หน่วยงานเกษตร ประมง และการอนุรักษ์ของฮ่องกง หรือ AFCD ยืนยันเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า พบเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในแมวตัวดังกล่าว โดยตัวอย่างที่เก็บจากปาก จมูก และทวารหนักของแมวตัวนี้ตรวจพบผลเป็นบวก หลังจากถูกส่งไปกักตัวเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. แต่ก็เผยว่าแมวตัวนี้ไม่แสดงอาการใดๆ ของโรคโควิด-19
แมวตัวนี้อาศัยอยู่กับเจ้าของซึ่งเป็นหญิงวัย 25 ปี ผู้ติดเชื้อโควิด-19 และกำลังมีอาการรุนแรง โดยรายงานระบุว่าเจ้าของแมวได้เดินทางไปยังบาร์แห่งหนึ่งในย่านเซ็นทรัลเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ก่อนที่จะเริ่มมีอาการ และได้รับการยืนยันติดเชื้อเมื่อวันเสาร์ (29 มี.ค.) ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ แมวตัวนี้ถือเป็นแมวตัวแรกในฮ่องกงที่ตรวจพบเชื้อไวรัส หลังจากที่ฮ่องกงพบสุนัข 2 ตัวติดเชื้อมาก่อนแล้ว โดยตัวแรกเป็นสุนัขพันธุ์ปอมเมอเรเนียนชื่อ 'เบนนี' ที่ได้ถูกส่งกลับบ้านหลังตรวจไม่พบเชื้ออีกก่อนจะตายลงในภายหลัง ซึ่งทางการเชื่อว่าการที่มันอายุมากและมีการเจ็บป่วยเดิมเป็นสาเหตุการตายมากกว่าไวรัส ส่วนสุนัขอีกตัวเป็นพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดซึ่งผลตรวจเป็นลบหลายครั้งแล้วแต่ยังต้องถูกกักตัว
นี่ถือเป็นรายงานการพบเชื้อโควิด-19 ในแมวเป็นกรณีที่สองของโลก หลังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้มีรายงานพบแมวตัวหนึ่งในเบลเยียมติดเชื้อไวรัส ซึ่งคาดว่ารับเชื้อมาจากเจ้าของที่เป็นผู้ป่วย และในขณะที่สัตว์เลี้ยงทั้ง 3 ตัวในฮ่องกงที่พบเชื้อไม่แสดงอาการของโรค แต่แมวตัวดังกล่าวในเบลเยียมมีอาการทั้งท้องเสีย หายใจลำบากและอาเจียน รวมถึงยังพบเชื้อในอุจจาระของมันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเบลเยียมระบุว่าเจ้าเหมียวตัวนี้มีอาการดีขึ้นแล้ว
นับจนถึงเมื่อวันอังคาร 31 มี.ค.ที่ผ่านมา มีสุนัข 27 ตัวและแมวอีก 15 ตัว ถูกกักตัวอยู่ในสถานกักโรคของหน่วยงานการเกษตร ประมงและการอนุรักษ์ฮ่องกง โดยมีสัตว์เลี้ยง 4 ตัวถูกส่งกลับบ้านแล้วส่วนที่เหลือยังคงอยู่ภายใต้การกักตัว และมีเพียงแมวตัวนี้ที่ผลตรวจเชื้อเป็นบวก ซึ่งโฆษกของหน่วยงานระบุว่า ผลตรวจโควิด-19 เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าสุนัขและแมวไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่กันได้ง่ายๆ และไม่มีหลักฐานว่าพวกมันสามารถเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัส พร้อมแนะนำว่าเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรรักษาสุขอนามัยอยู่เสมอ และไม่มีเหตุผลที่จะทอดทิ้งสัตว์เลี้ยงเหล่านี้
ขณะที่สมาคมสัตวแพทย์ระบุว่า แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดที่สัตว์เลี้ยงจะติดเชื้อไวรัสก็คือมาจากเจ้าของหรือคนที่เข้ามาจับ สัมผัสพวกมัน การพบเชื้อโควิด-19 ในสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว ส่วนองค์การอนามัยโลกก็ระบุบนเว็บไซต์ว่า ไม่มีหลักฐานว่าสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ สามารถแพร่เชื้อโควิด-19 ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: