จนถึงขั้นมีข้อเสนอให้ปิดกระเทศเพื่อ 'เจ็บแต่จบ' ซึ่งรัฐบาลก็หวังใช้การปิดประเทศเป็น 'แผนเผชิญเหตุสุดท้าย'
ส่วนการ ‘ปิดจังหวัด’ เพื่อควบคุมการเข้าออก ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ตัดสินใจ ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
อีกด้านของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสก็สะท้อนถึง ‘เอกภาพ’ ของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะ 3 พรรคใหญ่ ที่เปรียบเป็น ‘ศึก 3 ก๊ก’ ไม่จบไม่สิ้น ที่มีมาตั้งแต่ตั้งรัฐบาล ระหว่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ต่างเป็นไม้เบื้อไม้เมากันมานาน
โดยเฉพาะระหว่าง พปชร. และ ปชป. ที่มีทั้งศึกนอกและศึกในพรรค ที่ภายในพรรคเองก็ไม่ได้มีเอกภาพ มีการแบ่งก๊กต่างๆ ทำให้ข้อความในกรุ๊ปไลน์ ส.ส. มักถูกนำออกมาสู่ภายนอกอยู่ตลอด ซึ่งผู้นำแต่ละพรรคต่างแบ่งรับแบ่งสู้ย้ำว่า พรรคยังคงมีเอกภาพและเป็นเรื่องธรรมดาของความเห็นต่าง
จึงทำให้มีการมองข้ามช็อตไปหลังวิกฤติโควิด-19
โดยต่างเชื่อกันว่าจะมีเหตุเปลี่ยนแปลงสำคัญทางการเมือง หากเป็นไปตามวงรอบก็เชื่อกันว่าจะมีการปรับ ครม. เกิดขึ้น ซึ่งก็เป็นระยะเวลาที่พอเหมาะ เพราะ ครม.ประยุทธ์ 2 ทำหน้าที่มาเกือบครบ 1 ปีพอดี ซึ่งตำบลกระสุนครั้งนี้ตกไปที่พรรคประชาธิปัตย์แน่นอน ที่อาจถูกริบเก้าอี้รัฐมนตรี
ส่วนฝั่งพรรคภูมิใจไทยก็แสดงท่าทีอย่าแตะต้อง 7 เก้าอี้รัฐมนตรีที่พรรคมีอยู่ รวมทั้งต้องจับตาว่าจะมีพรรคเล็กใดได้เข้าร่วม ครม. หากสุดท้ายมีการปรับ ครม. โดยใช้สูตรคณิตศาสตร์มาคำนวณที่นั่ง โดยเฉพาะพรรคชาติพัฒนาที่ ‘เทวัญ ลิปตพัลลภ’รมต.สำนักนายกฯ ก็มีเสียวหลุดเก้าอี้ เพราะมีจำนวน ส.ส. น้อยกวาพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ จึงเร่งทำงานในช่วงนี้
อย่างไรก็ตาม ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ยังมีวิถีทางรัฐธรรมนูญในการแก้ปัญหาทางการเมือง
อย่างน้อยที่สุดก็คือการปรับ ครม. ที่มีโอกาสเป็นไปได้ที่สุด
รวมทั้งการยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก็เป็นกระบวนการตามรัฐสภาทั้งสิ้น
แต่มีการพูดถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกด้วยเช่นกัน
หากลาออกแล้ว ครม.ทั้งคณะก็ต้องพ้นไปจากนั้นสภาก็จะทำการเปิดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว.เพื่อโหวตเลือก นายกฯ คนใหม่ขึ้นมาใหม่ และจากนั้นก็จะเป็นกระบวนการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ พล.อ.ประยุทธ์ จะยังคงเป็น นายกฯ เช่นเดิมหรือไม่
หากไม่ได้เป็นต่อแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะมีตำแหน่งสำคัญใดรองรับหรือไม่
รวมทั้งอีก 2 ป.ทั้ง ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กับ ‘บิ๊กป๊อก’พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ทั้ง ‘3ป.’ ร่วมหัวจมท้ายกันมาตั้งแต่ต้น
หาก พล.อ.ประยุทธ์ วางมือก็มองกันว่าทั้ง 2ป. ก็จะวางเช่นกัน
แต่ พล.อ.ประวิตร อาจต่างออกไป เพราะยังมีภาระพรรคพลังประชารัฐอยู่ ในฐานะ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรค
ชะตาของทั้ง 3ป. ที่ขี่หลังเสือมานานกว่า 6 ปี จะจบอย่างไร จะซ้ำรอย 3 ทรราชย์ ในยุคเดือนตุลา 2516 หรือไม่
ทั้งนี้การพูดถึง ‘นายกฯคนนอก’ ขึ้นมาอีกครั้ง
ซึ่งชื่อยังคงเป็นชื่อเดิมๆ ที่พูดกันตั้งแต่ปีที่แล้ว ก่อนจะมีการโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ทั้ง ‘ดร.กบ-อำพน กิตติอำพน’ และ ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี ที่ยังคงเป็น 2 ชื่อที่ถูกพูดถึง
โดยเฉพาะชื่อ พล.อ.เฉลิมชัย ที่ขั้วตรงข้าม คสช. ยังเอ่ยปากชมถึงความเป็น ‘ทหารอาชีพ’ แต่ด้วยความเป็น ‘อดีตนายทหาร’ ของ พล.อ.เฉลิมชัย ช่วงนี้จึงทำให้น้ำหนักชื่อลดลงไป ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาของประชาชนต่อกองทัพที่เกิดขึ้น ทั้งการเข้ามาของ คสช. ที่กลายเป็นการสืบทอดอำนาจ ท่ามกลางมรสุมต่างๆที่เข้ามายัง พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งโศกนาฏกรรมที่ จ.นครราชสีมา ด้วย
แต่ก็ยังคงมีชื่อ ‘แคนดิเดตนายกฯ’ ในบัญชีของแต่ละพรรคอยู่
โดยเฉพาะชื่อ ‘เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล’ หัวหน้าภูมิใจไทย จะส้มหล่นหรือไม่ ที่ยังติดเงา ‘เนวิน ชิดชอบ’ อยู่ รวมทั้งชื่อ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก็มีกระแสปั่นให้รีเทิร์นกลับมา
ด้วยข้อจำกัดของชื่อ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นรัฐมนตรีหรือลงการเมืองที่ต้องเว้นวรรค 2 ปี หลังพ้นตำแหน่ง ส.ว.โดย พล.อ.อภิรัชต์ เกษียณอายุราชการใน ก.ย.63 และจะลงสู่สนามการเมืองได้คือ ต.ค.2565 นั่นเอง
ยกเว้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่อง หรือมีการทำรัฐประหารเกิดขึ้น ซึ่งยังคงเป็นกระแสข่าวที่เกิดขึ้นอยู่เนืองๆ
หลัง พล.อ.อภิรัชต์ เงียบหายไปตั้งแต่ก่อนยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นเวลากว่า 1 เดือนแล้ว โดย พล.อ.อภิรัชต์ ปฏิบัติหน้าที่ใน บก.ทบ. และ นอก บก.ทบ. ตามภารกิจต่างๆ โดยไม่ได้พบสื่อหรือให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด รวมทั้ง ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นๆด้วย ที่ต่างงดให้สัมภาษณ์เรื่องการเมือง และเน้นเรื่องการหนุนรัฐบาลแก้ปัญหาโควิด-19 และ ปัญหาไฟป่า หมอกควัน เป็นหลักก่อน
แต่สิ่งที่ทำให้กระแสข่าวรัฐประหารถูกกระพืออีกครั้ง หลังมีข่าว ผบ.เหล่าทัพ พร้อมใจกันไม่รับและคืนเงินเดือน ส.ว. ที่ได้รับมา ทำให้เกิดการตีความโยงการเมืองขึ้นมาทันทีว่าเป็น ‘ส่งสัญญาณ’ ใดออกมาหรือไม่
บ้างก็มองว่าเป็นการ ‘ตีออกตัวออกห่าง’ จากรัฐบาล
หรือวางบทบาทปรับ ‘ดุลอำนาจ’ ใดหรือไม่ โดย ผบ.เหล่าทัพ ต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นความตั้งใจที่อยู่เดิม ไม่ต้องการรับเงินเดือน 2 ทาง
หลังมีการพูดคุยเรื่องนี้ในการประชุม ผบ.เหล่าทัพ แต่ไม่ต้องการเป็นข่าว จึงไม่ได้ประกาศใดๆ จนสุดท้ายกลายเป็นข่าวเพราะต้องผ่านกระบวนการสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภานั่นเอง หลัง ผบ.เหล่าทัพ ถูกกระแสโจมตีหนักถึงการมาเป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง
ซึ่งเชื่อกันว่าการที่ผบ.เหล่าทัพชุดปัจจุบันตัดสินใจไม่รับเงือนเดือนส.ว. จะเป็น ‘บรรทัดฐาน’ ให้กับ ผบ.เหล่าทัพ ที่มาเป็น ส.ว.ชุดต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตามการรัฐประหารยังคงเป็นเพียงกระแสข่าวเท่านั้น
เพราะในปัจจุบันยังไม่มี ‘ปัจจัย’ ที่จะเป็นสาเหตุการทำรัฐประหารได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงมีทางออกตามรัฐธรรมนูญ และกลไกรัฐสภา
รวมทั้งมรสุมที่รัฐบาลเผชิญยังคงใช้กลไกบริหารราชการปกติทำงานได้อยู่ ยังไม่วิกฤตเช่นในอดีต เช่นช่วงปี 2549 และปี 2557 และไม่มีการออกมาชุมนุมทางการเมืองที่กลายเป็นจลาจล แม้จะมีการเกิดขึ้นของแฟลชม็อบก็ตาม แต่ก็ยังไม่กำลังพอที่จะนำมาสู่การปูทางทำรัฐประหารได้ เว้นแต่การชุมนุมขยายตัวขึ้นและรวมกับกลุ่มชนชั้นกลางหรือชนชั้นนำในสังคมได้ ที่เดือนร้อนจากพิษเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลก็ตระหนักในเรื่องเหล่านี้ดี
อีกทั้งการจัดหน่วยใหม่ของ ทบ. ในพื้นที่ กทม. ที่เป็นหน่วยเป็นที่ขุมกำลังปฏิวัติ ก็ถูกโยงไปชานเมืองและต่างจังหวัด อีกทั้งมีการปรับหน่วยสำคัญในการรัฐประหารออกจาก ทบ. ไปด้วย
จึงทำให้สยบกระแสลือ ‘รัฐประหาร’ ลงไป แต่ต้องติดตามกันต่อไปยาวๆ ว่าจะมีกระบวนการ ‘กระชับอำนาจ’ รูปแบบใดออกมา หรือไม่ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง