ไม่พบผลการค้นหา
จิตแพทย์ แนะฝึกทำสมาธิ เพื่อรับมือกับความเครียดจากสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจ และเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน อีกทั้งยังป้องกันการเกิดโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด เช่น โรคซึมเศร้า และโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย

นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า สภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมเศรษฐกิจและเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคปัจจุบันล้วนก่อความเครียดให้ประชาชนได้ง่าย การคลายเครียดมีหลายวิธีที่ได้ผล เช่น การออกกำลังกาย แต่ประชาชนบางคนอาจไม่สะดวกหรือมีข้อจำกัดต่างๆ

รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ จึงมีข้อแนะนำให้ใช้วิธีการฝึกทำสมาธิ ซึ่งเป็นการผ่อนคลายความเครียดที่ลึกซึ้งที่สุด มีรูปแบบที่ง่ายสามารถปฏิบัติได้ด้วยตัวเองทำที่ไหนก็ได้ไม่จำเป็นต้องไปทำที่วัด สามารถทำได้ทุกอิริยาบถไม่มีข้อจำกัดด้านอายุ ผู้ที่กำลังนอนป่วยก็ทำได้ หลักสำคัญของการทำสมาธิ คือการเอาใจไปจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงอย่างเดียว วิธีที่แนะนำ คือการนับลมหายใจของตัวเองเป็นหลัก และยุติการคิดเรื่องอื่นๆ อย่างสิ้นเชิงการทำสมาธิจะช่วยให้จิตใจสงบ ปลอดความคิดฟุ้งซ่าน ความกังวล เศร้า โกรธ ซึ่งเป็นผลมาจากความเครียด

ด้านแพทย์หญิงอรภา เข็มทอง จิตแพทย์และหัวหน้ากลุ่มงานสนับสนุนและพัฒนาเครือข่าย รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการฝึกสมาธิโดยการนับลมหายใจมีเพียง 3 ขั้นง่ายๆ ดังนี้ 

ขั้นที่ 1 ให้นั่งหรือนอนแล้วหลับตาเพื่อตัดสิ่งรบกวนทั้งหมดและหายใจเข้า-ออกช้าๆ จากนั้นให้เริ่��นับลมหายใจเข้า-ออก คือลมหายใจเข้านับ 1 หายใจออกก็นับ 1, หายใจเข้านับ 2 หายใจออกก็นับ 2 นับไปเรื่อยๆ ลักษณะเดียวกันจนถึง 5 แล้วให้เริ่มนับ 1 ใหม่ นับไปจนถึง 6 แล้วกลับมาเริ่มนับ 1 ใหม่จนถึง 7 และเพิ่มจำนวนเป็น 8, 9, 10 เมื่อครบ 10 ถือเป็น 1 รอบแล้วจึงเริ่มนับ 1 ใหม่ไปจนถึง 10 และทำซ้ำๆ กันจนใจสงบและนิ่งขึ้น 

โดยผู้ที่เริ่มฝึกครั้งแรกอาจจะนับเลขผิดพลาดได้ เนื่องจากอาจยังไม่มีสมาธิพอหรืออาจจะมีความคิดอื่นๆ ผุดขึ้นมาระหว่างนับลมหายใจไม่ต้องกังวลใจ ขอให้พยายามตั้งสติใหม่ ประการสำคัญเมื่อมีความคิดแทรกขึ้นมาขอให้รับรู้และปล่อยไป ไม่เก็บมาคิดต่อสมาธิจะดีขึ้น 

ขั้นที่ 2 เมื่อใจสงบมากขึ้นแล้วให้เริ่มนับลมหายใจเข้า-ออกเร็วขึ้นไปอีก และต่อเนื่องกันคือหายใจเข้านับ 1 หายใจออกนับ 2 ไปจนถึง 10 และขั้นที่ 3 หากนับลมหายใจเข้า-ออกได้เร็ว และไม่ผิดพลาดแสดงว่าจิตใจสงบมากแล้ว คราวนี้ให้ใช้สติมารับรู้รับลมหายใจเข้า-ออกเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องนับเลขและไม่คิดเรื่องใดๆ ทั้งสิ้นมีแต่เรื่องสงบเท่านั้น

แพทย์หญิงอรภา กล่าวต่อว่า หากเราฝึกสมาธิเป็นประจำโดยใช้เวลาเพียง 15 นาทีวันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น หรือก่อนนอนจะทำให้จิตใจเราสงบ เบิกบานอารมณ์เย็น สมองแจ่มใส หายเครียด จนตัวเองและคนใกล้ชิดรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน      

การฝึกสมาธินี้ได้รับความนิยมจากคนทั่วโลก มีงานวิจัยยืนยันตรงกันว่ามีผลดีต่อร่างกายและจิตใจช่วยทำให้จิตสงบ โดยร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphins) หรือสารแห่งความสุขออกมาช่วยให้ระบบประสาทสมองทำงานเป็นระเบียบ การทำงานของอวัยวะมีประสิทธิภาพดีขึ้นสามารถป้องกันการเกิดโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดได้อย่างน้อย 6 โรค ได้แก่ โรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