ไม่พบผลการค้นหา
'สมคิด' ปัดเตะถ่วงพิจารณา กม.ลูกเลือกตั้ง ให้เกินกรอบเวลา ชี้ยื้อไปไม่มีประโยชน์ หวังลุ้น กกต. ตีความพลิกกลับเป็นหาร 100 เตือนผู้หวังคืนชีพบัตรใบเดียวต้องแก้ไข รธน. ย้ำรัฐสภามาไกลเกินถอยกลับแล้ว ระวังตอบสังคมไม่ได้

วันที่ 27 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เปิดเผยกับ 'วอยซ์' กรณีคณะกรรมาธิการฯ ได้นัดหมายการประชุมเพิ่มเติมเพื่อทบทวนแก้ไขเนื้อหาบางมาตราให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณแบบหาร 500 ในมาตรา 23 ที่รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบมาแล้ว และเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติให้ถอนร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ออกมาให้กรรมาธิการพิจารณาเพิ่มเติม

โดย สมคิด ระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมในวันนี้ ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่เคยเห็นด้วยกับการปรับแก้เป็นสูตรคำนวณแบบหาร 500 ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ในการประชุมนี้ กรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคเพื่อไทยจะไม่ขัดขวางอะไร เพราะว่าแพ้คะแนนโหวตมาตรา 23 ในรัฐสภามาแล้ว แต่ก็ยังยืนยันว่าไม่เห็นด้วย 

สำหรับความเห็นที่บางฝ่ายมองว่า การถอนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตัั้ง ส.ส.ออกมาพิจารณาเพิ่มเติม เป็นการพยายามยื้อเวลาเพื่อให้เกินกรอบการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในเวลา 180 เพื่อให้กฏหมายดังกล่าวล้มไป สมคิด ระบุว่า การยื้อเวลาไม่มีประโยชน์ ต่อให้อยากจะทำวิธีการนี้ก็ทำไม่ได้ เพราะระบบรัฐสภาไม่ได้มาจากความคิดของใครคนใดคนหนึ่ง จะดึงไว้ไม่มีประโยชน์ การเตะถ่วงกลับไปร่างเดิมนั้น สมาชิกรัฐสภาซึ่งเป็นจำนวนมากคงไม่ยอม เห็นว่าควรปล่อยไปให้การพิจารณากฎหมายฉบับนี้แล้วเสร็จ จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของรัฐสภาส่งต่อให้ยังองค์กรอิสระให้ความเห็น

หากองค์กรอิสระอย่างสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทักท้วงมาอย่างไร ก็ตีกลับมาที่ที่ประชุมสภา ส่วนตนเชื่อว่าร่าง พ.ร.ป.ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเป็นร่างหลักในการพิจารณา กกต.เป็นผู้ร่าง และเสนอให้กับ ครม. เอง ดังนั้น ส่วนตัวมองว่า กกต. ควรทักท้วงเนื่องจากเป็นร่างของ กกต. เอง และในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็อยู่ที่การตีความ

"การตีความสูตรคำนวณแบบหาร 100 นั้น ถ้าจะตีความให้ขัดก็ขัด ถ้าจะตีความให้ไม่ขัด มันก็ไม่ขัดเลย แต่สูตรหาร 500 นี่ขัด 100%"

ส่วนกระแสข่าวว่าแกนนำรัฐบาลต้องการสูตรหาร 100 และอาจถึงขั้นปรับแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเปลี่ยนกลับเป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวนั้น สมคิด กล่าวว่าวิธีการแบบนั้น ตนไม่อยากใช้คำว่าพวกมากลากไป แต่การกลับไปใช้บัตรใบเดียวมีทางเดียว คือรัฐสภาต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น ซึ่งต้องเริ่มต้นใหม่

"แล้วจะเอาเหตุผลอะไรมาตอบ เพราะรัฐธรรมนูญแบบบัตร 2 ใบยังไม่ทันได้ใช้เลย แล้วการจะแก้ใหม่นี้ ตอบสังคมได้หรือไม่ ว่าทำเพื่ออะไร ฝากเตือนไปยังทุกคนที่หวังจะผลักดันเรื่องนี้ ว่ารัฐสภาเดินมาไกลแล้ว จนภาคประชาชนทุกคนรู้แล้วว่าต้องใช้บัตร 2 ใบ แล้วหากจะไปเปลี่ยนกลับคืนโดยการใช้เสียงข้างมากจะไหวหรือ บ้านเมืองอาจจะไปไม่ได้ ตอนนี้รัฐสภามาไกลเกินกว่าที่จะกลับไปบัตรใบเดียวแล้ว" สมคิด กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง