ที่ศาลแพ่งรัชดา กลุ่มผู้เสียหาย 9 คนจากการสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 (สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ iLAW ที่รัฐสภากำลังพิจารณาอยู่ ) พร้อมทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. เรียกค่าเสียหายและร้องขอต่อศาลให้กำหนดมาตรการไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปิดกั้นขัดขวางและใช้กำลังสลายการชุมนุม ซึ่งขัดกฎหมายชุมนุมสาธารณะและหลักสากล
อัมรินทร์ สายจันทร์ ทนายความภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า การยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งในวันนี้ เพื่อยืนยันว่า การปิดกั้นขัดขวางการใช้เสรีภาพการชุมนุมและการใช้กำลังความรุนแรงต่อประชาชนผู้ชุมนุมตามอำเภอใจ เป็นการละเมิดต่อกฎหมายและสิทธิมนุษยชนที่ต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการยุติธรรม ไม่ปล่อยให้กลายเป็นการพ้นผิดลอยนวล เพื่อให้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้รับการเยียวยา และเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปกป้องคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกของประชาชนให้สามารถกระทำได้อย่างปลอดภัยตามที่รัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองให้การรับรอง
ด้าน อังคณา นีละไพจิตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ได้เป็นโจทก์เข้ายื่นฟ้องในครั้งนี้ด้วยกล่าวว่า ตนได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมดังกล่าว ขณะที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะกรรมาธิการ ก่อนที่การชุมนุมจะเริ่มต้นด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ ยังมีประชาชนจำนวนมากที่สัญจรบริเวณอาคารรัฐสภาก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุม ดังนั้น เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของศาลยุติธรรมเพื่อเป็นบรรทัดฐานไม่ให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ
ชลธิชา แจ้งเร็ว ในฐานะหนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมและไม่มีการเจรจาแต่อย่างใด โดยวันนี้มีการเรียกร้องค่าเสียหายทั้งหมดรวมกว่า 3 ล้านบาท เฉลี่ย 8 คนๆ ละ 3 แสนบาท และมี 1 คน เรียกร้องค่าเสียหายประมาณ 4 แสนบาท
สำหรับการที่ต้องได้มายื่นฟ้องต่อศาลแพ่งในครั้งนี้ เนื่องจากศาลปกครองกลางไม่รับฟ้องคดี เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2564 เพราะคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม แม้ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว
แต่จากความคลุมเครือในเขตอำนาจศาลดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีบางส่วนจำนวน 9 คน ตัดสินใจถอนฟ้องจากศาลปกครองและยื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติและ ผบ.ตร. เป็นคดีใหม่ต่อศาลแพ่งในวันนี้ ซึ่งการฟ้องคดีใหม่ต้องยื่นภายใน 1 ปีนับจากวันที่เกิดเหตุตามกรอบกฎหมาย