ไม่พบผลการค้นหา
"ถ้าแก้มาตรา 272 สำเร็จจะขจัดปมความขัดแย้งทางการเมืองปมหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่ถนนปรองดองของคนในชาติ กอบกู้ภาพลักษณ์ว่าประเทศมีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คืนศักดิ์ศรีและความสง่างามให้ผู้นำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป"

นพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศกล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันสามารถเป็นนายกฯต่อไปได้จนถึงปี 2568 โดยส่วนตัวมองข้ามไปสู่การเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อย่างช้าไม่เกินพฤษภาคม 2566 อำนาจก็จะกลับมาอยู่ในมือของประชาชนผ่านการกาบัตรเลือกตั้ง ตอนนี้วาระการเมืองน่าจะขยับไปสู่ประเด็นว่าประเทศไทยควรกำหนดกติการการเข้าสู่อำนาจของนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอย่างไร ตนก้าวข้ามตัวบุคคลไปสู่การมีระบบ มีกติกาที่เป็นประชาธิปไตย เป็นธรรมกับทุกพรรคการเมือง และกับทุกแคนดิเดทนายกฯ และสำคัญที่สุดคือ การเคารพประชาชน 66 ล้านคนว่าเสียงของประชาชนมีความหมาย มีส่วนกำหนดผู้จะไปเป็นฝ่ายบริหาร บทบัญญัติใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตยควรได้รับการแก้ไข โดยควรแก้ไขมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญให้เฉพาะส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นมีอำนาจโหวตนายกฯ 

"ถ้าแก้มาตรา 272 สำเร็จจะขจัดปมความขัดแย้งทางการเมืองปมหนึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเข้าสู่ถนนปรองดองของคนในชาติ กอบกู้ภาพลักษณ์ว่าประเทศมีกติกาที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น คืนศักดิ์ศรีและความสง่างามให้ผู้นำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ตนเชื่อว่าคนไทยฉลาดพอที่จะเลือกพรรคการเมืองและแคนดิเดทนายกฯ ที่มีความสามารถ ทำตามนโยบายหาเสียง และทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นได้เวลาแก้กติกาที่มีคนพูดว่าดีไซน์เพื่อพวกเราเป็นดีไซน์เพื่อคนไทยทุกคน"

ทั้งนี้ มาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปัจจุบัน กำหนดว่า 

"ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภามีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภาจัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้"