คำผกา จัดเต็ม ! กระทรวงวัฒนธรรม กรณีประเด็นร้อน “ดอกส้มสีทอง” ด้วยการวิจารณ์ที่เผ็ดร้อน แบบที่แสบไปถึงทรวง
แทนที่ตัวแทนจากกระทรวงวัฒนธรรม จะออกมาแก้ปัญหาที่เกิดจากความกังวลของพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่ต้องอกสั่นขวัญหายว่า ลูกๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมของ “เรยา” ตัวละครจาก “ดอกส้มสีทอง” ที่มักจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวบุพการี แบบสารพัดสารพัน ตัวแทนของหน่วยงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กลับออกมาให้ความเห็น ที่ทำให้สังคมงุนงง โดยระบุว่า “เป็นเรื่องที่ลำบากมาก โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีการศึกษาน้อย ก็อาจจะสั่งสอนลูกให้มีวิจารณญาน ในการชมละครเรื่องนี้น้อย แต่ถ้าหากเป็นครอบครัวที่พ่อแม่จบระดับปริญญาตรี ก็คงจะมีปัญญาสอนลูก ลูกคงเข้าใจ ไม่ต้องทำอะไรมาก”!?
นี่เป็นเพียงทัศนะเล็ก ๆ ของผู้มีอำนาจเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ที่คราวนี้ ถึงกับทำให้ “คำผกา” อดรนทนไม่ไหว อุทิศเวลาของรายการแบบเต็มอิ่ม 30 นาที ในการจัดเต็มกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งเรื่องเก่าเล่าใหม่ “แม่ชีทศพร” ไปจนถึง “เรยา” ในฐานะปัญหาสังคม!
พร้อมกันนี้ คิดเล่นเห็นต่างกับ “คำผกา” ตอน จาก “ลัดดา” ถึง “เรยา” และ “ชั่วฟ้าดินสลาย” ยังนำบทความที่น่าสนใน จากภาพยนตร์เรื่อง “ชั่วฟ้าดินสลาย” ความเหมือนที่แตกต่างกับ “ดอกส้มสีทอง” มานำเสนอเพิ่ม ให้ได้คิดเล่น คิดเหมือน คิดต่าง เพราะแท้จริงแล้ว ปัญหา “เรยา” กลับไม่ใช่ปัญหาใหญ่ในสังคมไทย แต่กลับเป็นวิถีปฏิบัติของ “ผู้ชาย” ในฐานะผู้มีอำนาจ ทั้ง เจ้าสัวเชง จากดอกส้มสีทอง ถึง พะโป้ จากชั่วฟ้าดินสลาย นี่ต่างหากที่เป็นปัญญาใหญ่ของสังคมไทย !
(บางช่วงบางตอนจาก บทความ ต้องอยู่ใต้อำนาจ ชั่วฟ้าดินสลายโดย อัจฉรา รักยุติธรรม) http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=m1_06102010_01
ความย้อนแย้งของผู้ทรงธรรม
การกระทำของ พะโป้ มีลักษณะย้อนแย้ง (paradox) อย่างน่างุนงงสงสัย แม้แต่ ทิพย์ คนสนิทของ พะโป้ ก็คาดไม่ถึงว่าผู้ทรงศีลอย่างเขาจะเลือดเย็นได้ถึงเพียงนั้น
ฉันไม่สงสัยในความผิดหวัง ความโกรธ และความอาฆาตแค้นของ พะโป้ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีเลือดมีเนื้อ เรื่องแบบนี้หากเกิดกับใครก็ย่อมมีความรู้สึกเช่นนั้นเป็นธรรมดา และฉันก็ไม่เรียกร้องให้เขาให้อภัยหากเขาไม่อาจทำได้ แต่ที่ฉันขัดเคืองใจก็คือการที่ พะโป้ แสดงตนเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมเหนือมนุษย์ปุถุชน เขาพยายามแสดงให้เห็นว่าเขาไม่ได้ทำโทษสองคนนั้นเพราะโทสะโมหะของตน แต่เป็นการกระทำที่วางอยู่บนความชอบธรรมบางอย่าง
พะโป้ เลือกพิพากษาชะตากรรมของ ส่างหม่อง และ ยุพดี ในวันพระใหญ่ซึ่งโดยทั่วไปแล้วพุทธศาสนิกชนจะละเว้นการกระทำบาป ทุกคนรวมทั้งเขาเองยังอยู่ในชุดขาวประหนึ่งผู้ทรงศีล แทนที่จะเฆี่ยนตีหรือลงโทษด้วยความรุนแรง พะโป้ กลับใช้วิธีแบบหนามยอกเอาหนามบ่งโดยให้หลายชายและภรรยาสาวของเขาได้ครองรักร่วมกันตราบชั่วฟ้าดินสลายสมดังความต้องการของคนทั้งคู่
การกำหนดชะตาชีวิต การจองจำ และการหยิบยื่นความตายให้แก่ ส่างหม่อง และ ยุพดี ไม่เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อความชอบธรรมในการใช้อำนาจของ พะโป้ เพราะเขาเป็นคุณอาที่เลี้ยงดู ส่างหม่อง มาแต่เล็กจนโต และเป็นสามีที่ย่อมมีอำนาจในการเป็นเจ้าของ ยุพดี ตามที่เข้าใจกันโดยทั่วไป นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้กุมชะตากรรมของทุกชีวิตในอาณาจักรเล็ก ๆ แห่งนั้น เขาสร้างบารมีเสริมอำนาจของตนด้วยการวางตนอยู่ในครรลองแห่งความดี ดังนั้น จึงดูราวกับว่า พะโป้ มีความชอบธรรมมากพอในการลงทัณฑ์หญิงชั่วและชายโฉดที่ละเมิดจารีตประเพณีของสังคมและท้าทายอำนาจของเขา
การกระทำของเขาจึงเป็นการกระทำที่ถูกมองว่าผ่านการใคร่ครวญโดยชอบแล้ว
ความคลุมเครือการใช้อำนาจของผู้มีบารมี
วิธีการลงโทษที่ไม่ได้เฆี่ยนโบย วัตรปฏิบัติของเขาที่ผ่าน ๆ มา และสีหน้าท่าทีเรียบเฉยของเขาเมื่อ ส่างหม่อง มาร้องขออิสรภาพ ทำให้ผู้ชมตัดสินได้ยากกว่า พะโป้ ลงโทษชายหญิงทั้งคู่ด้วยความรักหรือความแค้น ประสงค์จะเอากันให้ตายหรือเพียงแค่สั่งสอน “เด็ก” ดื้อให้รู้จักหลาบจำ
เหตุการณ์ในเรื่องดูเสมือนหนึ่งว่า พะโป้ ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกระทำต่อ ส่างหม่อง และยุพดี
แต่การพันธนาการคนสองคนไว้ให้ปราศจากอิสรภาพก็ไม่อาจนับว่ามันไม่ใช่ความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจองจำ ยุพดี ผู้เทิดทูนเสรีภาพของความเป็นมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใด.......
Produced by VoiceTV