ไม่พบผลการค้นหา
เยอรมนีจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ ปิดฉากเยอรมนีภายใต้การนำของอังเกลา แมร์เคิล

เป็นครั้งแรกในรอบ 16 ปีที่เยอรมนีมีรัฐบาลกลาง-ซ้าย นำโดยนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ‘โอลาฟ ชอลซ์’ หัวหน้าพรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) ที่ชนะพรรคสหภาพคริสเตียนเดโมแครต (CDU) ของอดีตนายกฯ อังเกลา แมร์เคิล ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาไปแบบเฉียดฉิว

การจัดต้งรัฐบาลใหม่ในครั้งนี้ถูกเรียกว่า รัฐบาลผสม ‘ไฟจราจร’ หรือ Traffic Light Coalition มีที่มาจากสีแดง เหลือง เขียว ซึ่งเป็นสีประจำพรรคทั้งสามที่ครองเสียงข้างมากในสภาล่าง ได้แก่ พรรคโซเชียลเดโมแครต (SPD) พรรคประชาธิปไตยเสรี (FDP) และพรรคกรีนส์ โดยรัฐบาลชุดใหม่จะสาบานตนในช่วงต้นเดือนหน้า หลังจากที่ทุกฝ่ายให้สัตยาบันในสนธิสัญญาพันธมิตรที่ตกลงร่วมกันกว่า 177 หน้า

ในงานแถลงข่าวเปิดตัวรัฐบาลชุดใหม่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (25 พ.ย.) โอลาฟ ชอลซ์ กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่จะพยายามปรับปรุงเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปให้ทันสมัย เร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีระบบดิจิทัลในขณะที่ยังคงรักษาวินัยทางการคลังไว้

Reuters รัฐบาลชุดใหม่ เยอรมนี.JPG

โอลาฟ ชอลซ์ พูดเปรียบเปรย ‘ไฟจราจร’ กับวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลร่วมนำโดยทั้งสามพรรคมีต่อเยอรมนีไว้ว่า

"สัญญาณไฟจราจรแรกถูกสร้างขึ้นในกรุงเบอร์ลินในปี 1924 ที่ Potsdamer Platz ในขณะนั้นมันถูกสร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่ผู้คนยังไม่คุ้นเคย พวกเขาจึงถามด้วยความสงสัยว่าสิ่งนี้จะได้ผลจริงหรือ แต่วันนี้เราไม่สามารถจินตนาการถึงประเทศที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรได้ เพราะมันเป็นสัญลักษณ์ของโครงสร้างและแนวทางที่ชัดเจน ทำให้ผู้คนสามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ปณิธานของผมในฐานะนายกรัฐมนตรีคือการทำให้แน่ใจว่า พันธมิตรไฟจราจรที่จัดตั้งรัฐบาลร่วมกันในครั้งนี้ จะมีบทบาทที่สำคัญต่อประเทศเยอรมนีเช่นเดียวกัน"


เมื่อพรรคกรีนส์ดำรงตำแหน่งรมว.ต่างประเทศ จะส่งผลอย่างไรต่อไทย?

ในวันแถลงข่าว หนึ่งในคนที่ยืนขนาบข้าง โอลาฟ ชอลซ์ คือ หัวหน้าพรรคกรีนส์ ‘อันนาลีนา แบร์บอค’ ในรัฐบาลชุดใหม่นี้ เธอจะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศผู้หญิงคนแรกของเยอรมนี

Reuters รัฐบาลชุดใหม่ เยอรมนี.JPG

เป็นที่ทราบกันดีว่าพรรคกรีนส์มีจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนที่หนักแน่น ซึ่งในอนาคต รัฐบาลชุดใหม่ของเยอรมนีชุดนี้อาจจะต้องถกเถียงกันว่าจะหาสมดุลอย่างไรกับข้อเรียกร้องของพรรคกรีนส์ ที่ต้องการให้เยอรมนีมีแนวปฏิบัติที่เข้มงวดยิ่งขึ้นต่อรัสเซียและจีนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เช่น ประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวันและยูเครน ในขณะที่โอลาฟ ชอลซ์ น่าจะมีจุดยืนที่ไม่ต้องการเผชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมากับจีนและรัสเซีย

ที่ผ่านมาพรรคกรีนส์ของเยอรมนี เป็นพรรคที่ตั้งคำถามต่อสภาเยอรมัน เรื่องสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย และสถานะของกษัตริย์ไทยในแคว้นบาวาเรียมาโดยตลอด

เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ฟริตยอฟ ชมิดต์ อดีตส.ส.พรรคกรีนส์ ตั้งกระทู้ในสภาต่อ ไฮโก มาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เรื่องการเสด็จพำนักในเยอรมนีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และการกดดันให้สหภาพยุโรประงับการเปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับไทยหากรัฐบาลทหารยังคงปิดกั้นเสรีภาพของประชาชน

นอกจากนี้เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา อดีตส.ส.พรรคกรีนส์ มาร์กาเรเทอ เบาเซอ เคยกล่าวต่อสภาเยอรมนีถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทย ฮ่องกง และเมียนมา พร้อมโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ของเธอว่า

“ไม่ว่าจะในฮ่องกง ไทย หรือ เมียนมาร์ คนหนุ่มสาวยืนหยัดต่อระบอบเผด็จการ ความปรารถนาของพวกเขาที่จะมีระบอบประชาธิปไตย หลักนิติธรรม การมีส่วนร่วมทางการเมือง และการเคารพสิทธิมนุษยชน มีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง เป็นหน้าที่ของเราที่จะทำทุกอย่างในอำนาจของเราเพื่อสนับสนุนพวกเขา!”

จึงเป็นที่น่าจับตาว่า รัฐบาลของเยอรมนีในยุคหลังอังเกลา แมร์เคิล ที่มีพรรคกรีนส์เป็นรมว.ต่างประเทศ จะมีทิศทางและนโยบายด้านการต่างประเทศกับประเทศไทยอย่างไร


อ้างอิง:

https://www.reuters.com/world/europe/german-chancellor-designate-scholz-hails-groundbreaking-new-coalition-2021-11-24/

https://www.nytimes.com/2021/11/24/world/europe/germany-new-government.html

https://prachatai.com/journal/2020/10/89880

https://prachatai.com/journal/2021/01/91192

https://www.bbc.com/thai/54483049

https://apnews.com/article/business-europe-elections-germany-angela-merkel-19b55047a9ec72452788a5fffa6e0e5d