ไม่พบผลการค้นหา
เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยกระแสข่าวลือว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เตรียม “อำลา ครม.” ทำให้เกิดการเชื่อมโยงไปถึงกรณี ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์เฟซบุ๊กเตรียมหา “ดาวฤกษ์ดวงใหม่ ท่ามกลางท้องฟ้ามืด”

ผนวกกับ ม.จ.จุลเจิม ได้โพสต์วิจารณ์การแก้ปัญหาโควิดของรัฐบาลที่ผิดพลาดทำให้คนออกมาไล่ พร้อมกล่าวในลักษณะเปรยว่าถ้าไม่แตะเรื่องสถาบัน ตนก็จะร่วมลงถนนขับไล่ด้วย จึงทำให้เกิดการตีความไปต่างๆนาๆ รวมทั้งท่าทีของ “ชนชั้นนำไทย” บางคนที่เริ่มแสดงท่าที “เอาใจออกห่าง” จากฝั่งผู้มีอำนาจที่มีให้เห็นเนืองๆ ท่ามกลางวิกฤติศรัทธาต่อตัวผู้นำและรัฐบาล ซึ่งถูกลากยาวมาถึงกรณี “นายกฯพระราชทาน” ที่ถูกปลุกขึ้นมาในค่ำคืนเดียวกัน แต่ทั้งหมดก็ไม่เป็นไปตาม “กระแสข่าวลือ” ทั้งสิ้น

ในส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ยังคง “ซุ่มทำงาน” อยู่ที่ ทำเนียบฯ กับบ้านพักใน ร.1 ทม.รอ. ไม่ตอบโต้อะไรออกสื่อมากนัก เพราะต้อง “เคลียร์ปัญหา” ที่ค้างคาใจระหว่าง “คนกันเอง” ที่ทำงานร่วมกัน หลังเกิดปัญหาขึ้นระหว่าง กทม.ที่อยู่ภายใต้พรรคพลังประชารัฐ กับ กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้กำกับของพรรคภูมิใจไทย ผ่านสนามรบ “สงครามตัวแทน”

นั่นคือ “จุดฉีดวัคซีนสถานีบางซื่อ” หลังมีกระแสข่าวจะมีการยุบศูนย์ฉีดวัคซีนดังกล่าว ด้วยเหตุผล “ความหวาดระแวงทางการเมือง” ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เรียกคุยระหว่าง “อนุทิน ชาญวีรกูล”รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค

ผลสรุปคือไม่มีการยุบศูนย์ฉีดดังกล่าว แต่เชื่อได้ว่าปัญหาต่างๆยังคง “ค้างคาใจ” เพราะมีรายงานว่าในวงประชุมผ่าน VTC ตึงเครียดไม่น้อย จน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องคอยปรามให้ช่วยกันแก้ปัญหา

ฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ โควิด ในหลวง

ในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องหวังพึ่ง “กองหนุนสุดท้าย”

นั่นคือ “กองทัพ” ที่ผ่านมาการสั่งการเป็นไปตาม “สายบังคับบัญชา” โดย พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการผ่าน พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม เพื่อส่งไปยัง ผบ.เหล่าทัพ ในการแก้ปัญหา

เช่น การตั้ง รพ.สนาม การขนส่งผู้ป่วยโควิด การคุมแคมป์คนงาน การแจกจ่ายอาหาร เป็นต้น แต่ในภาพรวมกองทัพยังทำงานในลักษณะงานรูทีนเป็นหลัก ไม่ได้ทำงาน “เชิงรุก” เท่าที่ควร

ซึ่งที่ผ่านมากองทัพมี “ระยะห่าง” จากรัฐบาลพอสมควร ด้วย ผบ.เหล่าทัพ ชุดปัจจุบันไม่ได้เติบโตมาสายเดียวกับ “3ป.บูรพาพยัคฆ์” รวมทั้งโครงสร้างอำนาจภายในกองทัพที่เปลี่ยนไป ก็ทำให้ “กองทัพ” ถูกแยกออกจาก “การเมือง-รัฐบาล” มากขึ้น

ทำให้ไม่มีภาพ “กองทัพ” ที่ออกมา “อุ้มรัฐบาล” อย่างออกนอกหน้าเช่นในอดีต แต่ทั้งกองทัพและรัฐบาลยังคงเป็น “องคาพยพเดียวกัน” ในการกรำศึกกับการชุมนุมที่มี “ข้อเรียกร้องทะลุเพดาน” นั่นเอง.

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่หนักหน่วงมากขึ้น ทำให้ ผบ.เหล่าทัพ ออกมาแสดงบทบาทมากขึ้นเช่นกัน

ณรงค์พันธ์ กองทัพบก 92122FBB-C6C2-4934-8CAA-31BDC99EE401.jpeg

โดยเฉพาะ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ที่ซุ่มเงียบใน ทบ. มานาน ก็ออกมาลงพื้นที่ในการตรวจจุดตรวจต่างๆในกรุงเทพฯ โดยจุดตัดสำคัญ คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้เหล่าทัพนำสโมสร-อาคารอเนกประสงค์และพื้นที่หน่วยทหารทำเป็น รพ.สนาม และจุดพักคอยเพื่อส่งต่อ รพ.ต่างๆ

คำถามสำคัญ คือ เหตุใดพึ่งมาดำเนินการ เพราะควรดำเนินการนานแล้ว จึงเกิดคำถามเรื่อง “ความแอคทีฟ” และเรื่อง “ความสัมพันธ์” ระหว่างกองทัพกับรัฐบาล

นอกจากนี้ “เหล่าทัพ” ยังร่วมตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัวในชุมชน Community Isolation ในพื้นที่ กทม. เพื่อรองรับผู้ป่วยจาก รพ. ต่างๆ พร้อมตั้ง “จุดบริการประชาชน” ในรูปแบบ One Stop Service เชื่อมโยงทุกหน่วยงาน

อีกทั้งให้ทุกค่ายทหารตั้งพื้นที่พักแยกรักษาตัว Community Isolation ในการดูแลกำลังพล ครอบครัว และชุมชนรอบค่าย เพื่อช่วยลดภาระสาธารณสุขภายนอก รวมทั้งนำ “ทหารเหล่าแพทย์” แถว 2 ดูแลผู้ป่วยโควิดใน รพ.สนาม และกลุ่ม แถว 3 ที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในสายแพทย์แล้ว ช่วยฉีดวัคซีน และจัดชุดตรวจ Rapid Test เสริมทัพแพทย์กระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ เป็นต้น

ล่าสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ ผบ.ทบ. ได้สั่งการให้ปรับ รพ.ค่าย สังกัด ทบ. ทั้งหมด 37 แห่ง ทำเป็น รพ.สนาม รับผู้ป่วยโควิด 37 แห่ง รวม 3,600 เตียง

ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่าในส่วน ทบ. เริ่มมีการนำ “หน่วยทหารคอแดงเมืองกรุง” มาร่วมแก้ปัญหาโควิด

โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. มีอีกตำแหน่งสำคัญคือ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 โดยการนำหน่วยทหาร พล.1 รอ. ได้แก่ ร.1 ทม.รอ. – ร.11 ทม.รอ. รวมทั้ง พล.ม.2 รอ. เข้ามาแก้ปัญหาโควิดในพื้นที่ กทม. เช่น การตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดต่างๆ ตามนโยบายของศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) รวมทั้งการให้ “หมวดการศพ” ประจำกองทหารพลาธิการกองพล มาดำเนินการเรื่องการจัดการศพผู้เสียชีวิตจากโควิด เพื่อทำพิธีฌาปนากิจในวัดต่างๆ โดยปรับจาก “วิชาศพสนาม” มาใช้

โดย ผบ.ทบ. ย้ำว่าเพื่อไม่ให้เกิดภาพผู้เสียชีวิตตามพื้นที่สาธารณะขึ้นอีก

ในส่วน “ทหารคอแดงเสือป่า” หรือ บก.กองทัพไทย ได้แก่ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุด ในฐานะหัวหน้า ศปม. และ พล.ท.สุวิทย์ เกตุศรี ผบ.ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายสากล ก็ขยับลงพื้นที่ในนาม ศปม. อย่างมาก เช่น จุดตรวจและจุดสกัดต่างๆ การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโควิด เป็นต้น ซึ่งทั้งคู่เป็น “ทหารม้าคอแดง” ที่โยกจาก ทบ. มายัง บก.กองทัพไทย และเติบโตมาจาก พล.ม.2 รอ. ทั้งคู่ โดย พล.ท.สุวิทย์ ถูกมองว่าจะขึ้นเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ต่อจาก พล.อ.เฉลิมพล ที่จะเกษียณฯปี 2566 ด้วย

ทั้งหมดนี้จึงเป็นปรากฏการณ์ “ทหารคอแดงเมืองกรุง” ทั้งในส่วน “พล.1 รอ. - พล.ม.2 รอ.” และในฝั่ง บก.กองทัพไทย ที่ออกมาร่วมแก้ไขสถานการณ์โควิดกับรัฐบาลอย่างแข็งขันในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ประยุทธ์ ถวายพระพร ในหลวง  ประยุทธ์ ถวายพระพร ในหลวง  892D97EE-C0EF-445B-9387-819981995A65.jpeg

ในอีกด้านปรากฏการณ์เหล่านี้ “ยิ่งตอกย้ำ” ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ยังคงอยู่ในตำแหน่งนายกฯต่อไป ยังไม่มีการ “เปลี่ยนนายกฯ” เกิดขึ้น 

แต่อยู่ที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะ “ประคองตัวเอง” ไปได้ไกลขนาดไหน ด้วย “สถานการณ์โควิด” ที่หนักหน่วง

อย่างน้อยๆ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพยายาม “ลาก” ไปให้ถึงปี 2565 เพื่อไปถึงช่วงที่สถานการณ์ต่างๆคลี่คลายคง และ “ชิงความได้เปรียบ” ทางการเมืองกลับมา เมื่อถึงเวลานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จะ “ไปต่อ” หรือ “วางมือ” ต้องติดตามกันต่อไป แต่ในวันนี้ นายกฯ ยังชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นเดิม

แต่ “การเมืองไทย” กับ “ความไม่แน่นอน” ก็เป็นของคู่กัน !!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog