ไม่พบผลการค้นหา
หน่วยงานรัฐบาลอินโดนีเซียที่กำกับดูแลธุรกิจสตาร์ทอัพเพิ่มความเข้มงวดกวดขัน สั่งปิดธุรกิจที่เกี่ยวกับฟินเทคทั่วประเทศมากกว่า 800 ราย เหตุพัวพันธุรกรรมผิดกฎหมาย ปล่อยกู้นอกระบบ-ทวงหนี้โหด-คิดค่าธรรมเนียมแพงเกิน

สำนักงานบริการทางการเงิน หรือ OJK หนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจสตาร์ทอัพของรัฐบาลอินโดนีเซีย เผยว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2019 เจ้าหน้าที่ได้สั่งปิดสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ 'ฟินเทค' ไปทั้งหมด 826 ราย หลังพบพฤติการณ์ละเมิดกฎหมาย ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทำให้เห็น 'ด้านมืด' ของธุรกิจฟินเทคที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งฝ่ายรัฐบาลและภาคเอกชนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

บลูมเบิร์กรายงานอ้างอิงผลสำรวจของกูเกิลและเทมาเส็ก โฮลดิงส์ กลุ่มทุนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเมินว่ามูลค่าตลาดธุรกิจออนไลน์ทั่วประเทศอินโดนีเซียจะขยายตัวไปแตะหลัก 1 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2025

ขณะที่เดอะจาการ์ตาโพสต์รายงานว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซีย มีจำนวนกว่า 171 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 64.8 ของประชากรกว่า 264 ล้านคน อ้างอิงผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อปี 2018

ด้วยเหตุนี้ อินโดนีเซียจึงกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ดึงดูดกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพให้เข้ามาลงทุน และหนึ่งในนั้น คือ ธุรกิจ 'ฟินเทค' เนื่องจากร้อยละ 90 ของประชากรอินโดนีเซียไม่มีบัตรเครดิต จึงไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านธุรกรรมต่างๆ จากสถาบันการเงินของรัฐบาลและเอกชนที่เปิดให้บริการทั่วไปได้ จึงเปิดช่องให้สตาร์ทอัพฟินเทคเข้ามารองรับความต้องการของประชากรกลุ่มนี้ ให้สามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ได้โดยไม่ต้องเปิดบัญชีธนาคาร 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฟินเทคจำนวนมากใช้วิธีคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมแพงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงาน OJK จึงร่วมมือกันสืบสวน นำไปสู่การจับกุมธุรกิจฟินเทคผิดกฎหมายซึ่งมีพฤติกรรมเอาเปรียบและละเมิดผู้ใช้บริการ

'เดดี ปราเซตโย' โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอินโดนีเซีย เปิดเผยเพิ่มเติมกับบลูมเบิร์กว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพบธุรกิจฟินเทคอีกหลายรายให้บริการกู้ยืมเงินและใช้วิธีทวงหนี้ที่เข้าข่ายข่มขู่คุกคาม จนผู้ใช้บริการหลายรายเกิดความหวาดกลัวและมีภาวะเครียดอย่างหนัก

นอกจากนี้ การสมัครขอรับเงินกู้ที่อนุมัติอย่างง่ายดาย เป็นสิ่งดึงดูดใจให้มีผู้ใช้บริการเหล่านี้เป็นจำนวนมาก แต่ผู้ประกอบการอาจจะหลอกลวงหรือบังคับให้ผู้สมัครเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลอย่างละเอียด และนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในด้านอื่นๆ โดยที่เจ้าของข้อมูลไม่ทราบ หรือไม่ได้ยินยอม

ธุรกิจฟินเทคที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากทางการอินโดนีเซีย คิดเป็นร้อยละ 42 ของธุรกิจฟินเทคที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยร้อยละ 22 ของธุรกิจที่ถูกปิดไปแล้วมีเซิร์ฟเวอร์อยู่ในอินโดนีเซีย อีกร้อยละ 15 เป็นเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในสหรัฐฯ ส่วนที่เหลืออยู่ในประเทศอื่นๆ

เจ้าหน้าที่ยังกล่าวเตือนประชาชนด้วยว่า ควรจะเลือกใช้บริการธุรกิจฟินเทคที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกกฎหมายเท่านั้น

Photo by Edi Kurniawan on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: