ไม่พบผลการค้นหา
ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา หรือที่รู้จักกันในนาม ลูลา อดีตประธานาธิบดี 2 สมัย ของบราซิลจากพรรคแรงงาน ได้รับการเลือกจากชาวบราซิลให้กลับมาดำรงตำแหน่งเดิมที่เขาเคยดำรงเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีกครั้ง หลังเฉือนชนะ ฌาอีร์ โบลโซนาโร ประธานาธิบดีคนล่าสุดจากพรรคเสรีนิยมไปในการเลือกตั้งรอบ 2 ได้ด้วยสัดส่วนคะแนน 50.9 ต่อ 49.1%

การกลับมาดำรงตำแหน่งของลูลาในครั้งนี้ นับเป็นการปิดฉากสมัยการทำงานของโบลโซนาโรซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ในประเด็นการจัดการกับปัญหาต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐกิจไปจนถึงสิ่งแวดล้อม ทำให้ลูลาได้รับการขนานนามจากชาวบราซิลว่าเป็นความหวังครั้งใหม่ สำหรับประเทศของพวกเขา ‘วอยซ์’ ชวนไปทำความรู้จักกับนักการเมืองฝ่ายซ้ายคนนี้ รวมถึงนโยบาย และเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อเขาในบทบาทประธานาธิบดี

ลูลาเป็นใคร?

ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา เกิดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2488 ณ เมืองเซเตส ประเทศบราซิล เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน และไม่ได้รับการศึกษาที่ดีในวัยเด็ก ลูลาอ่านออกเขียนได้เมื่อเขาอายุ 10 ปี และได้งานแรกเป็นช่างเหล็กในโรงงานผลิตรถยนต์บริเวณชานเมืองเซาเปาโล ซึ่งครอบครัวของเขาอพยพมาเพื่อหนีความยากจนเมื่อเขาอายุได้ 14 ปี

ในขณะที่นักการเมืองคนอื่นๆ เข้าสู่วงการการเมืองในขณะศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ลูลาเริ่มมีความสนใจด้านการเมืองในขณะที่เขาทำงานในโรงงาน ในปี 2508 เขาก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของสหภาพแรงงานช่างเหล็ก และตลอดทั้ง 2 ทศวรรษหลังจากนั้น เขาได้จัดการประท้วงเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารของบราซิลบ่อยครั้ง จนกระทั่งเขาถูกจับกุมและต้องโทษจำคุกเป็นเวลาหนึ่งเดือน

หลังจากลูลาได้รับการปล่อยตัว เขามีส่วนช่วยในการก่อตั้งพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคสังคมนิยมกระแสหลักพรรคแรกของบราซิลในปี 2523 ลูลารวบรวมปัญญาชน แรงงาน และนักเคลื่อนไหวมากมายเข้ามาในพรรค ที่มีจุดมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางอำนาจของบราซิล เขาลงสมัครเลือกตั้งถึง 3 ครั้งและล้มเหลว ก่อนที่จะชนะเลือกตั้งในที่สุดเมื่อปี 2545 และได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีถึง 2 สมัยระหว่างปี 2546 ถึงปี 2553

ทิศทางนโยบายของลูลา

ลูลาไม่ใช่นักการเมืองหน้าใหม่ ตอนที่เขาลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2553 นั้น ผลสำรวจความนิยมเขาในตำแหน่งประธานาธิบดีนั้นสูงถึง 80% เลยทีเดียว ในการกลับมาครั้งนี้ ลูลาประกาศว่าเขาพร้อมที่จะปัดฝุ่นนโยบายเก่าที่เขาเคยทำเมื่อ 10 ปีที่แล้ว รวมถึงเสนอนนโยบายใหม่เพื่อให้สอดรับกับความท้าทายในโลกปัจจุบัน อย่างนโยบายเกี่ยวกับสภาพอากาศอีกด้วย

เริ่มต้นที่นโยบายด้านเศรษฐกิจ ลูลาประกาศว่าเขาจะทำการพัฒนานโยบายโบลซา ฟามีเลีย ซึ่งเขาได้วางรากฐานไว้ในครั้งที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในรอบที่แล้ว นโยบายโบลซา ฟามีเลียนี้เป็นนโยบายที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยการจ่ายเงินอุดหนุนเดือนละ 110 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 4,140 บาท) ให้กับครอบครัวที่ยากจน และอีก 30 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1,130 บาท) สำหรับครอบครัวที่มีลูกอายุต่ำกว่า 6 ปี นอกจากนี้ นโยบายนี้ยังครอบคลุมถึงสวัสดิการด้านการศึกษาและการฉีดวัคซีนให้เด็กๆ อีกด้วย อย่างไรก็ดี ลูลายังคงไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการที่เขาจะทำการปัดฝุ่นนโยบายดังกล่าว รวมถึงจำนวนเงินทั้งหมดที่ต้องใช้ในนโยบายนี้

