วันที่ 15 พ.ย. ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ชาติ ร่วมกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนาม "ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค" หรืออาร์เซ็ป (RCEP) ถือเป็นการจัดตั้งเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบหนึ่งในสามของโลก ท่ามกลางความหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
การลงนามดังกล่าว มีขึ้นระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ที่ผู้นำเวียดนามเป็นเจ้าภาพ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยผู้นำของชาติสมาชิกทุกประเทศ ยืนอยู่ด้านหลังรัฐมนตรีพาณิชย์ ของตัวเอง ซึ่งรับหน้าที่ลงนามในข้อตกลง ก่อนจะแสดงสำเนาการลงนามผ่านกล้องให้กับทุกชาติสมาชิกเห็น
เหงียนซวนฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะเจ้าภาพอาเซียน กล่าวว่า ข้อสรุปของการเจรจาอาร์เซ็ป ถือเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งแสดงถึงความชัดเจนต่อบทบาทชั้นนำในภูมิภาคอาเซียนที่สนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี และสร้างระบบการค้าใหม่ในภูมิภาคที่จะมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 โดยอาร์เซ็ปครองสัดส่วนเศรษฐกิจโลกร้อยละ 30 และเข้าถึงผู้บริโภคไมต่ำกว่า 3,000 ล้านคน
ด้านหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวว่า การลงนามในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในกลุ่มความร่วมมือของเอเชียตะวันออก แต่ยังเป็นชัยชนะของระบบพหุภาคี และการค้าเสรี
สำหรับ จุดเริ่มต้นของอาร์เซ็ป มีขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2555 โดยชาติสมาชิกอาเซียน เพื่อเปิดทางให้เกิดเขตการค้าเสรีระหว่างสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ชาติ และประเทศคู่ค้าในภูมิภาค อย่าง จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย และนิวซีแลนด์ แต่ภายหลังอินเดียถอนตัวออกไป ซึ่งการลงนามนี้ ถือเป็นเขตการค้าเสรีฉบับแรกที่สามประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียอย่าง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เข้าร่วมพร้อมกัน
แม้เบื้องต้นยังไม่มีรายละเอียดของสินค้าหรือรายชื่อประเทศที่จะลดภาษีการนำเข้าสินค้าของชาติสมาชิก แต่เรื่องดังกล่าว ถือเป็นชัยชนะของจีน ซึ่งเป็นผู้ผลักดันแนวคิดเรื่องนี้ เพื่อแข่งกับข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ของสหรัฐฯ ที่ถูกเสนอขึ้นในสมัยประธานาธิบดีบารัก โอบามา แต่กลับถูกเพิกเฉยในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้านหอการค้าสหรัฐฯ คาดว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน จะยังไม่กลับมาเข้าร่วม TPP ในทันที เพราะต้องใช้ช่วงปีแรกมุ่งแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ก่อน
ที่มา Bloomberg , Asiatimes , Reuters