ที่ผ่านมา งบประมาณในการป้องกันชายฝั่ง เพิ่มสูงมากขึ้นทุกปี นับตั้งแต่ปี 2556 ที่รัฐบาลในยุคนั้นมีมติเพิกถอน EIA ออกจากการสร้างกำแพงกันคลื่น ทำให้งบประมาณขยับจากหลักสิบไปถึงหลักร้อยล้าน และพุ่งสูงถึง 1,261 ล้านบาทในปี 2564 ท่ามกล่างข้อถกเถียงทางวิชาการและกระแสสังคมที่ตั้งคำถามว่า งบประมาณที่ประเทศต้องสูญเสียไปมหาศาลทุกๆ ปี ในการสร้าง ‘กำแพงกันคลื่น’ แท้จริงแล้วนวัตกรรมชิ้นนี้ ส่งผลดีหรือผลร้ายกับหาดทรายกันแน่
หลังร่างงบประมาณปี 2567 ผ่านการลงมติวาระแรกด้วยเสียงเห็นด้วย 311 ต่อ 177 และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เพจ Beach For Life Thailand ได้สำรวจและรวบรวมงบประมาณโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งจากงบประมาณปี 2567 เพื่อคลี่ให้เห็นรายละเอียดโครงการต่างๆ ที่ถูกจัดสรรไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยพบว่า งบโครงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งถูกจัดสรรไปสู่ 4 หน่วยงานหลัก ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 761,604,500 บาท คือ
ภายใต้ร่างงบประมาณ 2567 พบว่า มีโครงการใหม่ของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้
กรมโยธาธิการเเละผังเมือง 2 โครงการ เป็นโครงการจ้างศึกษา คือ จ้างออกแบบเพื่อปรับปรุงฟื้นฟูบูรณะเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ระยะที่ 2 งบประมาณ 3,000,000 บาท เเละจ้างประเมินผลและติดตามผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ระยะที่ 5 งบประมาณ 3,000,000 บาท
กรมเจ้าท่า 2 โครงการ เป็นโครงการดำเนินการ คือ ค่าซ่อมแซมเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จังหวัดสงขลา งบประมาณ 7,500,000 บาท เเละค่าเสริมทรายเพื่อป้องกันการกัดเซาะบรเิวณชายหาดชะอำ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ระยะที่ 1 งบประมาณ 40,500,000 บาท
กลุ่มจังหวัด ปัตตานี 2 โครงการ เป็นโครงการดำเนินการ คือ จัดทำปะการังเทียมรูปโดม ขนาดความสูง 1.50 เมตร ฐานหกเหลี่ยมกว้าง 1.80 เมตร จำนวน 19 ช่อง งบประมาณ 20,000,000 บาท เเละปักไม้ชะลอคลื่น ระยะทางไม่น้อยกว่า 3,400 เมตร โดยใช้ไม้ไผ่ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 5 เมตร ไม่น้อยกว่า 3,400 เมตร งบประมาณ 15,730,000 บาท
กรมทรัพยากรทางทะเลเเละชายฝั่ง เป็นโครงตั้งใหม่ทั้งหมด 7 โครงการ เป็นการดำเนินงาน 2 โครงการ เเละศึกษา-บริหารจัดการ 5 โครงการ ซึ่งในการดำเนินงานในการปักไม้ไผ่ชะลอคลื่นและรั้วไม้ดักทรายไม่มีการระบุพื้นที่ดำเนินการในเล่มงบประมาณ
จากข้อมูลดังกล่าว Beach For Life ซึ่งเป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่ติดตามและขับเคลื่อนงานด้านป้องกันชายฝั่งมายาวนาน ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ 3 กรณี ดังนี้
งบประมาณโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์ (ระยะที่ 3) พื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช เทศบาลตำบลสทิงพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ความยาว 555 เมตร
โครงการนี้ตั้งงบประมาณปี 2563 - 2567 วงเงินทั้งสิ้น 76,862,000 บาท โดยขอรับงบประมาณในปี 2567 จำนวน 15,000,000 บาท ของบประมาณโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง
ปัจจุบัน โครงการนี้ศาลปกครองสงขลา ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ระงับการดำเนินโครงการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอื่น โดยศาลเห็นว่า พื้นที่โครงการมีสภาพเป็นชายหาดที่สมบูรณ์ ไม่มีการกัดเซาะชายฝั่ง ประชาชนใช้ประโยชน์พื้นที่ชายหาดในการจอดเรือและขนถ่ายอุปกรณ์ประมง อีกทั้งกรมโยธาธิการและผังเมืองไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า กำแพงกันคลื่นจะสามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้แท้จริง และได้ผลดีจริงโดยไม่สร้างความเสียหายต่อชายหาด อีกทั้งหากให้ดำเนินการแล้วเสร็จจะส่งผลกระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้
ศาลจึงมีคำสั่งระงับโครงการไว้ก่อน (คดีหมายเลขดำที่ ส.1/2563 ศาลปกครองสงขลา) ดังนั้นเมื่อศาลปกครองสงขลาได้วินิจฉัยโครงการนี้ว่าจะส่งผลกระทบต่อชุมชนและไม่สามารถป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งได้จริง และมีคำสั่งระงับ โครงการดักล่าวไว้แล้วนั้น จึงไม่มีความจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ให้แก่กรมโยธาธิการและผังเมืองอีกต่อไป และควรเรียกคืนงบประมาณในส่วนก่อนหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ของบประมาณไปก่อนแล้วด้วย เนื่องจากยังไม่มีการดำเนินโครงการแต่อย่างใด
กรณีที่ 2
งบประมาณของกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ระบุการขอรับงบประมาณเพื่อ ‘การจ้างออกแบบและศึกษาการป้องกันชายฝั่ง’ จำนวน 6 โครงการ แบ่งเป็น
โครงการผูกพันต่อเนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 จำนวน 4 โครงการ
และโครงการตั้งใหม่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 2 โครงการดังนี้
ในกรณีนี้ กลุ่ม Beach For Life ตั้งข้อสังเกตว่า โครงการว่าจ้างศึกษาและออกแบบข้างต้น ไม่ ปรากฏว่ามีการระบุพื้นที่ศึกษาและออกแบบแต่อย่างใด ระบุแต่เพียงระยะโครงการ และระบบกลุ่มหาด ซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมาก จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าเป็นการศึกษาออกแบบเพื่อการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งพื้นที่ใด ซึ่งการตั้งงบประมาณลักษณะนี้อาจเป็นการทำให้เกิดการสุ่มหาพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหรือโครงสร้างป้องกันชายฝั่งโดยไม่มีความจำเป็นเหมืออย่างที่ผ่านมาหรือไม่อย่างไร ซึ่งอาจทำ ให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ดังเช่นที่ผ่านมา
ดังนั้นเพื่อการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่ามากที่สุด เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง Beach For Life เสนอว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ควรให้หน่วยงานผู้ขอรับงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงถึงรายละเอียดโครงการทั้ง 6 โครงการดังกล่าว
กรณีที่ 3 งบประมาณกลุ่มจังหวัด (ปัตตานี) ได้ขอรับงบประมาณ 2 โครงการคือ
เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทั้งสองโครงการยังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะทำงานเพื่อพิจารณากลั่นกรองและให้ข้อเสนอแนะ ข้อคิดเห็นต่อโครงการ มาตรการ ระเบียบ หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งใน ภาพรวมและเชิงพื้นที่ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ. 2558 ก่อนที่จะเสนอโครงการไปยังสำนักงบประมาณแต่อย่างใด
Beach For Life จึงเสนอให้มีการตัดงบประมาณโครงการดังล่าว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน ของหน่วยงาน ที่กำหนดให้ปฏิบัติในการเสนอขอรับงบประมาณ
9 มกราคม 2567 กลุ่ม Beach for life เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด และมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ถึงข้อสังเกตข้างต้น และเรียกร้องให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งขอรับงบประมาณในการว่าจ้างศึกษาและออกแบบการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 6 โครงการ ดำเนินการชี้แจงและให้ข้อมูลถึงความจำเป็นและพื้นที่ในการดำเนินการศึกษาต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ทั้งนี้เพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม และแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง