Green Voice ประจำวันที่ 23 ธันวาคม 2557
แนวทางการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงที่เรียกว่า Zero Waste ซึ่งยึดหลักการนำขยะมารีไซเคิลนั้น อาจนำไปปฏิบัติจริงได้ไม่ยากกับบ้านพักอาศัย ซึ่งไม่ต้องคำนึงถึงรายรับ รายจ่าย และผลกำไร แต่กับร้านอาหาร ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องเตรียมวัตถุดิบจำนวนมาก แถมของบางอย่างซื้อมาเตรียมไว้แต่อาจไม่ได้ใช้ จึงทำให้แทบจะนำมาประยุกต์ใช้ไม่ได้เลย
ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ ดักกลาส แมคมาสเตอร์ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมผู้คลุกคลีอยู่ในวงการอาหารมานาน ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเปิดร้านอาหารแนว Zero Waste จนได้มีโอกาสมาเปิดร้านที่ชื่อว่า "ไซโล" ในย่านนอร์ทเลน ใจกลางเมืองไบรท์ตัน ทางชายฝั่งตอนใต้ของอังกฤษ
แมคมาสเตอร์ กล่าวว่า การมีเมนูให้เลือกเยอะๆ เป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถลดปริมาณขยะได้ เนื่องจากทางร้านต้องเตรียมวัตถุดิบสำหรับอาหารทุกเมนู ซึ่งถ้าลูกค้าไม่เลือกสั่ง ของเหล่านั้นก็จะเน่าเสียกลายเป็นขยะ และสำหรับของที่ยังไม่เน่าเสีย ก็จะถูกเก็บไว้ข้ามคืน ทำให้คุณภาพของอาหารที่ได้ไม่สดใหม่ ไม่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
ทางร้านจึงหาทางออก ด้วยการคิดเมนูอาหารให้มีเพียง 6 เมนูต่อวันเท่านั้น ซึ่งได้แก่ เมนูจานเนื้อ 1 จาน ปลา 1 จาน วีแกน หรือ มังสวิรัติแบบเคร่งครัด 1 จาน นอกนั้นเป็นเมนูจานผัก
ที่ไซโล พนักงานจะโม่แป้งสำหรับอบขนมปัง คั่วกาแฟ และหมักเหล้าเองในร้าน ตลอดจนใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในพื้นที่โดยตรง ไม่มีการซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งอาหารที่ทำจากเนื้อ จะเป็นการปรุงให้รับประทานได้ทั้งหมด ทำให้ไม่เหลือเศษอาหารเหมือนกับการปรุงแบบทั่วไป แต่ถ้ามีอาหารเหลือขึ้นมา ที่ร้านก็มีเครื่องย่อยขยะอาหาร เพื่อนำไปรีไซเคิลใช้งานเป็นปุ๋ยได้ต่อไปอีกด้วย
ขณะที่ ภาชนะที่ใช้เสิร์ฟอาหารจะเป็นภาชนะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้เช่น กัน เช่น กาแฟและเครื่องดื่มอื่นๆ จะถูกบรรจุมาในขวดแยม และอาหารจานหลักจะวางมาในจานที่ทำจากถุงพลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อลูกค้ารับบริการจากทางร้านและชำระเงินแล้ว ใบเสร็จจะถูกส่งไปทางอีเมล เพื่อเป็นการประหยัดกระดาษอีกทางหนึ่งด้วย เรียกได้ว่าทุกกระบวนการภายในร้านนี้ ผ่านการคิดคำนวณมาแล้วอย่างรอบคอบที่สุด และแน่นอนว่าต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดด้วยเช่นกัน