23 ม.ค. 2567 ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีดำริตั้งให้เป็นคณะกรรมการคลี่คลายปัญหาการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยระบุว่า ยังไม่มีใครติดต่อมา อีกทั้งยังไม่ได้มีการปรึกษาหารือกันก่อนในรายละเอียด ส่วนตัวเห็นว่าควรคุยกันก่อน พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าเจตนาของ สุทิน ต้องการให้มีประเด็นข่าวหน้าสื่อเพื่อที่จะให้เป็นประเด็นอื่นหรือไม่
รังสิมันต์ ย้ำว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ ยินดีที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายใต้ผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ แต่ไม่ได้มีการประสานล่วงหน้า จึงฝากคำถามกลับไปว่า ต้องการให้ไปเป็นคณะกรรมการฯ จริงหรือไม่ หรือต้องการให้มีภาพปรากฏในสื่อมาเท่านั้น
ทั้งนี้ การเข้าไปร่วมคณะกรรมการดังกล่าว จะต้องพิจารณาในข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ และ ในทางปฏิบัติแม้ไม่ได้เข้าไปร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว อาจจะเชิญกรรมาธิการไปร่วมรับฟังข้อมูล หรือมอบข้อมูลเรื่องเกี่ยวกับเรือดำน้ำจากกองทัพเรือและกระทรวงกลาโหม ต่อกรรมาธิการความมั่นคงฯ ซึ่งต้องการข้อมูลดังกล่าวอยู่แล้ว
"ข้อมูลเรือดำน้ำที่บอกว่าจะจัดซื้อแล้วมีปัญหา แล้วจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต เราเองต้องการข้อมูลตรงนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะในฐานะกรรมาธิการต้องปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ผลประโยชน์ของประเทศชาติ " รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ ยังย้ำว่า ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่รู้จะตอบรับอะไร และยังคงรอการติดต่อจากท่านรัฐมนตรี เบอร์ผมยังมีอยู่กระมัง ยังไงเป็นรัฐมนตรีแล้วก็คงไม่ได้ลบเบอร์ฝ่ายค้านที่เคยสู้มาด้วยกัน" รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนจากกองทัพว่าจะจัดซื้อเรือดำน้ำด้วยภัยความมั่นคงแบบใด และหากจะซื้อมาแล้วจะต้องพิจารณาในมิติเรื่องของการเชื่อมโยงระหว่างเรือดำน้ำและอาวุธต่างๆ มีหรือไม่ แต่ในวันนี้ทางกรรมาธิการยังไม่ได้รับข้อมูลใดเกี่ยวกับการจะซื้อเรือดำน้ำเลย
"หากจำเป็นต้องมีการตรวจสอบในฐานะฝ่ายตรวจสอบมีหน้าที่อยู่แล้วยินดีทำหน้าที่ แม้ไม่ได้อยู่ในบทบาทของกรรมการหากกระทรวงกลาโหมให้ความร่วมมือก็สามารถที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบได้และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปนั่งเป็นกรรมการ ขอแค่ความร่วมมือได้ไหม"
รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า การเข้าถึงข้อมูลของกองทัพยังทำได้ยาก หากได้รับความร่วมมือในฐานะกรรมาธิการฯ ก็จะถือว่าจบ ไม่จำเป็นต้องไปนั่งเป็นกรรมการให้เปลืองภาษีประชาชน แต่ครั้งนี้ถือว่าสถานการณ์บังคับว่าหากไม่เข้าร่วมคณะกรรมการ การขอข้อมูลที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนก็จะไม่สามารถดำเนินการได้
รังสิมันต์ ย้ำถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการดังกล่าวซึ่งเป็นบทบาทของฝ่ายบริหาร ในขณะที่ฝ่ายตรวจสอบเป็นหน้าที่นิติบัญญัติ ซึ่งงานหลักคือการตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติ จึงจะยึดบทบาทตรงนี้เป็นหลัก โดยคาดหวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามระบบ
รังสิมันต์ เสนอให้ สุทิน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า ควรจะทำให้การปฏิรูปกองทัพเกิดขึ้นจริง ส่วนการจัดซื้ออาวุธยุทธโทปกรณ์จะต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ยังหาเหตุผลของความจำกันไม่ได้ควรจะต้องเลิก ซึ่งมีปัญหาเรื่องของเครื่องยนต์อีกด้วย ขอให้รัฐบาลอย่าพยายามปกป้องเรื่องนี้ เพราะว่าสายไปแล้ว และจะต้องทำให้การจัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส เป็นไปด้วยความจำเป็นไม่มีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น
"เรื่องเรือดำน้ำเลิกไม่ได้หรือ ตอนจัดตั้งรัฐบาล มีนาย บ. คนนึงหรือไม่ ไปจ่ายค่าหัวคิว และสุดท้ายลุงคนนั้นไม่รู้ รับไปแล้ว 20% หรือมากกว่านั้น เขาจ่ายไปหมดแล้ว เลยขึ้นกันไม่ได้ แค่นั้นแหละ กลายเป็นเรื่องทุจริตคอรัปชั่น กลายเป็นเรื่องหักหัวคิวใช่หรือไม่ ให้ไปดูการอภิปรายของ ยุทธพงศ์จรัสเสถียร ก็ได้" รังสิมันต์ กล่าว