ลูลายังสัญญาว่า ตนจะจัดการกับปัญหาความหิวโหยในประเทศ สร้างที่พักอาศัยในราคาที่ถูก พัฒนาโครงข่ายไฟฟ้า น้ำประปา และการคมนาคมไปยังหมู่บ้านที่ห่างไกล รวมถึงการปฏิรูประบบภาษีและการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอีกด้วย นโยบายเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับนโยบายที่เขาเคยเสนอไว้ในสมัยที่เขาเป็นประธานาธิบดีครั้งก่อน โดยในบางนโยบายเช่นการวางโครงสร้างพื้นฐาน ลูลากล่าวว่าเขาจะใช้แผนงบประมาณเดิมเพื่อสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ คือ การใช้ธนาคารของรัฐเพื่อการอุดหนุน

ในนโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ลูลามีความพยายามที่จะเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างสหภาพยุโรป และ เมร์โกซูร์ ซึ่งป็นตลาดร่วมของกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ตอนล่างเสียใหม่ ลูลามีความเห็นว่าข้อตกลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจะทำให้บราซิลเสียเปรียบยุโรป เขากล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้บราซิลตกอยู่ในสถานะประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบ เพื่อป้อนให้อุตสาหกรรมของสหภาพยุโรปต่อไป ซึ่งตรงข้ามกับความคิดของเขาที่ต้องการทำให้บราซิลมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น

“ในอนาคต รัฐบาลของลูลาจะต้องประเมินเงื่อนไขของข้อตกลงระหว่างเมร์โกซูร์และสหภาพยุโรปใหม่โดยเน้นไปที่ประเด็นอุตสาหกรรม” โรแบร์โต กูลาร์ต เมเนเซส ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยบราซีเลียกล่าวแสดงความเห็น “ในความคิดเห็นของผม ลูลาควรทำงานร่วมกับเมร์โกซูร์ และพัฒนาข้อต่อรองของตนเองที่จะทำให้ข้อตกลงมีความสมดุลกันระหว่าง 2 ฝ่ายมากขึ้น”

แม้ลูลาวางแผนที่จะทำการต่อรองเพิ่มเติมในข้อตกลงที่พร้อมที่ลงนามแล้ว แต่เขาก็มีส่วนช่วยในพัฒนาการของข้อตกลง โดยเฉพาะในเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสหภาพยุโรปยังคงลังเลใจที่จะให้สัตยาบันอยู่ เนื่องจากในสมัยก่อนหน้าของรัฐบาลโบลโซนาโร บราซิลได้มีการปล่อยปละละเลยการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอนอย่างมาก ในทางกลับกัน นโยบายหลักของลูลาประการหนึ่ง คือ การหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าแอมะซอน ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของสหภาพยุโรปมากกว่า

ท้ายที่สุด ในนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ลูลาสัญญาว่าจะฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นในขณะที่โบลโซนาโรดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเฉพาะกรณีที่โบลโซนาโรเพิกเฉยและออกคำสั่งที่เอื้อต่อการตัดไม้ทำลายป่า ลูลาต้องการยกเลิกคำสั่งหลายข้อของโบลโซนาโร ที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสัญญาว่าจะจัดตั้งองค์กรเพื่อดูแลในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ การตัดไม้ทำลายป่า และสิทธิของคนพื้นเมืองในพื้นที่ป่าโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญมาดูแลองค์กรเหล่านี้

ลูลายังมีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับกระแสนโยบายในประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งระบบราคาคาร์บอน ในลักษณะที่คล้ายกับระบบการค้าคาร์บอน (ETS) ของสหภาพยุโรป กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะต้องทำการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเป็นการสร้างต้นทุนเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม และจะช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมาใช้วิธีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนดังกล่าว นอกจากนี้ ลูลายังวางแผนที่จะก่อตั้งคณะกรรมการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแห่งชาติ ซึ่งจะช่วยควบคุมให้บราซิลดำเนินนโยบายตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส ซึ่งว่าด้วยการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส โดยเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกด้วย

ชัยชนะที่ไม่สมบูรณ์ของฝ่ายซ้าย

หากพิจารณาถึงสัดส่วนคะแนนเสียงทั้งหมดที่ลูลาได้รับในการเลือกตั้งรอบ 2 นี้ อาจกล่าวได้ว่า ลูลาทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากการชนะการเลือกตั้งครั้งนี้เขาชนะไปด้วยคะแนนฉิวเฉียดเพียง 1% เท่านั้น และในการเลือกตั้งรอบแรกนี้ โบลโซนาโรได้รับคะแนนเสียงมากกว่าที่ตนเคยได้ในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในปี 2018 ทั้งที่การบริหารงานในสมัยของเขามีเสียงวพากษ์วิจารณ์มากมาย นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีจะพบว่า สมาชิกสภาจากฝ่ายขวาได้รับที่นั่งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และมากกว่าจำนวนที่นั่งที่พรรคแรงงานและพรรคร่วมรัฐบาลได้รับเช่นกัน

ดังเช่นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แคมเปญของลูลาพุ่งเป้าไปที่คนยากจนในประเทศ นอกจากนี้ นโยบายและผลงานที่ผ่านมาของลูลาเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาความยากจน จึงอาจเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลที่จะกล่าวว่า ฐานเสียงของลูลาเป็นชนชั้นรากหญ้าของบราซิล อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ลูลาไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงจากฐานเสียงของตัวเองได้มากเท่าที่ควร เหตุผลหนึ่งอาจมาจากการที่นโยบายช่วยเหลือคนยากจน ที่โบลโซนาโรทำในช่วงวิกฤตโรคระบาดถูกขยายกรอบเวลามาเรื่อยๆ จึงทำให้เขาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ในขณะที่มีผู้วิเคราะห์ว่า อิทธิพลของกระแสต่อต้านพรรคแรงงานจากกรณีการทุจริตต่างๆ มีส่วนสำคัญต่อผลของการเลือกตั้งครั้งนี้

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การหาเสียงของลูลาในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากเมื่อ 10 ปีที่แล้วพอสมควร ในขณะนั้นเขาพร้อมที่จะ “ปะทะ” กับชนชั้นนำโดยตรง แต่ในการเลือกตั้งรอบปัจจุบัน ลูลามีการดำเนินแคมเปญหาเสียงที่ประนีประนอมกว่า พรรคแรงงานและพันธมิตรเริ่มหาแนวร่วมที่เป็นกลุ่มทุนและผู้มีอำนาจในภาคเศรษฐกิจและการเงินมากขึ้น ความประนีประนอมดังกล่าวยังสะท้อนออกมาได้ชัดเมื่อลูลาวางแนวทางสำหรับผู้สนับสนุนของเขา โดยสั่งห้ามไม่ให้มีการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามโดยตรง อีกทั้งลูลายังใช้สีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ของพรรคแรงงานในการหาเสียงน้อยลงอีกด้วย

แม้ลูลาจะเป็นประธานาธิบดีที่มีความคิดค่อนไปทางฝ่ายซ้าย แต่ในการหาเสียงครั้งนี้เขาประกาศตนว่าเขาจะไม่วางตนอยู่ในสถานะที่มีการแบ่งแยก โดยเฉพาะในนโยบายทางเศรษฐกิจ ตลอดทั้งแคมเปญหาเสียง ลูลาพยายามนำเสนอภาพลักษณ์ใหม่ของตนในฐานะผู้สนับสนุนสันติภาพและความสงบ ซึ่งตรงข้ามกับโบลโซนาโรที่ใช้ยุทธศาสตร์ที่แข็งกร้าวกว่าในการวิจารณ์ระบบ เช่น การโจมตีบริษัทสื่อมวลชน ระบบยุติธรรม ไปจนถึงระบบมหาวิทยาลัยในบราซิล

นอกจากนี้ ถึงลูลาจะเปรียบเสมือนความหวังใหม่ภายใต้ใบหน้าเก่าสำหรับชาวบราซิลหลายคน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาผ่านเรื่องอื้อฉาวมามากมายในขณะที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งก่อน และหลังจากที่เขาลงจากตำแหน่งแล้ว ซึ่งกลายเป็นข้อกังขาที่หลายคนมีต่อเขาในฐานะประธานาธิบดีในครั้งนี้ได้

ข้อวิพากษ์วิจารณ์สำคัญที่มีต่อลูลาในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือการใช้งบประมาณดำเนินนโยบายของเขา ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นการทุ่มงบประมาณจำนวนมากโดยไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เป็นแก่นของสังคมบราซิล ติอาโก เด อาราโก นักวิเคราะห์ทางการเมืองให้ความเห็นว่า ความสำเร็จของลูลาไม่ได้มาจากการวางแผนทางเศรษฐกิจที่ดี แต่มาจากสภาพการณ์ในขณะนั้นที่เอื้อให้รัฐบาลบราซิลสามารถใช้งบประมาณจำนวนมากได้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่อื้อฉาวที่สุดของลูลาเกิดขึ้นหลังจากที่พ้นสมัยที่ 2 ของเขาไปแล้ว ในปี 2557 หลังจาก ดิลมา รุสเซฟ ประธานาธิบดีบราซิลในขณะนั้น ซึ่งมาจากพรรคแรงงานและถูกปั้นมาด้วยตัวของลูลาเอง เผชิญกับข้อกล่าวหาในกรณีคอรัปชันที่เรียกว่า “ปฏิบัติการล้างรถ” อันเกี่ยวข้องกับการฉ้อโกงและติดสินบนของบริษัทน้ำมันเปโตรบรา ซึ่งถูกจุดชนวนจากการเปิดโปงธุรกิจฟอกเงินที่อยู๋ในรูปแบบของร้านล้างรถในเมืองบราซีเลีย

ในปี 2560 ลูลาถูกตัดสินจำคุกจากกรณีที่เขารับสินบนเป็นอะพาร์ตเมนต์ริมทะเล เพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกทางการเมืองให้บริษัทก่อสร้าง ซึ่งโทษจำคุกของเขาถูกศาลขยายไปเรื่อยๆ จนถึง 17 ปี อย่างไรก็ดี ลูลาไม่เคยเดินทางเข้าไปยังอะพาร์ตเมนต์ดังกล่าวเลย และท้ายที่สุดในปี 2561 ลูลาก็ต้องเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษ เขาถูกจำคุกไม่ถึง 2 ปี ก่อนที่ศาลจะยกเลิกคำพิพากษา และปล่อยตัวเขาออกมาในปี 2562 แม้ในระหว่างที่ลูลาอยู่ในเรือนจำจะมีผู้ที่เห็นใจเขาเป็นจำนวนมาก ถึงขั้นที่มีการออกมาประท้วงตามท้องถนน และมีการก่อตั้งขบวนการ “ปล่อยตัวลูลา” เพื่อช่วยเหลือเขา แต่กรณีดังกล่าวก็สร้างความคลางแคลงใจให้กับสาธารณชนของบราซิล ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาในอนาคต

การกลับมาในครั้งนี้ของลูลาอาจไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คาดคิด แม้ลูลาจะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีไปอย่างฉิวเฉียด แต่การที่พรรคฝ่ายขวาได้มีที่นั่งในสภามากกว่าพันธมิตรของเขา จะทำให้การเมืองในรัฐสภาของบราซิลมีความดุเดือด และลูลาจำเป็นต้องใช้พลังงานในการควบคุมเสียงในสภาอย่างมาก ในขณะที่ต้องดำเนินนโยบายที่ตนสัญญาไว้ไปพร้อมๆ กัน ด้วยความท้าทายดังกล่าว ทำให้ประชาชนหลายคนในบราซิลยังคงติดตามสถานการณ์ทางการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าการกลับมาของลูลาในครั้งนี้ จะสามารถพาบราซิลผ่านพ้นวิกฤตต่างๆ ดังที่เคยทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือไม่

 

เรียบเรียงโดย ภีมพศ สีมาวุธ


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-latin-america-45168837

https://edition.cnn.com/2022/10/30/americas/brazil-election-lula-da-silva-wins-intl/index.html

https://www.aljazeera.com/opinions/2022/10/30/lula-will-not-be-more-than-a-brazilian-biden

https://www.theguardian.com/global-development/2013/dec/17/brazil-bolsa-familia-decade-anniversary-poverty-relief

https://www.dw.com/en/brazil-election-a-chance-for-a-new-start-under-lula/a-63605938

https://www.theguardian.com/world/2022/oct/31/lula-policies-priorities-win-brazil-president-election-poverty-housing-amazon