ฮือฮาไปทั่วโลกออนไลน์ หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอคลื่นทะเลสีฟ้า เรืองแสง ซัดเข้าชายหาดแมนลี ในซิดนีย์ แต่ก่อนที่ใครจะคิดเป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ ขอให้คิดใหม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ ที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ตามปกติทางธรรมชาติ
นี่เป็น ภาพที่ถูกโพสต์ลงในโลกออนไลน์ ถ่ายโดยนายโจเอล โคแมน นักถ่ายภาพธรรมชาติ บันทึกภาพเหตุการณ์ทะเลเรืองแสงนี้ไว้ได้ เมื่อไม่กี่วันมานี้ บนชายหาดแมนลี ชายฝั่งซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
เมื่อเกิดกระแสร่ำลือถึงความอัศจรรย์ ทำให้นักชีววิทยาทางทะเล ต้องออกมาให้ข้อมูลว่า คลื่นเรืองแสงนี้ เกิดจากแพลงก์ตอนพืช และสัตว์ขนาดเล็กที่เรียกกันว่า ไดโนแฟลกเจลเลต
เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า "ไบโอ ลูมิเนสเซนท์เบย์" ที่เกิดจาก ไดโนแฟลกเจลเลต สะสมพลังงานจากแสงอาทิตย์เอาไว้ในตอนกลางวัน และปล่อยแสงสีน้ำเงินออกมาในตอนกลางคืน และเมื่อมีการสั่นสะเทือนของน้ำก็จะเกิดแสงสีฟ้าขึ้น สวยงามอย่างที่เห็น/ โดยการเรืองแสงของแพลงตอนดังกล่าวจะอยู่ได้นานเพียงแค่ 2 ถึง 3 ชั่วโมงเท่านั้น หลังจากนั้นแสงจะค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ
จริงๆ แล้ว ทะเลเรืองแสง เคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทั้งที่ชายฝั่งทะเลคาริบเบียน ของเปอร์ริโก หรือในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เป็นที่ฮือฮา ในเกาะมัลดีฟส์ ซึ่งทุกคนทราบดีว่า มัลดีฟส์ เป็นสวรรค์ของนักท่องเที่ยว เมื่อเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ ท้องฟ้าตอนกลางคืนเป็นดาวประกอบกับทะเลสะท้อนแสงสีฟ้า ก็ยิ่งทำให้มัลดีฟส์น่าหลงใหลไม่น้อย
ไม่ต่างกับหาดแมนลี ของออสเตรเลีย ที่เห็นในภาพนี้ ที่เชื่อว่า ชายหาดที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของออสเตรเลียแห่งนี้ จะดึงดูดคนไปเยี่ยมชมอีกจำนวนมาก หลังเกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นที่ ทะเลสาบกิ๊ปส์แลนด์ รัฐวิคตอเรีย ของออสเตรเลียก่อนหน้านี้