รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของอินเดียแถลงเมื่อวันเสาร์ (18 เม.ย.) ที่ผ่านมาว่า บริษัทใดก็ตามที่ตั้งอยู่หรือยู่ติดกับประเทศที่ "มีพรมแดนติดกับอินเดีย" จำเป็นต้องขออนุญาตจากรัฐบาลทุกครั้งก่อนที่จะมีการลงทุนในบริษัทสัญชาติอินเดียได้
ในแถลงการณ์ รมว.พาณิชย์ ของอินเดียกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่ามีเป้าหมายเพื่อ "ลดการฉวยโอกาสยึดครองบริษัทอินเดียอันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19"
ตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาด นักลงทุนชาวจีนจำนวนไม่น้อยเริ่มหันไปให้ความสนใจกับตลาดอินเดีย บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง เทนเซ็นต์ และ อาลีบาบา เองก็เข้าไปมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนวงการเทคโนโลยีของอินเดีย โดยตามข้อมูลจากเกทเวย์ เฮาส์ ชี้ว่าบริษัทจากจีนลงทุนไปกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าสตาร์ทอัพมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาท ของประเทศอินเดียไปแล้ว
อีกทั้ง สัปดาห์ก่อนหน้านี้ 'เฮชดีเอฟซี' บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ของอินเดียยังออกมาเปิดเผยว่าธนาคารกลางของประเทศจีน หรือ PBOC เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นน้อยครั้งจากฝั่งธนาคารกลางของจีน
ภายหลังจากที่บริษัทออกมาเปิดเผยข้อมูลการเข้าถือครองที่เพิ่มขึ้นนั้น 'ราหุล คานธี' ซึ่งเป็นสมาชิกของพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดียซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านก็ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาปกป้องบริษัทของประเทศ
ในทวิตเตอร์ส่วนตัวของนายราหุล ทวีตข้อความที่มีใจความว่า "สถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างหนักทำให้บริษัทอินเดียจำนวนมากอ่อนแอลงและกลายเป็นเหยื่อที่จะถูกยึดครองได้ รัฐบาลต้องไม่ยอมให้ความสนใจจากต่างประเทศเข้ามายึดครองบริษัทใดๆ ก็ตามของอินเดียในช่วงเวลาวิกฤตของประเทศ"
ความกังวลดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นแต่ในประเทศอินเดียเท่านั้น 'มาร์เกร็ตเธ่ เวสเตเกอร์' หัวหน้าฝ่ายการแข่งขันของสหภาพยุโรป ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิพม์เดอะไฟแนนซ์เชียลไทมส์ ในทำนองเดียวกันว่า ประเทศในสหภาพยุโรปควรเข้าซื้อหุ้นของบริษัทที่มีภาวะเสี่ยงจะต้องการเม็ดเงินลงทุนจากจีนเพื่อป้องกันการเข้ายึดครองบริษัทเช่นเดียวกัน
อ้างอิง; Nikkei Asian Review, TC, TOI