ศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว คำสั่งของ ศรส.ให้เนรเทศนายสาธิต เซกัล หนึ่งในแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ออกนอกประเทศ ฐานกระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ด้าน ศรส.ยืนยันมีพยานหลักฐาน เจ้าตัวกระทำความผิดจริง
ศาลแพ่ง มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ชะลอการเนรเทศนายสาธิต เซกัล นายกสมาคมนักธุรกิจไทย-อินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ฐานเป็นบุคคลต่างด้าว โดยกระทำความผิดฝ่าฝืนพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามคำสั่งของศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. โดยศาลแพ่งนัดไต่สวนโจทก์และจำเลยในวันที่ 26 พฤษภาคมนี้
โดย พลโทภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติและกรรมการ ศรส. กล่าวว่า ศรส.น้อมรับคำสั่งศาลแพ่ง และเป็นสิทธิอุทธรณ์ตามกระบวนการยุติธรรม แต่ ศรส.ยืนยันว่าได้ดำเนินถูกต้องตามกฎหมาย และมีพยาน หลักฐาน การกระทำความผิดจริง และยอมรับว่าผลจากคำสั่งศาล ศรส.ดูแลความสงบเรียบร้อยลำบากขึ้น
ด้าน นายขาล ศรีรักษา บิดาของนายสุวรรณ ศรีรักษา ผู้เสียชีวิต และนางสุนันทา สมอาษา มารดาของนายอรรถชัย ชุมจันทร์ ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่วัดปทุมวนาราม มอบอำนาจให้นายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา
โดยนายโชคชัย กล่าวว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งในคดีชันสูตรพลิกศพแล้ว ซึ่งชี้ชัดว่าสาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ในการเข้าขอคืนพื้นที่ตามคำสั่งของรัฐบาล และศอฉ.ในขณะนั้น
สำหรับการยื่นฟ้องศาลอาญาในคดีนี้ แตกต่างจากคดีหลัก ที่อัยการได้ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ซึ่งครั้งนี้เป็นการยื่นฟ้องต่างกรรมต่างวาระ ส่วนกระบวนการ ต่องรอศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องก่อนว่าจะศาลจะประทับรับฟ้องหรือไม่
ส่วนญาติของผู้เสียชีวิตอีก 4 ศพ ที่วัดปทุมฯ บางรายยังไม่สะดวกในการร่วมยื่นฟ้องในครั้งนี้ แต่อย่างไรก็ตามญาติผู้เสียชีวิต ยังมีโอกาสยื่นฟ้องได้เพราะคดีความมีอายุถึง 20 ปี