แม้พรรคกลาง ประชาธิปัตย์ – ภูมิใจไทย จะตกหลุมพราง ขานชื่อโหวต “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี รอบสองไปแล้วก็ตาม
แต่ตำแหน่งใหญ่ - เก้าอี้กระทรวงเกรดเอ ยังคงยื้อแย่ง - ชุลมุนกันฝุ่นตลบ
พรรคที่อาการหนักสุดมากกว่าภูมิใจไทย คือ “ประชาธิปัตย์” เพราะราคาที่จ่ายเพื่อการเข้าร่วมรัฐบาล ทำเอาพรรคเกือบแตก
“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” อดีตหัวหน้าพรรค ประกาศยึด “สจฺจํเว อมตา วาจา” ยอมลาออกจาก ส.ส. เพื่อรักษาคำพูดว่าไม่เอา “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกฯ ฉีกมติพรรคที่ยอมเข้าร่วมรัฐบาลกับพลังประชารัฐ และไม่ทรยศอุดมการณ์พรรคตั้งแต่ก่อตั้ง 2489 ทั้งสิ้น 10 ข้อ
1.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยวิถีอันบริสุทธิ์
2.พรรคจะดำเนินการเมืองด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน
3.พรรคจะดำเนินการเมืองโดยอาศัยหลักกฎหมาย และเหตุผลเพื่อความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน รุ่นหลังให้มีความนับถือ และนิยมในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
4.พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ
5.พรรคจะกระจายอำนาจการดำเนินการในท้องถิ่นให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้เนื่องจากความใกล้ชิด ขององค์กรในท้องถิ่นมีมากกว่าส่วนกลาง
6.พรรคมีจุดประสงค์ที่จะให้คนไทยมี ที่ทำกิน ที่อยู่และอาชีพ และจะเคารพกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนบุคคล แต่มิได้ละเลยที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม
7.พรรคเชื่อว่า การแทรกแซงของรัฐเป็นสิ่งที่จำเป็น ในกิจการที่เห็นว่าการแทรกแซงจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม เช่น กิจการสาธารณูปโภค
8.พรรคจะส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่ง การศึกษา, ศาสนา, สาธารณสุขและสาธารณูปการ, ศิลป,วรรณกรรม, จารีต ประเพณี, ธรรมเนียมอันดีของชาติ และความปลอดภัยของประชาชน
9.พรรคเชื่อว่า การป้องกันประเทศนั้น ต้องอาศัยการก่อให้เกิดความร่วมมือพร้อมเพรียง ของประชาชนผู้เป็นเจ้าของ ประเทศ และจะต้องให้มีการบำรุง กำลังหลัก คือ กองทัพให้ทันสมัยทั้งคุณภาพ และปริมาณเท่าที่จะเหมาะสมแก่แผนการ ทางยุทธศาสตร์ และนโยบายทางการเมือง และ 10.พรรคจะส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างประเทศ
(ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนแรก)
แต่หากทวนเข็มนาทีประวัติศาสตร์กลับไปหลัง “ควง อภัยวงศ์” และผองเพื่อนก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้เพียง 1 ปีเศษ
8 พ.ย.2490 “จอมพลผิน ชุณหะวัณ” นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจ รัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะรัฐประหารได้เชิญให้ “ควง” ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เข้ารายงานตัวในช่วงสายวันยึดอำนาจ
แล้วหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนแรกก็ยอม “กลืนอุดมการณ์” ผ่านไปไม่ถึง สัปดาห์เขาก็รับตำแหน่งนายกฯ ให้กับคณะยึดอำนาจ หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ฉบับวันที่ 15 พ.ย.2490 บันทึกคำปราศรัยของ “ควง” หลังรับตำแหน่งนายกฯ ว่า
“ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งในเจตนาและการเสียสละของคณะรัฐประหาร ซึ่งเท่าที่ได้เห็นเป็นมาด้วยความบริสุทธิ์ มิใช่เป็นการกระทำที่แสดงว่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ดังที่ได้ปรากฏว่า คณะรัฐประหารได้พร้อมที่จะมอบการบริหารแผ่นดินให้ผู้อื่นและไม่ประสงค์ที่จะควบคุมอำนาจไว้แต่ประการใดเลย นอกจากจะรักษาความปลอดภัยในด้านทหารไว้เท่านั้น...”
“เพราะว่าคณะรัฐประหารนี้ได้ให้ความไว้วางใจแก่ข้าพเจ้า โดยมีความเห็นว่าข้าพเจ้าจะสามารถจัดหาบุคคลที่เหมาะสมมาร่วมกันบริหารบ้านเมือง ในขณะนี้ให้ลุล่วงด้วยดี ถ้าแม้หากว่าข้าพเจ้าปฏิเสธเสียก็จะเป็นการไม่ยอมร่วมมือกับผู้ที่มุ่งหวังดีต่อประเทศชาติถึงขั้นเสียสละ อีกทั้งจะทำให้การจัดหาบุคคลมาเป็นคณะรัฐบาลต้องยุ่งยากลำบาก ซึ่งจะทำให้ภาวะของบ้านเมืองมีทางเข้าสู่ความสงบและเป็นปกติต้องล่าช้าออกไป และจะมีผลร้ายต่อประเทศชาติ เพราะว่าตราบเท่าที่บ้านเมืองยังไม่มีรัฐบาล กิจการบ้านเมืองและสวัสดิภาพของประชาชนก็จะมีโดยบริบูรณ์ไม่ได้ ซึ่งจะมีผลกระทบกระเทือนต่อฐานะของประเทศชาติทั้งภายในและภายนอก”
“ข้าพเจ้ามีความห่วงใยในสภาพของบ้านเมือง และความลำบากยากแค้นของประชาชนและได้มีเจตนามาแล้วที่จะช่วยแก้ไขให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ดังที่ท่านได้เห็นมาแล้วในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้าน เมื่อคณะรัฐประหารได้เจาะจงขอร้องมา และภาวะในขณะนี้ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่าจำเป็นจะต้องมีคณะรัฐบาลเข้าบริหารกิจการบ้านเมืองเสียโดยเร็ว ข้าพเจ้าจึงได้ตัดสินใจที่จะรับสนองพระมหากรุณาธิคุณครั้งนี้”
หนังสือพิมพ์ ไทยราษฎร 15 พ.ย.2490 รายงานบทสัมภาษณ์ของนายควง ที่แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่า “จอมพล (จอมพล ป พิบูลสงคราม ซึ่งแกนนำคณะรัฐประหารล้วนเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ จอมพล ป และสนับสนุนให้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง) เขาไม่ยอมรับ เขาเลยให้ผมเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลขึ้นแทน ธรรมดานกบินนะคุณ คุณจะให้นกตัวเก่าบินอยู่เรื่อยๆ นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ ย่อมต้องมีการพักบ้างจอมพลเขาเป็นผู้ใหญ่เคยต่องานการมามาก เขาย่อมรู้ดีว่าตอนไหนเขาสมควรจะเข้ามา หรือตอนไหนไม่สมควรจะเข้ามา”
หลังจากเป็นนายกฯ ได้เฉพาะกิจได้ราวสองเดือน รัฐบาลควง เปิดให้เลือกตั้งทั่วไป 29 ม.ค.2491
ผลจากการเลือกตั้งที่มีกลไกอำนาจรัฐ – กองทัพ เป็นลมใต้ปีกให้ประชาธิปัตย์ชนะเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรก ครองเสียงข้างมากในสภา 56 เสียง จาก 99 ที่นั่ง ส.ส.ในสภา
ขณะที่กลุ่มพรรคสหชีพและแนวรัฐธรรมนูญ ที่สนับสนุนขั้วการเมืองปรีดี พนมยงค์ เมื่อการเลือกตั้งปี 2489 ได้ ส.ส.เพียง 8 ที่นั่งในสภา
ทว่า รัฐบาลควงหลังการเลือกตั้งก็อยู่ในอำนาจได้ ราว 2 เดือน ก็ถึงเวลา “อันสมควร” ที่ จอมพล ป จะกลับมาเป็นนายกฯ
6 เม.ย.2491 คณะรัฐประหารขอให้ “รัฐบาลควง” ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง “รัฐบาลควง” ต้องยอมจำนน และลาออกในวันเดียวกัน เพื่อให้ “จอมพล ป” เป็นนายกฯ อีกครั้ง
บนเส้นทางการเมืองของประชาธิปัตย์ 73 ปี มีทั้งช่วงเวลา “กลืนเลือด” เข้าร่วมรัฐบาลรัฐประหาร และ ช่วงเวลาที่ยืนหยัดคนละขั้วกับคณะทหาร
(ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คนที่ 2 )
ดังเช่น ยุคที่ “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” เปิดให้มีการเลือกตั้งปี 2511 พรรคประชาธิปัตย์ ในยุค “ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคคนที่ 2 ได้เขียนนโยบายพรรคเพิ่มเติมว่า
“พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายในอันที่จะดำเนินการเมืองโดยวิถีทางอันบริสุทธิ์ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อชาติและประชาชน อาศัยหลักกฎหมายและเหตุผล เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยและเพื่อเป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังให้มีความนิยมนับถือตลอดจนเสียสละเพื่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยด้วยเหตุดังกล่าว พรรคนี้จึงเป็นศัตรูต่อระบอบเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดๆ และไม่สนับสนุนวิธีการแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการของรัฐบาลใด”
“สามสิบกว่าปีที่แล้วมา การเปลี่ยนรัฐบาลใช้วิธีปฏิวัติรัฐประหารมิได้เปลี่ยนไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจของปวงชน จึงไม่มีอะไรก้าวหน้า บัดนี้ พลเมืองได้รับการศึกษามากขึ้นและสูงขึ้น ปัญญาชนได้แสดงออกแล้วด้วยประการต่างๆ ว่าพร้อมที่จะเช้ารับภาระในทางการเมือง จึงเป็นโอกาสที่ปวงชนเจ้าของอภนาจอธิปไตยจะได้เข้ามาเป็นใหญ่ ช่วยกันทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยสักที”
ผ่านมา 51 ปี ประชาธิปัตย์ในยุคหัวหน้าพรรค “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เข้าร่วมรัฐบาลทหาร
คำแถลงเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ตอนหนึ่ง มีว่า....
“พรรคได้ตระหนักว่า ไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นทางบวก หรือทางลบ กลับมามีผลกระทบต่อพรรคอย่างกว้างขวางแน่นอน การตัดสินใจของพรรคจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค หรือยึดประโยชน์ประเทศเหนือประโยชน์พรรค”
ทั้งนี้ ก็เพื่ออย่างน้อย ประการที่....
1 เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้
2 ให้ประเทศสามารถที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้
3 เพื่อให้พรรคสามารถขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจฐานราก อันได้แก่ เกษตรกร ไม่ว่าจะเป็นชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง ชาวสวนยางพารา ปาล์ม อ้อย ข้าวโพด รวมทั้งชาวประมง ให้สามารถมีหลักประกันในเรื่องรายได้ โดยการนำนโยบายประกันรายได้เกษตรกรของพรรคประชาธิปัตย์ให้ไปสู่การปฏิบัติที่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมต่อไปได้
4 เพื่อให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่สามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็ว ซึ่งอีกนัยหนึ่ง ก็คือการหยุดอำนาจ หรือการ “ปิดสวิตช์ คสช.” เพราะว่า คสช. จะหมดอำนาจในทันทีที่รัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณ หรือเข้าปฏิบัติหน้าที่
5 เงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นนั้น โดยเฉพาะในประเด็นให้มีการปลดล็อกหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากยิ่ง และเกือบจะเรียกว่าทำไม่ได้เลย ให้สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น ก็เสมือนเป็นการป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญในอนาคตได้
และด้วยเหตุนี้…พรรคจึงได้มีมติตอบรับคำเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ
และเป็นอีกครั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์ ยอมกลืนเลือด และกลืนอุดมการณ์ต่อต้านเผด็จการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง