ไม่พบผลการค้นหา
'แอมเนสตี้-นักกิจกรรม' ยื่น 4,701 รายชื่อ แก่ 'สมศักดิ์' รมว.ยุติธรรม เรียกร้อง 'ปล่อยตัว-คืนสิทธิประกันตัว' นักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขัง

วันที่ 10 ส.ค. 2565 ที่กระทรวงยุติธรรม ถ.แจ้งวัฒนะ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และนักกิจกรรมทางการเมืองจากกลุ่มทะลุฟ้ากว่า 20 คน เดินทางมายื่นรายชื่อประชาชนในประเทศไทยที่ร่วมเรียกร้องผ่านปฏิบัติการด่วนของแอมเนสตี้ต่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัว และคืนสิทธิประกันตัวให้แก่นักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขัง 

ด้าน ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยว่า ตามที่สำนักเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนสมาชิก นักกิจกรรม และผู้สนับสนุนร่วมกันส่งจดหมายถึง สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมและยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด อีกทั้งยังกระตุ้นให้ทางรัฐบาลไทยปฏิบัติตามพันธะกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้รัฐบาลไทยต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทั้งสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ ลดการควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาให้น้อยที่สุด 

"ทางการไทยได้มีการปราบปรามอย่างกว้างขวางต่อการชุมนุมโดยสงบ และการอภิปรายทางออนไลน์ นับแต่เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปให้เป็นประชาธิปไตย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ยังใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาคลุมเครือเกี่ยวกับความมั่นคง สถาบันกษัตริย์ ความผิดด้านคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือเพื่อการปราบปราม และได้ตีความว่าการใช้สิทธิอย่างสงบเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงหรือความสงบเรียบร้อย หรือเป็นความผิดต่อสถาบันกษัตริย์ และต่อมาได้มีการดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรม ซึ่งอาจส่งผลให้พวกเขาได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต" ปิยนุช กล่าว 

ปิยนุช กล่าวต่อว่า แกนนำผู้ชุมนุมประท้วงมักถูกควบคุมตัวระหว่างรอการพิจารณาโดยพลการเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลกระทบต่อสิทธิด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของพวกเขา ปัจจุบันศาลยังได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวที่เข้มงวดมากขึ้นเท่ากับเป็นการจำกัดอย่างยิ่งต่อสิทธิมนุษยชนที่จะมีเสรีภาพในการเดินทาง การแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ รวมทั้งข้อกำหนดให้อาศัยอยู่แต่ในบ้านนานถึง 24 ชั่วโมงต่อวัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นต้องรับการรักษาพยาบาล ให้ติดกำไร EM 24 ชั่วโมงต่อวัน 

ทั้งนี้ ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย ดังต่อไปนี้ 

 1.ปล่อยตัว หรือยกเลิกข้อกล่าวหา และให้ยกเลิกเงื่อนไขประกันตัวที่เข้มงวดเกินกว่าเหตุโดยทันทีต่อบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมาย เพียงเพราะใช้สิทธิของตนโดยสงบ และให้ยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใดๆ ต่อนักกิจกรรม

 2.ในระหว่างรอปล่อยตัวบุคคลที่ตกเป็นเป้าหมายเพียงเพราะการใช้สิทธิของตนเองโดยสงบ ให้การประกันว่าบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเหมาะสม

3.แจ้งต่อเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมทั้งสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การสมาคม และการชุมนุมโดยสงบ 

ขณะที่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข กล่าวว่า ขณะนี้ศาลได้ทำหน้าที่เกินกว่าความเป็นศาล และละเมิดต่อหลักกฎหมายชัดเจน โดยอ้างว่า จะก่ออันตรายประการอื่น เมื่อไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ก็ถึงขั้นอดอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งเลวร้าย และเมื่อศาลละเมิดหลักการ ก็ทำให้เกิดการควบคุมตัวแบบอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยกำไล EM และการประชุมเอเปคที่จะถึงนี้ประเทศจะได้รับความเสียหายในฐานละเลยสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชนจะจัดประชุมคู่ขนานกับเอเปค เพื่อเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชน 

ด้าน วัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษก ศบค.ยธ. ในฐานะผู้รับมอบรายชื่อ กล่าวว่า กระทรวงยุติธรรมจะดูแลเรื่องนี้ให้เป็นไปตามกฎหมาย ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งสิทธิเสรีภาพก็เป็นอีกข้อกำหนดที่จะต้องขับเคลื่อน และมีแผนพัฒนาแห่งชาติ ซึ่งหลายๆ สิ่งที่ได้มีการเรียกร้อง กระทรวงยุติธรรมคงปฏิบัติได้ 

ส่วนเรื่องการดำเนินยกเลิกข้อหา การได้รับการประกันตัวโดยไม่เข้มงวด หรือการติดกำไล EM เรื่องนี้คงต้องประสานหลายๆ หน่วยงานที่อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม รวมถึงนายกรัฐมนตรี และขอย้ำว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยงข้องกับหน่วยงานอื่นคงต้องนัดหมายประสานงาน และนำเรียนข้อมูลให้รับทราบต่อไป 

ผู้สื่อข่าวสอบถามรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการพัฒนาระบบประเมินความเสี่ยง และการกำกับดูแลในชั้นปล่อยชั่วคราวของศาลยุติธรรม ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อ 30 ม.ย. นั้น รวมถึงนักโทษทางการเมืองด้วยหรือไม่ วัลลภ กล่าวว่า โดยหลักการทั่วไป กฎหมายก็คงไม่ได้เลือกว่าเป็นคดีไหน เพียงแต่ต้องขอดูรายละเอียดอีกที และ MOU เป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเป็นกรอบบังคับใช้ และหน่วยงานต่างๆ เข้าใจตรงกันหรือไม่ 

ส่วนกรอบระยะเวลา คงไม่ถึงหลักเดือน ซึ่งต้องรีบ เพราะเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงยุติธรรมเองไม่ได้นิ่งนอนใจ และเป็นประเด็นที่กระทบหลายภาคส่วน ซึ่งวันนี้ ตนจะทำบันทึกรายงานให้ พงษ์สวาท กายอรุณสุทธิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และส่งต่อให้ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมต่อไป 

ทั้งนี้จากการสังเกตการณ์พบว่า กลุ่มนักกิจกรรมยังได้มีการชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง และป้ายเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัว รวมถึงมีการทำโพลเพื่อสอบถามความเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ต่อข้อเรียกร้อง 3 ข้อ จากทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล