64 จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ในเบื้องต้นมีผู้ต้องหาอย่างน้อย 154 คน ใน 159 คดี (นับคดีผู้ได้รับหมายเรียก แต่ยังไม่ได้เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาด้วย) ใน 159 คดีนี้ เป็นคดีที่ผู้ต้องหาอายุต่ำว่า 18 ปี จำนวน 12 คน และเป็นคดีที่ขึ้นสู่ชั้นพิจารณาในศาลแล้วจำนวน 52 คดี
หากแยกจุดตั้งต้นของคดี หรือผู้เข้าแจ้งความต่อตำรวจ สามารถจำแนกได้เป็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวนับกรณีที่ประชาชนแจ้งความเองจากข้อมูลรวมสถิติในเว็บไซต์ศูนย์ทนายฯ จะพบว่ามีทั้งหมด 87 คดีจาก 159 คดี หรือราว 54% กระจายตัวอยู่ใน 35 อำเภอ 16 จังหวัด รายละเอียดมีดังนี้
เมื่อดูในรายละเอียดข้อมูลของศูนย์ทนายฯ จะพบว่า มีประชาชนอย่างน้อย 7 คนที่แจ้งความกล่าวโทษตามมาตรา 112 ต่อผู้อื่นคนละ 3-9 คดี เช่น นพดล พรหมภาสิต อดีตเลขาฯ ศชอ., แน่งน้อย อัศวกิติกร ประธาน ศชอ. และจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส.
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการเดินทางเข้าแจ้งดำเนินคดีเพิ่มเติมกับผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วอย่างน้อย 3 คน คือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ อานนท์ นำภา ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ส่วนพรชัย (สงวนนามสกุล) ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมที่เรือนจำกลางเชียงใหม่
หากพิจารณาในส่วนผู้ถูกกล่าวหา 154 คน พบว่า มีผู้ที่ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหามาตรา 112 ไกลจากภูมิลำเนาของตัวเองอย่างน้อย 10 คน
ยกตัวอย่างข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ เฉพาะในพื้นที่ สน.สุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส พบว่า นายพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความกล่าวโทษถึง 6 คดี อย่างในกรณีของ ‘กัลยา’ ซึ่งทำงานอยู่นนทบุรี เหตุสืบเนื่องจากการโพสต์และแชร์ข้อความเกี่ยวสถาบันกษัตริย์จำนวน 4 ข้อความ กัลยาถูกพนักงานสอบสวนขอฝากขังต่อศาล และต้องประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เงินสด 150,000 บาท
เช่นเดียวกับกรณีของ ‘วารี’ (นามสมมติ) พนักงานรับจ้างอิสระในจังหวัดสมุทรปราการ อายุ 23 ปี ที่ต้องเดินทางไปรายงานตัวที่ สน.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส จากกรณีโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ ‘วารี’ และแฟนหนุ่มระบุว่าต้องเสียค่าเดินทางและค่าที่พักราว 20,000 บาท อีกทั้งต้องหยุดงานถึง 3 วัน พนักงานสอบสวนยื่นขอฝากขังวารีต่อศาลจังหวัดนราธิวาส โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นคดีที่อัตราโทษสูงและเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี แม้ผู้ต้องหาจะเดินทางมาพบตามหมายเรียกก็ตาม ทนายความยื่นประกันตัววารีด้วยหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ 150,000 บาท
“เรารู้สึกว่ากฎหมายข้อนี้ไม่ยุติธรรม โทษจำคุก 3 ถึง 15 ปีมันหนักหนา ไม่สอดคล้องกับการกระทำที่เราถูกกล่าวหา อีกอย่างคือทุกคนสามารถแจ้งความได้ เจ้าทุกข์จะเป็นใครก็ได้ จะแจ้งข้อกล่าวหาที่ไหนก็ได้” วารี กล่าว
ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.สุไหงโก-ลก ระบุว่านายพสิษฐ์ยังแจ้งความกล่าวโทษต่อคนอื่นๆ ในมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 20 ราย ขณะนี้ตำรวจทยอยออกหมายเรียกและดำเนินคดีไป 6 ราย
อย่างไรก็ดี ยังคงมีอีกหลายกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112 ต้องเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในจังหวัดซึ่งไกลจากภูมิลำเนาของตนเอง เช่น กรณีของสุพิชฌาย์ ชัยล้อม หรือ ‘เมนู’ นักเรียนมัธยมที่ต้องเดินจากจังหวัดเชียงใหม่ไปรับทราทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กรณีของพรชัยที่อยู่ในกรุงเทพฯ แต่ต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาถึง 2 ที่คือ เชียงใหม่และยะลา เป็นต้น
