ไม่พบผลการค้นหา
‘เรืองไกร’ ร้องกกต. ส่งศาล รธน. ตีความยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยกเทียบคดียุบ ทษช. เหตุมีการกระทำการที่เข้าข่ายอาจเป็นปฎิปักษ์การปกครอง ชี้มติสภาฯ เสียงข้างมากยุติแล้วแต่มีการอ้างสิทธิ-เสรีภาพโพสต์ขยายผ่านเฟซบุ๊กต่อ

วันที่ 23 ส.ค. 2564 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ เหตุเนื่องจากพรรคก้าวไกล มีการกระทำที่เข้าข่ายอันอาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งอ้างอิงตามแนวทางของคำวินิจฉัยที่ 3/2562 

เรืองไกร ได้ลำดับเหตุผลในการรวบรวมข้อมูลยื่นยุบพรรคก้าวไกล โดยสืบเนื่องจากการประชุมสภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งตนในฐานะกรรมาธิการฯที่สงวนความเห็นมากที่สุด ก็ได้ติดตามการอภิปรายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนโดยละเอียด แต่ทว่าพอมาถึงการพิจารณาในมาตรา 36 ซึ่งเป็นงบประมาณส่วนราชการในพระองค์ ปรากฏกลับพบความไม่เหมาะสมในการอภิปรายของสมาชิกจากพรรคก้าวไกล ตนมองว่าบางเรื่องที่คาบเกี่ยวกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก็ไม่ควรนำเอามาขยายความแล้วอ้างถึงสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งในการลงมติเสียงข้างมากว่าอย่างไร ก็ควรจะต้องยอมรับ และหลังจากการอภิปรายในห้องประชุมสภาฯ ก็ได้นำข้อความที่อภิปรายมาลงโพสต์ในเฟซบุ๊กของพรรคก้าวไกล แบบนี้ถือเป็นการกระทำของพรรคการเมืองอย่างชัดเจน เป็นการนำข้อความของตัวแทนมาสื่อความสู่สาธารณชน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจึงเห็นชัดว่าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ปรากฏข้อห้ามชัดเจน และข้อห้ามนั้นกลับมีลักษณะคล้ายกับที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองของตน (พรรคไทยรักษาชาติ) โดยอ้างอิงตามคำวินิจฉัยที่ 3/2562 

เรืองไกร ยังระบุว่า ข้อความที่ศาลวินิจฉัย ถือเป็นเด็ดขาด มีความผูกพันโดนเฉพาะกับรัฐมนตรี ,สมาชิกรัฐสภา และองค์กรศาล ซึ่งสิ่งที่วินิจฉัยนั้น ตามมาตรา 92 ทั้ง (1) เป็นเรื่องของการล้มล้าง และ (2) เป็นเรื่องของอาจเป็นปฏิปักษ์ ซึ่งคำว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ อาจเทียบเคียงเหมือนกรณีหมิ่นประมาท ตามที่ศาลฎีกา เคยวินิจฉัยไว้ ซึ่งเมื่อเอาคำวินิจฉัยดังกล่าวมาเทียบเคียง กับการอภิปรายเช่นนี้ สรุปคือหาข้อยุติไม่ได้ ฉะนั้นเพื่อให้ได้ข้อยุติ โดยอ้างสิทธิและเสรีภาพไม่ได้ ตนจึงได้ทำการรวมรวบหลักฐานทั้งหมด มามอบให้ กกต. เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ ได้ทำการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลตามข้อกำหนดได้หรือไม่ เพราะหลายฝ่ายคงต้องการบรรทัดฐานที่ชัดเจนว่า ขอบเขตของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถทำได้แค่ไหน หากท้ายที่สุดมีความผิดต้องรับโทษทางการเมือง กรรมการบริหารพรรครวมทั้งตัวพรรคการเมืองจะได้รับบทลงโทษ ส่วนสมาชิกของพรรค จะเข้าข่ายเป็นความผิดใดหรือไม่ ก็คงต้องรอดูคำวินิจฉัยในภายหลัง

"คำวินิจฉัยของชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ อาจเด็ดขาดแค่ในที่ประชุมสภาฯ แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะมีความเด็ดขาดผูกพัน" เรืองไกร กล่าว

ทั้งนี้ เรืองไกร ยังได้เปิดเผยถึงสาเหตุของการยื่นลาออก โดยยืนยันว่าเป็นการยื่นลาออกจากตำแหน่งงานในสภาเพียงเท่านั้นหลังจากหน้าที่กรรมาธิการเสร็จสิ้น และต้องขอบคุณที่ทางพรรคพลังประชารัฐที่ได้มอบหมายงานมาให้ตน และหลังจากนี้อาจต้องสละบางตำแหน่งออกไป เนื่องจากได้วางแผนชีวิตส่วนตัวไว้ด้วย

ในส่วนความเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และไม่รู้สึกน้อยใจหลังยังไม่ได้เอกสารยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค พร้อมปฏิเสธการพูดคุยกับผู้ใหญ่ในพรรคเป็นการส่วนตัว โดยอ้างว่าลำพังข่าวสารในพรรค รวมถึงการประชุมต่างๆ ตนยังไม่เคยได้ไปเลย ไปพรรคครั้งเดียวคือตอนไปสมัครสมาชิก

เมื่อถามถึงการทำงานหลังจากนี้หากผู้ใหญ่ในพรรคมอบหมายงานให้ เรืองไกร ระบุว่า คงต้องดูว่าเป็นงานที่ตนทำได้หรือไม่ ต้องรู้ว่าตัวเองมีความสามารถตรงไหน และทำในส่วนไหนได้บ้าง ไม่ใช่รับทำทุกอย่าง