ไม่พบผลการค้นหา
กรมอนามัย แนะน้ำดื่มสะอาดไม่ได้วัดที่ค่าความเป็นกรด-ด่าง แต่มีหลายปัจจัยช่วยยืนยันค่าความสะอาด อย่าเพิ่งตื่นตระหนกตามคลิป ขณะนี้ได้ยกร่างกฎกระทรวงคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศไทยเพื่อกำหนดมาตรฐานน้ำบริโภคให้มีมาตรฐานครอบคลุมทุกแหล่ง

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการโพสต์คลิปนำน้ำดื่มยี่ห้อต่าง ๆ มาทดสอบว่า น้ำดื่มยี่ห้อไหนมีสภาพความความเป็นกรด-ด่างต่างกันอย่างไร ด้วยการใช้ชุดทดสอบแบบหยดสารเคมีผสมกับน้ำที่ต้องการตรวจ และประเมินว่ายี่ห้อไหนมีค่าเท่าไหร่จากการเปรียบเทียบสี 

โดยจากการทดสอบน้ำดื่มยี่ห้อต่างๆ และแสดงผลทดสอบนั้น ส่วนใหญ่ไม่ปรากฏค่าเป็นน้ำที่สะอาดดื่มได้ แต่กลับพบค่าเป็นสีที่แตกต่างและแสดงให้เห็นว่าน้ำในแต่ละยี่ห้อไม่มีคุณภาพ ไม่ควรนำมาดื่ม ซึ่งการเผยแพร่คลิปดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดต่อประชาชนที่จะเลือกน้ำดื่มเพื่อบริโภคได้ เพราะการจะพิจารณาน้ำบริโภคดีหรือไม่ดีมีหลายตัวชี้วัด ไม่ใช่แค่ความเป็นกรด-ด่าง 

อย่างมาตรฐานคุณภาพน้ำประปาดื่มได้ที่กรมอนามัยกำหนดเพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำประปานั้นมีถึง 20 ตัวชี้วัดทั้งด้านกายภาพ เคมี แบคทีเรีย โดยเฉพาะค่าความเป็นกรด-ด่าง กำหนดเป็นช่วง 6.5-8.5 จึงไม่แปลกที่ผลทดสอบตามคลิปจะเปลี่ยนสี และประชาชนไม่ต้องกังวลในค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำดื่ม รวมถึงคลิปการทดลองวัดคุณภาพน้ำบริโภคด้านความกระด้าง การวัดการเหนี่ยวนำด้วยไฟฟ้า เป็นต้น 

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า จากการสุ่มตรวจสอบคุณภาพน้ำบริโภคในปี 2561 ของกรมอนามัย พบว่า มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภค ร้อยละ 40.13 โดยน้ำประปาน้ำตู้หยอดเหรียญและน้ำบรรจุถัง 20 ลิตร มีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการบริโภคมากที่สุด แต่สำหรับพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนน้ำสะอาด ก่อนนำมาดื่มควรต้มให้เดือดอย่างน้อย 1 นาที เก็บในภาชนะที่สะอาดมีฝาปิดมิดชิด ส่วนการนำน้ำจากแม่น้ำลำคลอง หรือแหล่งน้ำผิวดินแหล่งอื่นๆ มาใช้โดยตรง ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำและฆ่าเชื้อโรคก่อนด้วยการแกว่งสารส้มชนิดก้อนในน้ำและให้สังเกตตะกอนในน้ำ หากเริ่มจับตัวให้นำสารส้มออก ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอนแล้วนำเฉพาะน้ำใสมาฆ่าเชื้อโรคโดยใช้หยดทิพย์ อ.32 ของกรมอนามัยซึ่งเป็นสารละลายคลอรีนชนิดเข้มข้น ร้อยละ 2 ในอัตราส่วน 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร หรือเติมผงปูนคลอรีนตามปริมาณที่กำหนด จากนั้นปล่อยให้มีระยะเวลาฆ่าเชื้อโรคอย่างน้อย 30 นาที ก่อนนำไปใช้ ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในน้ำได้

ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ยกร่างกฎกระทรวงคุณภาพน้ำบริโภคของประเทศไทยขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานน้ำบริโภคให้มีมาตรฐานครอบคลุมทุกแหล่ง โดยเฉพาะน้ำประปาซึ่งมีตัวชี้วัดถึง 21 ตัวครอบคลุมทั้งทางกายภาพ เคมี แบคทีเรียเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนต่อไป