แม้ไม่เป็นที่ชัดแจ้งว่า ผู้แจ้งความที่ดำเนินการหลายกรณีนั้นสังกัดกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่ร่องรอยที่พอเห็นได้คือ ย้อนไปเมื่อ 21 เม.ย.64 รายการ ‘ขอชัดชัด’ ช่อง TOP NEWS นพดล พรหมภาสิต เลขาธิการศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ หรือ ศชอ.(ตำแหน่งในขณะนั้น) และ แน่งน้อย อัศวกิติกร ประธาน ศชอ. เคยกล่าวถึงระบบการทำงานของกลุ่มในการเข้าแจ้งความกล่าวโทษมาตรา 112 ต่อผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ว่า ในกลุ่มมีการแบ่งหน้าที่ในการยื่นหลักฐานแจ้งความผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันตามสถานีตำรวลภูธรในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย
“เราจะมีไลน์กลุ่มของเรา ส่งข้อมูลกันเข้ามา เราก็จะเบรนสตรอม (ระดมสมอง) กันว่า เอ้า เคสนี้คนนี้ไปแจ้งที่จังหวัดนี้ๆ พี่อึ้งล่าสัส (หนึ่งในสมาชิก ศชอ.) ที่ชอบเอาไปทัวส์ใต้ เราก็จะรวบรวมข้อมูลส่งไปให้...อยู่เหนือใช่ไหม ไปใต้เลยเที่ยวทั่วไทย” นพดล อดีตเลขาฯ ศชอ.กล่าวในรายการขอชัดชัด ช่อง TOP NEWS
“เราจะไม่รอให้กฎหมายลงโทษเอาผิดมัน เราจะทำให้มันเป็นประสาท เราจะไม่เห็นใจใดๆ ทั้งสิ้น เราใจสลายมานานเกินไปแล้ว ได้เวลาเอาคืนอย่างสาสม ” ข้อความในไลน์ของกองทัพมินเนี่ยน หรือ ศชอ. เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.64
ทั้งนี้ทาง ศชอ.นำโดย ทรงกลด ชื่นชูผล ‘ผู้กองปูเค็ม’ ยังคงเดินหน้าทำ ‘แผนที่ 112’ รวบรวมจำนวนผู้แสดงความเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ในโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ต.ค. 64 บัญชี Line Official ชื่อว่า ‘A Adisorn Sopha’ ซึ่งใช้รูปโปรไฟล์คู่กับสัญลักษณ์กลุ่ม ศชอ. เปิดเผยยอดผู้แสดงความเห็นที่ทางกลุ่มเห็นว่าหมิ่นสถาบันจำนวน 3,850 คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มี 700 คนเมื่อครั้งที่ ‘ผู้กองปูเค็ม’ เคยเปิดเผยแผนที่นี้จนเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา
“ในเมื่อพวกคุณไม่ยอมหยุด พวกเราจึงหยุดไม่ได้” ข้อความประกอบข้อมูลแผนที่ 112 ที่ปรากฏในไลน์ A Adisorn Sopha
ภาพจากบัญชี Line Official ชื่อ ‘A Adisorn Sopha’ หนึ่งในสมาชิก ศชอ.
ในอดีตก็เคยมีกรณีคล้ายกันเกิดขึ้น เป็นการเดินสายแจ้งความหลายพื้นที่ต่อเป้าหมายที่ชัดเจน นั่นคือ กรณีของ ‘ละครเวทีเจ้าสาวหมาป่า’ ซึ่งแสดงในงาน 40 ปี 14 ตุลาเมื่อปี 2556 โดยภายหลังการแสดงไม่นาน เครือข่ายเฝ้าระวังพิทักษ์และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ได้นัดประชุมกันราว 200 คน มีการเปิดฉายคลิปบางส่วนของละครเวทีดังกล่าวและนัดแนะสมาชิกให้เข้าแจ้งความมาตรา 112 ที่สถานีตำรวจในพื้นที่ที่อยู่อาศัย พร้อมกันนี้ภายในงานยังมีวิทยากรร่วมอภิปรายเกี่ยวกับสถานการณ์หมิ่นประมาทสถาบันด้วยหลายคน อาทิ ผศ.ยศศักดิ์ โกไศยกานนท์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รศ.กิจบดี ก้องเบญจภุช รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง สมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหาในขณะนั้น พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหนัาศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.)
ต่อมาสมาชิกเครือข่ายได้เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแสดงละครดังกล่าว ทั้งผู้เขียนบท ผู้แสดง ผู้สนับสนุน ให้มีการจัดงาน โดยไปแจ้งความกล่าวโทษที่สถานีตำรวจ 13 แห่ง ประกอบด้วย
คดีไม่มีความคืบหน้าจนกระทั่งภายหลังเกิดรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 มีการดำเนินคดีมาตรา 112 ในวงกว้างซึ่งรวมถึงผู้เกี่ยวข้องกับละครเจ้าสาวหมาป่าด้วย 2 คน คือ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ทั้งคู่ถูกพิพากษาจำคุก 2 ปีครึ่ง