ไม่พบผลการค้นหา
ครั้งแรกของ กทม. ส่งเสริมคนกรุงฯ แยกขยะอย่างเป็นรูปธรรม หลังสภากทม.เห็นชอบ ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย

การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สี่ (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2567 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ดินแดง นายพุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก.เขตยานนาวา ในฐานะประธานกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. .... ได้รายงานผลการพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ ของคณะกรรมการวิสามัญฯ ต่อที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร โดยมีนายสุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร และจะมีการประกาศใช้ข้อบัญญัติในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

S__28475487.jpg

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุมว่า เดิมข้อบัญญัติฯ ปี 2562 มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ตามครัวเรือนเดือนละ 80 บาท โดยมองว่ามีค่าธรรมเนียมสูงเกินไป ผู้ว่าฯกทม. จึงให้จัดทำข้อบัญญัติฯ ใหม่ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 แบบ คือ 

1.มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน 

2.ไม่มีการคัดแยกขยะ ค่าธรรมเนียม 60 บาทต่อเดือน  

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดและคัดแยกมูลฝอยที่แหล่งกำเนิดอย่างจริงจัง และสอดคล้องกับสภาวการณ์และภาระค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ซึ่งเนื้อหาหลักที่แตกต่างระหว่างปี พ.ศ. 2546 กับปี พ.ศ.2562 คือการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจะนำปริมาณขยะมาประกอบการคำนวณอัตราค่าธรรมเนียมด้วย เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ที่ทิ้งขยะจำนวนน้อย ไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน หรือผู้ที่คัดแยกขยะต้นทางจากครัวเรือนได้มากกว่า รวมถึงเก็บอัตราค่าธรรมเนียมกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีจำนวนขยะมากในแต่ละวันได้อย่างเหมาะสม ซึ่งอัตราดังกล่าวยังเป็นการส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนให้คัดแยกขยะอีกทางด้วย ซึ่งการคาดการณ์รายได้จากการจัดเก็บอัตราค่าธรรมเนียมใหม่จะทำให้ กทม.สามารถจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มากขึ้น จากเดิม 166 ล้านบาท เป็น 664 ล้านบาท ซึ่งหัวใจของการจัดเก็บอัตราใหม่นี้ คือจะเก็บเงินกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีขยะสู่เมืองในอัตราที่สูงขึ้น และหากใครมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางก็จะได้ลดอัตราค่าธรรมเนียมอย่างต่อเนื่อง โดยร่างข้อบัญญัตินี้ต้องการสร้างจิตสำนึกของประชาชนอย่างต่อเนื่องและสร้างความตื่นตัวให้กับเจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในการให้บริการประชาชน

สำหรับสาระสำคัญอัตราค่าธรรมเนียมที่ปรับปรุงใหม่ แบ่งเป็นค่าเก็บและขนสิ่งปฏิกูลต่อครั้ง คิดอัตราลูกบาศก์เมตรละ 300 บาท ส่วนอัตราค่าเก็บและขนมูลฝอยทั่วไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 

กลุ่มที่ 1 ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน ค่าเก็บและขน เดือนละ 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท รวม 60 บาท (เดิม 20 บาท) 

กลุ่มที่ 2 เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน (เดิม 40 บาท/20 ลิตร) และเกิน 500 ลิตรต่อวันแต่ไม่เกิน 1 ลบ.ม. ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท) ค่าเก็บและขน 60 บาท/20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาท/20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร 

กลุ่มที่ 3 เกิน 1 ลบ.ม.ต่อวัน (เดิม 2,000 บาท/1 ลบ.ม.) ค่าเก็บและขน 3,250 บาท/1 ลบ.ม. ค่ากำจัด 4,750 บาท/1 ลบ.ม. รวม 8,000 บาท/1 ลบ.ม.

ปีที่ผ่านมากรุงเทพมหานครยังไม่มีการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว แต่กรุงเทพทหานครมีโครงการ “ไม่เทรวม” ซึ่งสามารถลดขยะได้มากกว่า 10% จากความร่วมมือของประชาชน ดังนั้นหากเริ่มการบังคับใช้ข้อบัญญัติดังกล่าว คาดการณ์ว่าจะสามารถลดขยะของกรุงเทพมหานครได้ปริมาณมหาศาลและสร้างรายได้ให้กับกรุงเทพมหานครจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอีกทางด้วย

หลังจากนี้ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบให้มากที่สุด คาดว่าข้อบัญญัติฯ จะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วัน ทั้งนี้ในกรุงเทพฯ มีบ้านเรือนประชากรกว่า 2 ล้านหลังคาเรือน ซึ่งจากการสำรวจเบื้องต้นมีประชาชนคัดแยกขยะประมาณ 50,000 ครัวเรือน โดยเบื้องต้นจะมีการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน และที่ฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ทั้ง 50 สำนักงานเขต โดยหลังจากลงทะเบียนแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบเพื่อยืนยันว่ามีการคัดแยกขยะจริงหรือไม่ และเก็บค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน ตามเดิม

เคอร์ฟิว เก็บขยะ  ล็อกดาวน์ 12 กค 644E73-B7A5-23C04B2CFE7B.jpegขยะ ปัญหาขยะ ขยะพลาสติก20220524_CC_23 ภาพชุดชัชชาติ ชัชชาติตักขยะชัชชาติ ผู้ว่า กทม พนักงานกวาดขยะ สวัสดิการ


Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog